ผลงานกระทรวงเกษตรฯและกระทรวงพาณิชย์เข้าตานายกฯอย่างมาก เพราะตลอดปี 2563 ที่ผ่านมาการส่งออกพืชเกษตรโดยเฉพาะผลไม้โตสวนโควิด โดยบิ๊กตู่ให้เครดิต โมเดล “เกษตรผลิต-พาณิชย์ตลาด” ส่งผลให้เกิดการบูรณาการทั้งภาครัฐ และเอกชนทำให้เกิดผลตามเป้าหมาย ท่านรัฐมนตรีทั้งสองกระทรวงนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน้าบานไปตามกัน ดีใจกับเกษตรกรด้วยเพราะแสดงว่า เกษตรกรผลไม้มีรายได้ดีด้วยนั่นเอง สำหรับภาพรวมส่งออกเดือนม.ค.ขยายตัว 0.35% เป็นบวกเดือนที่ 2 สะท้อนสัญญาณดีตามเศรษฐกิจโลก คงเป้าหมายปีนี้ส่งออกสามารถโตได้ 3-4% ส่วนภาคเอกชนจี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาขาดแรงงานรองรับภาคการผลิตครึ่งปีหลังด้วย
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์โควิด19 ที่กระทบเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้ตัวเลขการส่งออกของทุกประเทศลดลง แต่ภาคการเกษตรของไทย โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้สดในปีที่ผ่านมา มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 15.4% ปริมาณ 1.64 แสนตัน มูลค่า 104,258 ล้านบาท สวนทิศทางการส่งออกในภาพรวมที่ติดลบ 6% ทั้งนี้สืบเนื่องจากคุณภาพของสินค้าเกษตรไทย ภาคเอกชนที่มีศักยภาพ และการใช้โมเดล “เกษตรผลิต-พาณิชย์ตลาด” ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ที่เป็นการปูทางเรื่องตลาดต่างประเทศให้แก่ภาคเอกชน โดยมุ่งเป้าการขยายตลาด เจาะตลาด เพิ่มช่องทางการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ให้สอดคล้องกับรสนิยมผู้บริโภค และด้านการผลิตต้องให้ตรงกับความต้องการทั้งเรื่องคุณภาพและความปลอดภัย
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จัทร์โอชา มีความพึงพอใจอย่างมากต่อผลการดำเนินการทีทั้งสองกระทรวงร่วมกันผลักดันโมเดลดังกล่าว จนเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้รายงานต่อนายกฯว่า ได้สั่งการให้ให้ทูตพาณิชย์ทั้ง 58 แห่ง ใน 43 ประเทศทั่วโลก เร่งประเมินความต้องการของตลาดและสถานการณ์การส่งออกที่จะช่วยหนุนรายได้เข้าประเทศ ตั้งเป้าหมายการส่งออกรายประเทศและรายสินค้า ต้องขยายตัว หรือเติบโตที่ 4%
พร้อมกันนี้ได้รุกตลาดอีคอมเมิร์ซ จับมือแพลตฟอร์มพันธมิตรออนไลน์ กระจายสินค้าไทยไปสู่ตลาดใหญ่ๆ สำคัญของโลก เช่น อินเดีย, สหรัฐอเมริกา และจีน ผลักดันให้ไทยให้เป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลก
ส่วนทางด้านนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทางกระทรวงฯได้ขับเคลื่อนแบบองค์รวม พัฒนาระบบผลิตจนถึงผู้บริโภคด้วยนโยบาย ”เกษตรปลอดภัย อาหารปลอดภัย”สร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภคด้วยมาตรฐานGAP GMP เป็นต้น และล่าสุดได้มีการขยายความร่วมมือกับจีน ซึ่งจะสามารถส่งออกผลไม้ไปจีนได้ไม่น้อยกว่า 7 หมื่นล้านบาท
นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำเรื่องการทำงานแบบบูรณาการ ไม่ว่าจะปัญหาเศรษฐกิจหรือปัญหาสังคม เพียงหน่วยงานเดียวหรือภาครัฐฝ่ายเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงได้สมบูรณ์ การทำงานเป็นทีมประเทศไทย รัฐ-เอกชน-ประชาชน จะทำให้ประเทศมีความเจริญก้าวหน้า โมเดล “เกษตรผลิต-พาณิชย์ตลาด” เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการทำงานอย่างบูรณาการจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ซึ่งผลประโยชน์สุดท้ายก็จะเกิดแก่ประชาชน-เกษตรกร ที่จะมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น
สำหรับภาพรวมการส่งออกมีแนวโน้มเงยหัวฟื้นตัวแน่นอน เพราะเดือนม.ค.ขยายตัว 0.35% นับเป็นบวกเดือนที่ 2 สัญญาณดีตามเศรษฐกิจโลก คงเป้าหมายปีนี้โต 3-4% ภาคเอกชนจี้รัฐบาลช่วยแก้ปัญหาขาดแรงงานรองรับภาคการผลิตครึ่งปีหลัง เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านเมียนมามีสถานการณ์ตึงเครียดส่งผลขาดแรงงานภาคการผลิตแน่นอน
น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มการส่งออกไทยเริ่มปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลก โดยการส่งออกเดือนมกราคม 2564 มีมูลค่า 19,706 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 0.35% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 โดยในปีนี้คาดเป้าหมายการส่งออกไทยอยู่ที่ 3-4% ทั้งนี้ปัจจัยบวกที่จะผลักดันการส่งออกของไทย ได้แก่
1.เศรษฐกิจและการค้าโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัว
2.ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกกลับมาสู่ขาขึ้นอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อการส่งออกกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน อาทิ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป
3.ความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากการเข้าถึงวัคซีนของประชาชนในหลายประเทศ ส่งผลต่อการฟื้นตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจการค้า และธุรกิจของประเทศคู่ค้าได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น
ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องติดตาม คือ 1. ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน ที่ยังประสบปัญหาในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 และค่าระวางเรือปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 2.ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง ตามทิศทางของสกุลเงินภูมิภาค และ 3. แนวโน้มการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวของภาคอุตสาหกรรม สืบเนื่องจากการอพยพกลับประเทศของแรงงานต่างด้าวจำนวนมากในช่วงปลายปี 2563 เป็นต้นมา โดยเฉพาะแรงงานเมียนมา
อย่างไรก็ตามสรท.ได้จัดทำข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาล ได้แก่
- ขอให้ผ่อนปรนมาตรการต่ออายุการแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทย ให้สามารถทำงานต่อเนื่องในปี 2564 เพื่อให้มีแรงงานเพียงพอต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง
2.เร่งแก้ไขปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน โดยภาครัฐต้องให้การสนับสนุนให้ผู้ส่งออกไทย ขอให้ภาครัฐเช่าเรือและสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อขนส่งตู้คอนเทนเนอร์เปล่าที่ตกค้างในต่างประเทศกลับมาให้ผู้ส่งออกไทย
3.ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ต้องเร่งรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทและใช้มาตรการทางการเงินเพื่อลดความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อไม่เป็นการซ้ำเติมการส่งออก