ดูเตร์เตขู่สหรัฐ!?! พร้อมฉีกสัญญาซ้อมรบ-ไล่ทหารมะกันออกหมดประเทศทันที ถ้าขน‘นิวเคลียร์’เข้าฟิลิปปินส์??

1908

ฮือฮากับประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตร์เต ที่ประกาศชัดถ้อยชัดคำว่าหากรายงานที่ว่า สหรัฐเตรียมประจำการอาวุธนิวเคลียร์ในฟิลิปปินส์เป็นความจริง  เขาจะยกเลิกข้อตกลงความร่วมมือทางทหารระดับทวิภาคี ที่เพิ่งต่ออายุกันเมื่อไม่นานมานี้และจะขับทหารอเมริกันออกจากประเทศทันที และย้ำว่าไม่ได้กลัวจีนโกรธแต่มันผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญของฟิลิปปินส์อย่างร้ายแรง ขณะเดียวกันหากปล่อยให้สหรัฐทำได้ตามอำเภอใจ ก็จะผิดสนธิสัญญาปลอดอาวุธนิวเคลียร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย จับตาความพยายามของสหรัฐในการหาทางติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในอาเซียน สะท้อนวาระซ่อนเร้นที่อันตรายต่ออาเซียน ในการก่อรูปสงครามตัวแทนจากความขัดแย้งในเมียนมา ประเทศไทย ฮ่องกง ไต้หวัน ที่อาจระเบิดขึ้นในจุดใดจุดหนึ่งขณะที่การยั่วยุและการเตรียมการคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 2 มี.ค.2564 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ว่า ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตร์เต แห่งฟิลิปปินส์ ระหว่างเป็นประธานรับมอบวัคซีนต้านโควิด-19 จากจีน ที่ฐานทัพอากาศในเมืองปาไซซิตี (Pasay City) ดูเตร์เต ได้ตอบคำถามสื่อมวลชนที่ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะนำอาวุธนิวเคลียร์เข้ามาประจำการในแดนตากาล็อก โดยเขายืนยันว่า 

“ผมเคยประกาศไปแล้วว่าเราจะใช้นโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระ และผมรับรองกับจีนแล้วว่าจะไม่อนุญาตให้อเมริกานำอาวุธนิวเคลียร์มาประจำการที่นี่”

ผู้นำขาโหดวัย 77 ปี ย้ำว่า ที่ทำแบบนี้ไม่ใช่เพราะกลัวจีนโกรธ หากแต่รัฐธรรมนูญฟิลิปปินส์นั้น ห้ามมิให้มีอาวุธนิวเคลียร์ในประเทศ

“เราไม่ต้องการมัน และผมขอเตือนไว้เลยนะว่า ถ้าผมได้รับข้อมูลว่ามีอาวุธนิวเคลียร์ถูกส่งมาที่นี่โดยพวกคุณ-สหรัฐฯ ผมจะไล่พวกคุณออกไป และจะยกเลิกข้อตกลง Visiting Forces Agreement (VFA) ทันที”

ข้อตกลง VFA ซึ่งทำขึ้นเมื่อปี 1999 อนุญาตให้สหรัฐฯ ส่งกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์เข้ามาทำการฝึกหรือซ้อมรบร่วมในฟิลิปปินส์ได้ โดยไม่ต้องมีการถือหนังสือเดินทางหรือขอวีซ่า

ทั้งนี้ ดูเตอร์เต ยังประกาศด้วยว่าอยากจะไปเยือนจีนในช่วงปลายปี เพื่อขอบคุณประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่บริจาควัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ โดยวัคซีนของบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค จำนวน 600,000 โดสแรกได้ถูกส่งมาถึงฟิลิปปินส์แล้วเมื่อวันที่ 28 ก.พ.2564

“จีนให้ทุกสิ่งทุกอย่างกับเรา แต่ไม่เคยขออะไรเราเลย” ดูเตอร์เต กล่าว

ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในฟิลิปปินส์ (1 มี.ค.2564) เพิ่มมาอยู่ที่ 576,352 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 12,318 ราย ตามข้อมูลจากมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์

คำประกาศของประธานาธิบดี ดูเตร์เต ยืนยันกับ สหรัฐฯที่มีข่าวว่าเตรียมประจำการอาวุธนิวเคลียร์ในฟิลิปปินส์ อาจต้องคิดใหม่ เพราะเจ้าของบ้านไม่ยินยอมพร้อมใจเขาจะยกเลิกข้อตกลงความร่วมมือทางทหารระดับทวิภาคี ที่เพิ่งต่ออายุกันเมื่อไม่นานมานี้ และจะขับไล่ทหารอเมริกันทั้งหมดออกนอกประเทศ เป็นท่าทีแข็งกร้าวล่าสุดของฟิลิปปินส์ ที่เหล่าสาวกสหรัฐเพิ่งดีใจว่า ฟิลิปปินส์กลับสู่อ้อมอกอเมริกันแล้ว สถานการณ์พลิกผัน จับตาสหรัฐจะทำอย่างไรต่อไป หลังจากระดมพันธมิตรตะวันตกเข้ามาพัวพันในพื้นที่ทะเลจีนใต้อย่างต่อเนื่อง

การประจำการอาวุธนิวเคลียร์ในฟิลิปปินส์ เป็นการดำเนินการซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญของประเทศฟิลิปปินส์อย่างร้ายแรง และท่ามกลางกระแสข่าวที่กำลังแพร่สะพัด เกี่ยวกับการที่สหรัฐอาจนำอาวุธดังกล่าวเข้ามาในฟิลิปปินส์ หลังทั้งสองประเทศเพิ่งเห็นชอบขยายระยะเวลาบังคับใช้ข้อตกลงเยี่ยมเยืยนทางทหาร ( VFA ) ออกไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน 

ทั้งนี้ ผู้นำฟิลิปปินส์กล่าวว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์ดำเนินนโยบายต่างประเทศ “อย่างเป็นอิสระ” อย่างไรก็ดี ดูเตร์เตบอกด้วยว่า เขาได้กล่าวถึงเรื่องนี้ ระหว่างสนทนากับนายหวง สี่เหลียน เอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงมะนิลา ระหว่างพิธีรับมอบวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จำนวน 600,000 โดส ของบริษัทซิโนแวค ไบโอเทค จากกรุงปักกิ่ง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 ก.พ.2564 ที่ผ่านมาด้วย  ขณะที่รัฐบาลปักกิ่งและรัฐบาลวอชิงตันยังไม่มีปฏิกิริยาอย่างเป็นทางการ ต่อการเปิดเผยดังกล่าวของดูเตร์เต

อนึ่ง ย้อนกลับไปเมื่อกลางเดือนที่แล้ว ผู้นำฟิลิปปินส์กล่าวถึงประเด็นเกี่ยวกับวีเอฟเอ ว่าเป็นความร่วมมือระดับทวิภาคี ดังนั้นเมื่อพูดถึงค่าใช้จ่าย หมายความว่า ทั้งสองประเทศต้องรับผิดชอบร่วมกัน แต่ไม่ได้กล่าวอย่างชัดเจน ว่าเขาต้องการให้สหรัฐ “จ่าย” ในรูปแบบใด  ส่วนนายเดลฟิน ลอเรนซานา รมว.กระทรวงกลาโหมของฟิลิปปินส์ กล่าวเพียงว่า รัฐบาลมะนิลาคาดหวังให้การซ้อมรบร่วมกันครั้งใหม่ เกิดขึ้นตามกำหนดการ ในช่วงฤดูร้อนปีนี้

ข่าวลือที่ค่อนข้างเป็นจริงหลุดมาจากแหล่งข่าวของสหรัฐในฟิลิปปินส์เป็นการหยั่งเชิงท่าทีของดูเตอร์เต แต่ก็รู้ผลแล้วว่า ถ้าเกิดขึ้นจริงเขาไม่ลังเลจะตอบโต้หัวชนฝา ขณะที่ความพยายามให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่ปลอดนิวเคลียร์ ดำเนินการมานานกว่าจะสำเร็จในช่วงต้นของการก่อตั้งกลุ่มอาเซียน สนธิสัญญานั้นจัดทำในกรุงเทพฯชื่อว่า สนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( Southeast Asian Nuclear-Weapon-Free Zone Treaty – SEANWFZ) หรือ สนธิสัญญากรุงเทพฯ พ.ศ. 2538 เป็นสนธิสัญญาระงับอาวุธนิวเคลียร์ระหว่าง 8 รัฐสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม สนธิสัญญาดังกล่าวเปิดให้ลงนามที่การประชุมสนธิสัญญาในกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2538 และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2540 และกำหนดให้ประเทศภาคีห้ามพัฒนา ผลิตหรือได้มาซึ่ง ครอบครองหรือควบคุมเหนืออาวุธนิวเคลียร์

เขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ดังกล่าว หมายถึงดินแดนของรัฐภาคี ตลอดจนไหล่ทวีปและเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐภาคี “ดินแดน” หมายถึงดินแดนทางบก แหล่งน้ำภายใน ทะเลอาณาเขต น่านน้ำหมู่เกาะ ก้นทะเล ตลอดจนใต้ดินดังกล่าวและน่านฟ้าเหนือดินแดนด้วย

สนธิสัญญาฯ ยังมีพิธีสาร ซึ่งมีใจความว่า รัฐอาวุธนิวเคลียร์ห้ารัฐซึ่งรับรองโดยสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ กล่าวคือ จีน สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส รัสเซียและสหราชอาณาจักร (ห้าสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ) การรับรองสนธิสัญญา และไม่มีส่วนละเมิดสนธิสัญญาโดยรัฐภาคี แต่ไม่มีรัฐอาวุธนิวเคลียร์ใดลงนามในพิธีสารนี้

รากฐานในการจัดทำสนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEANWFZ) เริ่มขึ้นตั้งแต่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 เมื่อห้ารัฐผู้ก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ประชุมกันที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย และลงนามแถลงการณ์ว่าด้วยเขตสันติภาพ เสรีภาพและความเป็นกลาง (ZOPFAN) ของอาเซียน เป้าหมายหนึ่งของอาเซียนยังเป็นการจัดทำ SEANWFZ

อย่างไรก็ตาม จากบรรยากาศทางการเมืองในเวลานั้น รวมทั้งการแข่งขันระหว่างสมาชิกและความขัดแย้งในภูมิภาค และสงครามเย็น เป็นผลให้มีความเป็นไปได้น้อยที่จะจัดทำ SEANWFZ และข้อเสนอจัดตั้งพื้นที่ปลอดนิวเคลียร์อย่างเป็นทางการได้ล่าช้ามากระทั่งคริสต์ทศวรรษ 1990 หลังสงครามเย็นสิ้นสุดไป และความขัดแย้งได้รับการตกลงกันแล้ว รัฐสมาชิกได้เริ่มความพยายามจัดตั้งเขตปลอดนิวเคลียร์อีกครั้ง หลังการเจรจาและการทำสนธิสัญญาให้แล้วเสร็จโดยคณะทำงานอาเซียน สนธิสัญญา SEANWFZ ได้ลงนามโดยหัวหน้ารัฐบาลของ 10 รัฐสมาชิกอาเซียนเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2538 สนธิสัญญามีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2540 หลังทุกประเทศให้สัตยาบัน ยกเว้นประเทศฟิลิปปินส์ ก่อนจะมามีผลใช้บังคับอย่างสมบูรณ์เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2544 หลังฟิลิปปินส์ให้สัตยาบัน ซึ่งมีผลห้ามอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดในภูมิภาค