เมียนมาเรียกทูตทั่วโลกกลับประเทศ?!? ขณะอาเซียนหวังคู่ขัดแย้งเจรจา ความรุนแรงยกระดับขั้นสูงยากถอย ส่อแตกหัก

1616

ทางการเมียนมาเรียก จนท.การทูต ที่ประจำการทั่วโลกกว่า 100 คน กลับประเทศหลังโดนทูตเมียนมาฉีกหน้า ชูสามนิ้วต้านรัฐบาลเฉพาะกาลกองทัพในที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ขณะที่นานาชาติเริ่มวิตก กรณีการปราบปรามการชุมนุมประท้วงของประชาชนดุเดือด ทำเสียชีวิตถึง 18 ราย บาดเจ็บจำนวนมาก แน่นอน สหรัฐและสหประชาชาติ แถลงประณาม ตามด้วยสิงคโปร์ และในที่สุดอาเซียนก็ต้องเรียกประชุมเพื่อหารือเรื่อง สถานการณ์เมียนมา เปิดทางคู่ขัดแย้งกองทัพและพรรคการเมืองฝ่ายซูจีเจรจา ซึ่งยากสำเร็จ  เพราะการชุมนุมยืดเยื้อมีการเคลื่อนไหวจากเครือข่ายภายนอกสนับสนุนโดยสหรัฐอย่างออกนอกหน้า สภาพเดียวกันกับที่เกิดขึ้นในฮ่องกง และกำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยด้วยอย่างเป็นกระบวนการ

สำนักข่าวอิระวดี (Irrawaddy) รายงานเมื่อ 1 มี.ค.64 อ้างเอกสารทางการของทางการเมียนมาที่หลุดออกมาสู่สาธารณะว่า รัฐบาลเฉพาะกาลเมียนมาเรียก จนท.การทูต ประจำ สอท. และ สกญ. ทั่วโลก กว่า 100 คน จาก 19 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร อิตาลี ออสเตรีย ฝรั่งเศส นอร์เวย์ เบลเยียม เซอร์เบีย บราซิล จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย กัมพูชา ฟิลิปปินส์ รวมถึงไทย กลับเมียนมา และจะโยกย้าย จนท.การทูต ประมาณ 50 คน เข้าไปทำหน้าที่แทน 

การเรียก จนท.การทูตกลับประเทศครั้งนี้มีขึ้นหลังจากเกิดกรณีอู จ่อ โมทุน ออท.เมียนมาประจำสหประชาชาติ (UN) แถลงต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) เรียกร้องให้ประชาคมโลกต่อต้านการรัฐประหารในเมียนมา และสนับสนุนคณะกรรมาธิการผู้แทนรัฐสภา (CRPH) ซึ่งเป็นกลไกรัฐสภาที่ก่อตั้งโดยสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD)

วันที่ 2 มีนาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล​ นายดอน​ ปรมัตถ์วินัย​ รองนายกรัฐมนตรี​ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ​ กล่าวถึงการประชุม​รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยมีบรูไนในฐานะประธานอาเซียนทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมในเวลา​ 15.00​ น.​ วันเดียวกัน ว่า การประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมที่มีสมาชิกอาเซียนมาเข้าร่วมครบกันครั้งแรกในปีนี้ โดยจะหารือกันถึงเรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์ในเมียนมา โดยจะพูดคุยกันในหลายแง่มุม เพราะถือว่าเป็นเรื่องสำคัญในภูมิภาค ส่งผลกระทบต่อประเทศเมียนมาเองและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ในประเทศเมียนมาขณะนี้มีหลายเรื่องมากที่บรรดาประเทศสมาชิกต้องมาร่วมกันหารือ เพราะพวกเราไม่อยากเห็นเหตุการณ์บานปลายไปมากกว่านี้ อยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในเมียนมาถอยกันคนละก้าว มิฉะนั้นจะทำให้การหาจุดบรรจบที่จะไปสู่ทางออกนั้นทำได้ยาก ดังนั้น​ ต้องขอให้มีการถอยคนละก้าวเพื่อนึกถึงประโยชน์ของประเทศและประชาชนของเมียนมาเอง รวมถึงผลประโยชน์ที่มีต่อภูมิภาคอาเซียน ต้องคิดถึงหลายมุม จะไปคิดแค่มุมใดมุมหนึ่งไม่เพียงพอ​

ฝ่ายไทยได้คุยกับทางการเมียนมาไปแล้วเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ แต่การประชุมครั้งนี้ประเทศสมาชิกมาคุยกันครบและคงจะมีการแสดงท่าทีในฐานะอาเซียนออกมา​ อย่างไรก็ตาม​ การออกมาแสดงท่าทีกดดันก็อาจจะใช้ได้ผลแค่ระดับหนึ่ง แต่ไม่ช่วยทำให้เดินไปถึงปลายทางเพื่อแก้ปัญหานี้ได้​ เพราะปลายทางของเรื่องนี้คือการที่เมียนมากลับมาสู่ความสงบ ประชาชนได้รับประโยชน์จากความสงบตรงนั้น และจะนำไปสู่ความสงบและเสถียรภาพในภูมิภาคอาเซียน

ต่อมาเป็นคิวสิงคโปร์เรียกร้องให้เมียนมาหยุดใช้ความรุนแรงและปล่อยตัวอองซานซูจีกับพวกด้วย โดยสำนักข่าว เดอะเสตรทไทมส์ (The Straits Times) รายงานอ้างนายวิเวียน บาลากริชนัน รมว.กต.สิงคโปร์ กล่าวในที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที 1 มี.ค.2564 ระบุถึงข้อเรียกร้องขอให้ทุกฝ่ายในเมียนมาหาทางออกและกลับสู่เส้นทางประชาธิปไตย ซึ่งต้องเริ่มจากการปล่อยตัวประธานาธิบดีอูวินมยิน อองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา และนักการเมืองคนอื่น ๆ พร้อมทั้งแสดงความวิตกกับการใช้ความรุนแรงต่อผู้ประท้วงในเมียนมาเมื่อ 28 ก.พ.2564 โดยการใช้อาวุธรุนแรงกับประชาชนและขอให้กองทัพเมียนมายับยั้งชั่งใจในการใช้ความรุนแรงกับประชาชน 

นอกจากนี้ นายบาลากริชนันยังย้ำว่า แม้อาเซียนยึดมั่นในหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน แต่อาเซียนสามารถมีบทบาทการเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเจรจา เพื่อทำให้สถานการณ์ในเมียนมากลับมาสู่สภาวะปกติและมีเสถียรภาพ 

UN และ EU แถลงประณามการใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมในเมียนมาอย่างพร้อมเพรียงกัน 

สนข.Reuters รายงานเมื่อ 1 มี.ค.64 ว่า นายอันโตนิอู กุแตเรซ เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) เผยแพร่แถลงการณ์ประณามกรณีกองกำลังความมั่นคงเมียนมาใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมของผู้ประท้วงในพื้นที่หลายเมืองทั่วเมียนมา เมื่อ 28 ก.พ.64 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 18 คน และบาดเจ็บกว่า 30 คน พร้อมกับเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศร่วมกันกดดันให้กองทัพเมียนมาเคารพเจตจำนงของประชาชนและยุติการปราบปรามประชาชน 

ด้านสหภาพยุโรป (EU) เน้นย้ำจุดยืนว่า EU อยู่ข้างประชาชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และจะออกมาตรการตอบโต้การใช้ความรุนแรงของเมียนมา อาทิ การอายัดทรัพย์สิน และการห้ามบุคลากรของกองทัพเมียนมาที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามประชาชนเดินทางเข้า EU ส่วนแคนาดาจะพิจารณาออกมาตรการคว่ำบาตรเมียนมาเพิ่มเติมจากกรณีดังกล่าว หลังจากที่แคนาดาได้ขึ้นบัญชีคว่ำบาตรบุคลากรของกองทัพเมียนมาแล้ว 9 คน เมื่อ 18 ก.พ.64

และแน่นอนทูตสหรัฐประจำยูเอ็นเปิดเผยว่าจะผลักดันคุยเข้มเรื่องเมียนมาอีกครั้ง เมื่อสหรัฐจะดำรงคำแหน่งเป็นประธาน คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในเดือนมีนาคมนี้

ลินดา โทมัส กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรสหรัฐประจำสหประชาชาติ ออกมาระบุว่า เธอหวังจะใช้การดำรงตำแหน่ง ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ของสหรัฐในเดือนมีนาคม เพื่อผลักดันให้มีการหารืออย่างเข้มข้นจริงจังเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา

กรีนฟิลด์บอกกับผู้สื่อข่าวว่า เธอหวังจะใช้วาระการดำรงตำแหน่งประธานเอสซีของสหรัฐ เพื่อผลักดันให้มีการหารือเรื่องเมียนมาในเร็วๆ นี้ แทนที่จะปล่อยให้ล่าช้าออกไป สหรัฐพร้อมที่จะใช้โอกาสในการกลับเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ใหม่กับยูเอ็นรวมถึงประชาคมโลก เพื่อกดดันให้กองทัพเมียนมาเปลี่ยนแปลงการดำเนินการของตนเอง และยอมคืนอำนาจให้กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย

“อย่างไรก็ดีความรุนแรงที่เราเห็นว่าเกิดขึ้นในขณะนี้ ไม่ได้บ่งชี้ว่ากองทัพพม่าพร้อมที่จะทำในสิ่งที่เราเห็นว่าเป็นเรื่องง่ายในการตัดสินใจที่จะทำ ดังนั้นเราจึงต้องเร่งสร้างแรงกดดันต่อเมียนมาเพิ่มขึ้น”กรีนฟิลด์กล่าว

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ยูเอ็นเอสซีได้ออกแถลงการณ์แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปีโดยกองทัพเมียนมา หลังการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ แต่ไม่ได้ไปไกลถึงขนาดประณามการรัฐประหารเนื่องจากโดนคัดค้านจากรัสเซียและจีน

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ( United Nations Security Council; UNSC) เป็นหนึ่งใน 6 เสาหลักของสหประชาชาติ และเป็นองค์กรในสหประชาชาติที่มีอิทธิพลรองลงมาจากสมัชชาใหญ่ เป็นองค์กรที่มีอำนาจในการเรียกระดมพลจากรัฐสมาชิกในสหประชาชาติเพื่อจัดตั้งเป็นกองกำลังรักษาสันติภาพเข้าไปปฏิบัติหน้าที่รักษาสันติภาพในประเทศเป้าหมายได้