Truthforyou

นิวยอร์กประท้วงต้านเกลียดชังคนเอเชีย-อเมริกัน!?!1 ปีคดีเพิ่ม 2,808 ราย เตือนคนเอเชียระวังตัว ความเกลียดฝังลึกยากแก้ไข

ปัญหาความเกลียดชังต่อชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย เริ่มจากความกลัวที่มีมานานและพัฒนาสูงสุดในสมัยของปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ที่โฆษณาชวนเชื่อว่า จีนเป็นต้นเหตุไวรัสโควิด-19 ระบาดทั่วโลก และตอกย้ำเรียกว่า “ไวรัสจีน”ทุกครั้งที่พูดถึงเรืองการระบาดใหญ่ ณวันนี้ บานปลายเป็นอาชญากรรมที่แพร่ระบาดทั่วสหรัฐ ที่กระทำต่อคนอเมริกันเชื้อสายเอเชีย-แปซิฟิก ปธน.โจ ไบเดนทำได้แค่ประณาม และพรรคเดโมแครตส่งผู้แทนมาเข้าร่วมติดตาม ไม่อาจคาดเดาจุดสิ้นสุดได้ว่าจะคลี่คลายเมื่อใด ทำให้ชุมชนชาวเอเชียและอเมริกันเชื้อสายเอเชีย-แปซิฟิกต้องออกมารณรงค์ให้สังคมอเมริกันตื่นรู้ และช่วยกันแก้ไขปัญหา

เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 28 ก.พ.2564 สำนักข่าวซินหัวไทยรายงานว่า ผู้คนหลากหลายเชื้อชาติจำนวนหลายร้อยคนรวมตัวกัน ณ จัตุรัสโฟลีย์ (Foley Square) ย่านแมนฮัตตันตอนล่าง นครนิวยอร์กของสหรัฐฯ เพื่อประท้วงต่อต้านความรุนแรงและอาชญากรรมที่มุ่งเป้าไปยังชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย โดยปรากฏป้ายข้อความว่า

“จงลุกขึ้นต่อต้านความเกลียดชังชาวเอเชีย เราสมควรได้รับความปลอดภัย”

ชัค ชูเมอร์ ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐฯ เกรซ เมิ่ง สมาชิกสภาคองเกรสจากพรรคเดโมแครต บิล เดอ บลาซิโอ นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก ตลอดจนผู้ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงต่อชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย ได้เข้าร่วมการประท้วงดังกล่าวด้วย

ชูเมอร์ระบุว่า “การมีอคติต่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสังคมของเราส่งผลกระทบต่อพวกเราทุกคน … เราต้องยกระดับการต่อสู้ขึ้นอีกและยืนหยัดอย่างเข้มแข็ง”

“เรารักความหลากหลาย เรารู้ว่ายิ่งผู้คนจากพื้นเพที่แตกต่างมารวมตัวกันมากเท่าใดเราก็จะยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้นเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างทางเชื้อชาติ ความเชื่อ สีผิว รสนิยม และเพศ เรารักผู้อพยพ” ชูเมอร์กล่าวเสริม

ด้านเดอบลาซิโอกระตุ้นเตือนผู้คนทำความเข้าใจความหมายของการยุติความเกลียดชังต่อชาวเอเชีย ไม่เพียงในนครนิวยอร์กแต่รวมถึงทุกพื้นที่ทั่วสหรัฐฯ พร้อมเปิดเผยว่า “ใครก็ตามที่แสดงการกระทำเกลียดชังต่อชุมชนชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียจะถูกตามตัว จับกุม และดำเนินคดี”

 

เดอบลาซิโอยังร้องขอทุกชุมชนยืนหยัดเคียงข้างชุมชนชาวเอเชีย เนื่องจาก “หากชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียถูกโจมตี พวกเราทุกคนก็มีความเสี่ยงเช่นกัน” นอกจากนั้นเมิ่งกล่าวสนับสนุนผู้คนแสดงตัวและออกความคิดเห็น ขณะประชาชนหลายคนหวาดกลัวการเดินทางออกนอกบ้าน

เลติเทีย เจมส์ อัยการสูงสุดรัฐนิวยอร์ก สนับสนุนผู้ตกเป็นเหยื่อเดินทางไปที่สำนักงานของเธอ เพื่อ “ตามตัวบุคคลที่แสดงความเกลียดชังและจัดการกับพวกเขา” “เราต้องทำให้แน่ใจว่าเราไม่ได้ต่อสู้กับการเหยียดเชื้อชาติด้วยการเหยียดเชื้อชาติมากกว่าเดิม เรากำลังต่อสู้กับการเหยียดเชื้อชาติด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน โดยไม่เคยหนุนนำให้คนแต่ละกลุ่มขัดแย้งกันเอง เพราะเราทุกคนกำลังต่อสู้กับการเหยียดเชื้อชาติไปพร้อมๆ กัน” เมิ่งกล่าว

ทั้งนี้ สมาคมทนายชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียแห่งนิวยอร์ก รายงานว่านิวยอร์กบันทึกเหตุการณ์ต่อต้านชาวเอเชียมากถึง 259 กรณี ในปี 2020 ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการคุกคามทางคำพูด ตำรวจนิวยอร์กเผย พฤติกรรมความเกลียดชังของชาวอเมริกันที่มีต่อคนเอเชียในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 1,900% ในปีที่ผ่านมา เป็นปรากฏการณ์ที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวนับตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19

ความรุนแรงยังเกิดขึ้นต่อเนื่องมายังปี 2564 ซึ่งประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้ลงนามในคำสั่งประธานาธิบดีประณามการต่อต้านเชื้อชาติชาวเอเชียหลังการขึ้นดำรงตำแหน่งในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ท่ามกลางการก่อเหตุความรุนแรงที่เกี่ยวเนื่องกับอาชญากรรมความเกลียดชังอย่างต่อเนื่องในเมืองใหญ่ทั่วประเทศ โดยมีการก่อเหตุในพื้นที่ไชนาทาวน์ของเมืองโอกแลนด์ และเบย์แอเรียร์ของนครซานฟรานซิสโกในมลรัฐแคลิฟอร์เนียเป็นจุดที่มีความรุนแรงหนักและถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการก่อเหตุของ อองตวน วัตสัน วัยรุ่นวัย 19 ปี ที่ได้วิ่งพุ่งเข้าใส่ชายชาวไทยนายวิชา รัตนภักดีวัย 84 ปีเมื่อวันที่ 30 ม.ค. ที่ผ่านมา ขณะเดินอยู่ริมฟุตบาธใกล้บ้านพักในซานฟรานซิสโกจนล้มลงกับพื้นอย่างแรง และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ได้ทำให้เกิดกระแสการเคลื่อนไหวทั้งจากภาครัฐและชุมชนคนไทยในสหรัฐฯ และทำให้ทั่วโลกหันมาสนใจปมปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับคนเชื้อสายเอเชีย 

ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่สังคมเริ่มเผชิญกับพฤติกรรมการเกลียดกลัวชาวต่างชาติ (Xenophobia) ที่เพิ่มขึ้นคืออิทธิพลจากคำพูดของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่มักเรียก “โรคโควิด-19” ต่อหน้าสาธารณะว่า “ไวรัสจีน” (The China Virus) และมักกล่าวโทษจีนว่าเป็นต้นกำเนิดของการระบาดโควิด-19 

การเกลียดชังเหยียดผิวดังกล่าวเป็นลักษณะของพฤติกรรมที่หยั่งรากลึกในประวัติศาสตร์อเมริกันมาช้านานนับตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 19 และ 20 ในการใช้ เชื้อโรค สร้างความชอบธรรมให้กับการเหยียดเชื้อชาติและการเกลียดกลัวชาวเอเชีย ซึ่งพฤติกรรมในลักษณะนี้เอง ได้สร้างแนวคิดและความเข้าใจให้กับชาวอเมริกันจำนวนมากว่า ‘ชาวเอเชียนอเมริกัน’ คือ ‘ชาวเอเชียวันยังค่ำ’ เป็นชาวเอเชียที่ต้องมาจากเอเชีย (ที่ต้องนำพาเอาเชื้อโรคเข้ามาในประเทศแน่ๆ) ไม่ใช่มนุษย์คนหนึ่งที่เกิด โต และใช้ชีวิตในประเทศสหรัฐฯ ซึ่งมีสัญชาติอเมริกันเหมือนคนอเมริกันทั่วไป

อีกด้านหนึ่ง ได้มีการรณรงค์ต่อต้านความรุนแรงและการใช้ความเกลียดชังต่อชาวเอเชียนอเมริกันและแปซิฟิก (Asian American and Pacific Islander) ซึ่งเรียกว่า “Stop AAPI Hate” ได้ก่อตั้งขึ้นในวันที่ 19 มี.ค. 2563 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของการระบาดโควิด-19 เพื่อตอบโต้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการเหยียดเชื้อชาติและความรุนแรง ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการกระจายข่าวสารถึงกรณีการทำร้ายและใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยมีสาเหตุหลักจาก โรคการเกลียดกลัวชาวต่างชาติ (Xenophobia) และพฤติกรรมการแสดงความเห็นหรือความเชื่อที่ไม่มีเหตุผล (Bigotry) ซึ่งในช่วงระหว่างวันที่ 19 มี.ค.-31 ธ.ค. 2563 มีรายงานกรณีการเหยียดเชื้อชาติต่อชาวเอเชียนอเมริกันมากถึง 2,808 ครั้ง

ก่อนหน้านี้ กลุ่มเฟสบุ๊ก Thai American Democrats ได้จัดกิจกรรม Thai Americans Against Hate เมื่อวันเสาร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2021 ที่หน้าสถานกงสุลใหญ่ ประจำนครลอส แอนเจลิส เพื่อเป็นการรวมตัวกันของชุมชนไทยและชุมชนชาวเอเชียในลอส แอนเจลิส ในการแสดงออกไม่เห็นด้วยและต่อต้านความเกลียดชังและการเหยียดเชื้อชาติเอเชียที่พบเห็นได้เกือบทุกวันทั่วสหรัฐอเมริกา

นายเจอรี ราเบิร์น หนุ่มลูกครึ่งไทยอเมริกัน นักศึกษามหาวิทยาลัยผู้ก่อตั้งกลุ่ม Thai American Democrats ได้กล่าวว่า “พวกเราจะต้องหยุดการกระทำการเกลียดชังชุมชนชาวเอเชียของเราให้ได้ และให้ชุมชนคนไทยตื่นตัวกับเหตุการณ์ลักษณะนี้ ร่วมมือกันตระหนักรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง”

Exit mobile version