ก.พาณิชย์และเอกชนฟันธง!?! ค้าชายแดน ปี’64 โต 3-6 % จี้ทูตพาณิชย์รุกค้าออนไลน์ เล็งจัดกิจกรรมส่งเสริมหนุนเต็มที่

1510

ขณะที่การเริ่มมีวัคซีน และกำลังจะฉีดวัคซีนทำให้เกิดความเชื่อมั่น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะฟื้นตัวดีขึ้น มีความต้องการบริโภคสินค้า จึงส่งผลดีต่อการค้าชายแดนของไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยคาดว่าการค้าชายแดนกับมาเลเซีย สปป.ลาว กัมพูชา และเมียนมา จะดีขึ้น ยกเว้นเมียนมาที่ต้องจับตา เพราะมีสถานการณ์ความขัดแย้ง ส่วนจีนตอนใต้ เวียดนาม และสิงคโปร์ จะดีขึ้นต่อเนื่อง ในการนี้กระทรวงพาณิชย์ร่วมเอกชน ได้ประเมินเป้าการค้าชายแดนและผ่านแดนปี 64 ว่าสามารถเติบโตได้ถึง 3-6%  หลังเศรษฐกิจฟื้นตัว เตรียมประสานผู้ว่าราชการจังหวัด พิจารณาเปิดด่านทันที หากโควิด-19 คลี่คลาย พร้อมอัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าเต็มที่ 

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้หารือร่วมกับภาคเอกชน เพื่อประเมินสถานการณ์การค้าชายแดนและผ่านแดนปี 2564 แล้ว เห็นตรงกันว่ามีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น ตามการส่งออกที่คาดว่าปีนี้จะเป็นช่วงขาขึ้น โดยประเมินว่าจะมีอัตราการขยายตัว 3-6%  หากโต 3 % จะมีมูลค่า 1,358,000 ล้านบาท แต่หากโต 6 % จะมีมูลค่า 1,398,0001.398 ล้านล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน หลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

“คาดว่า  เศรษฐกิจทั้งของไทยและเพื่อนบ้านจะฟื้นตัวดีขึ้น เพราะเริ่มมีวัคซีน และกำลังจะฉีดวัคซีน ซึ่งทำให้เกิดความเชื่อมั่น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะฟื้นตัวดีขึ้น ทำให้มีความต้องการบริโภคสินค้า จึงส่งผลดีต่อการค้าชายแดนของไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยประเมินว่า การค้าชายแดนของไทยกับมาเลเซีย สปป,ลาว กัมพูชา และเมียนมา น่าจะดีขึ้น ยกเว้นเมียนมา ที่ต้องจับตาดูในช่วงนี้ ส่วนการค้าผ่านแดนไปยังจีนตอนใต้ เวียดนาม และสิงคโปร์ น่าจะดีขึ้นต่อเนื่อง”นายกีรติกล่าว

นายกีรติ กล่าวว่า สำหรับแผนการผลักดันการค้าชายแดน กรมฯ ได้ส่งสัญญาณไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายแดน และมีด่านการค้าตั้งอยู่ ให้รีบพิจารณาเปิดด่านในทันที หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย โดยเฉพาะด่านสำคัญๆ ซึ่งอาจจะเริ่มผ่อนคลายให้เฉพาะการส่งออก นำเข้าสินค้าก่อน เพื่อให้การค้าขับเคลื่อนได้ ส่วนคนเดินทางอาจจะพิจารณาทีหลัง เพราะปัจจุบัน มีด่านที่เปิดให้บริการอยู่เพียง 39 ด่าน จาก 97 ด่านทั่วประเทศ

ส่วนกิจกรรมที่วางแผนดำเนินการเพื่อสนับสนุนการค้าชายแดน จะปรับมาใช้ช่องทางออนไลน์ โดยเดิมเคยจัดมหกรรมการค้าชายแดน นำสินค้าไทยไปจัดแสดงและจำหน่าย และเชิญผู้ซื้อผู้นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาซื้อสินค้า ก็จะปรับเป็นรูปแบบออนไลน์ และให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ หรือทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในสปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา หรือมาเลเซีย ประสานผู้ซื้อ ผู้นำเข้า ให้มาเจรจาธุรกิจแบบออนไลน์กับผู้ประกอบการของไทย

นอกจากนี้ มีแผนที่จะผลักดันสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม เช่น สินค้าที่มีแบรนด์ เข้าไปจำหน่ายให้ได้เพิ่มมากขึ้น เพราะประเทศเพื่อนบ้าน เริ่มมีกำลังซื้อสูง และต้องการสินค้าที่ดี มีคุณภาพ ส่วนสินค้าอุปโภคบริโภค ที่มีความต้องการอยู่แล้ว ก็จะผลักดันให้มีการจำหน่ายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน จะเร่งแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าที่มีอยู่ โดยกำลังพิจารณาว่าหากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น ก็จะจัดทีมลงไปในพื้นที่ชายแดน นำทีมโดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อไปดูว่ามีปัญหาอุปสรรคอะไร จะช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างไร และหากต้องประสานหน่วยงานอื่น กระทรวงอื่น ก็จะเร่งดำเนินการช่วยเหลือต่อไป รวมทั้งจะเร่งรัดให้มีการเปิดด่านหนองเอี่ยน-สตึงบท เพื่อลดความแออัดของด่านศุลกากรอรัญประเทศ

เมื่อเร็วๆนี้ ศูนย์วิจัยกสิกร ได้วิเคราะห์ด้านการพัฒนาสินค้าของไทยเพื่อการส่งออกยั่งยืนไว้ว่า สิ่งที่ต้องจับตาในระยะต่อไป เกี่ยวกับโครงสร้างการผลิตและส่งออกของไทยในปัจจุบัน ยังไม่เอื้อให้ค้าชายแดนไทยเติบโตได้อย่างมั่งคงนัก 

เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นสินค้ามีมูลค่าเพิ่มน้อยในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารและเครื่องดื่ม ขนาดตลาดมีจำกัดจึงไม่สามารถผลักดันค้าชายแดนให้เร่งตัวได้มาก ขณะที่สินค้าที่ใช้วัตถุดิบในไทยอย่างยางพารากับผลไม้เมืองร้อน ซึ่งมีศักยภาพโดดเด่นในตัวเองมีส่วนช่วยขับเคลื่อนค้าชายแดนไทยไปยังประเทศจีนและเวียดนามได้อย่างต่อเนื่องและยังคงมีช่องทางอันสดใส แต่สินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงในกลุ่มยานยนต์ เทคโนโลยีโดยเฉพาะสินค้า IT ที่อยู่ในกระแสความต้องการของตลาดโลกยังมีโอกาสเติบโตได้อย่างไม่หยุดยั้ง นับว่ามีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการค้าชายแดนของไทยนับจากนี้ไป แต่สินค้าเหล่านี้จะยังคงเป็นแรงส่งให้แก่ไทยได้อีกนานแค่ไหนนั้นคงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจลงทุนของต่างชาติว่าจะเลือกลงทุนในไทยหรือย้ายไปตั้งฐานการผลิตที่อื่น

ดังนั้น การกระตุ้นการค้าชายแดนซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของการค้าในภาพรวมของไทยก็คงต้องเริ่มจากการแก้ปัญหาโครงสร้างการผลิตของไทยให้ยกระดับไปอีกขั้น จนสินค้าไทยเกิดความโดดเด่นเป็นที่ต้องการของคู่ค้าเหนือคู่แข่งชาติอื่นๆได้