จับกัง1 หน้าบาน!?! “ม.33 เรารักกัน” ถูกใจคนมีเงินเดือน แต่แรงงานนอกระบบยังอ่อนแอ 20.4 ล้านคนต้องดูแลด้วย!

1778

นายสุชาติ ชมกลิ่นรมว.แรงงาน เป็นปลื้ม ที่มนุษย์เงินเดือนต่างถูกใจ ม.33 เรารักกัน ซึ่งลงทะเบียนเกือบครบตามเป้าหมายแล้ว อย่างไรก็ดีต้องไม่ลืมกลุ่ม แรงงานนอกระบบจำนวนกว่า 20 ล้านคนที่มี ทั้งอยู่ในระบบประกันสังคม ม.39 และ ม.40 ตลอดจนมีอยู่นอกระบบประกันสังคมอีกจำนวนมากเพราะคือกำลังสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

แรงงานนอกระบบหมายถึงกลุ่มคนที่ทำงานอิสระ ไม่ได้รับความคุ้มครองและไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระทั่วไป เช่น คนขับรถรับจ้าง ผู้ทำการเกษตร หาบเร่แผงลอย ช่างตัดผม-เสริมสวย ช่างซ่อม ขายของชำ ฯลฯ และกลุ่มที่ทำงานรับจ้าง มีรายได้ประจำ เช่นผู้รับงานไปทำที่บ้าน ผู้ทำงานนอกสถานที่ ผู้รับจ้างทำของ รับจ้างตามฤดูกาล คนรับใช้ตามบ้าน แรงงานภาคการประมง ฯลฯ

แรงงานนอกระบบ จำนวนกว่า 20.4 ล้านคน ถือเป็นกำลังแรงงานประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศ เป็นผู้มีงานทำ แต่ส่วนใหญ่มีรายได้น้อย ต้องทำงานหนัก รวมทั้งต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ เช่น ได้รับค่าตอบแทนจากการทำงานที่ต่ำ การมีงานทำที่ไม่ต่อเนื่อง ขาดหลักประกันทางสังคม ไม่มีความปลอดภัยอาชีวอนามัยในการทำงาน ดังนั้น สิ่งที่ท้าทายรัฐบาลอยู่ในวันนี้ คือ การหาวิธีแก้ไขปัญหา และการบริหารจัดการกับกลุ่มแรงงานนอกระบบที่มีจำนวนมาก ให้มีอาชีพ มีงานทำ มีทักษะฝีมือ มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น แม้จะมี ประกันสังคม ม.39 และ ม.40 รองรับแรงงานที่ออกจากการเป็นลูกจ้างมีเงินเดือนแล้วก็ตาม ยังคงมีสภาพความซับซ้อน ข้อมูลเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ก็ต้องติดตามดูแลกันต่อไป

สำหรับโครงการ “ม.33 เรารักกัน” มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเยียวยาแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของ ผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือมนุษย์เงินเดือนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) คาดว่าจะมีผู้เข้าข่ายมีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยาในครั้งนี้ 9.27 ล้านคน โดยรัฐบาลจะจ่ายเยียวยารายละ 4,000 บาท ใช้วงเงินประมาณ 37,100 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าผลการลงทะเบียนออนไลน์โครงการ ม.33 เรารักกัน ผ่านเว็บไซต์ www.ม33เรารักกัน.com ที่ได้เปิดลงทะเบียนมาตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ. ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ พบว่า มีผู้ประกันตนมาตรา 33 ใช้สิทธิ์ลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์แล้ว 7,909,258 คน ซึ่งเกือบจะถึง 8 ล้านคน หรือกว่า 90% จากผู้ประกันตนทั้งหมดที่มีสิทธิ์

นายมนัส โกศล ประธานองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวถึงโครงการ “ม.33 เรารักกัน” ว่าเป็นที่น่ายินดีที่โครงการนี้มีการเตรียมตัวมาเป็นอย่างดีของรัฐบาล สะท้อนให้เห็นว่าระบบมีความลื่นไหล โครงการนี้ถือว่าได้ประโยชน์กับผู้ประกันตนหลายกลุ่ม ซึ่งพวกเขายังไม่เคยได้รับการช่วยเหลือเยียวยามาก่อน เช่น ลูกจ้างของรัฐ พนักงานราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย

แม้ว่าเงิน 4,000 บาท จะดูเหมือนไม่มาก แต่ก็สามารถช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของคนกลุ่มนี้ได้มาก เนื่องจากเขาสามารถนำเงินที่ได้รับสัปดาห์ละ 1,000 บาท จนครบ 4,000 บาท ไปจ่ายใช้ในสิ่งของที่จำเป็นในการดำรงชีวิต

นายภาคภูมิ สุกใจ รองประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) และประธานสหภาพแรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์ กล่าวถึงโครงการ ม.33 เรารักกัน ว่า ในฐานะเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน ขอขอบคุณรัฐบาล เข้ามาแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องผู้ใช้แรงงาน โดยเฉพาะผู้ประกันตน มาตรา 33 ได้อย่างตรงจุด เงินส่วนนี้จะหมุนเวียนในครอบครัวแล้ว ยังหมุนเวียนในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งจะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจฟื้นตัวตามมาอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่า “ม.33 เรารักกัน”ยังไม่ปิดลงทะเบียน สามารถลงทะเบียนได้ถึง วันที่ 7 มี.ค.2564 เวลา 06.00-23.00 น.!!

สำหรับผู้ลงทะเบียนแล้ว สามารถเช็กสิทธิ์ได้ที่ www.ม33เรารักกัน.com ได้ในวันที่ 15-21 มี.ค. 2564 และกดยืนยันตัวตนผ่านช่องทางแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” เพื่อรอรับเงินเยียวยา โดยจะได้รับวงเงินผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ครั้งละ 1,000 บาท จนครบ 4,000 บาท ดังนี้ 

-ครั้งที่ 1 = เงินเข้าวันที่ 22 มีนาคม 2564

-ครั้งที่ 2 = เงินเข้าวันที่ 29 มีนาคม 2564

-ครั้งที่ 3 = เงินเข้าวันที่ 5 เมษายน 2564

-ครั้งที่ 4 = เงินเข้าวันที่ 12 เมษายน 2564