ทนายดอดอุทธรณ์4แกนนำแต่ก็วืดอีกไม่ได้ปล่อยตัว พบยื่นวันเดียวกันศาลให้ประกัน8กปปส.

2877

หลังจากลุ้นกันอยู่2วันในที่สุด8แกนนำกปส.ก็ได้กลับออกมาใช้ชีวิตนอกเรือนจำ ซึ่งเหตุที่ศาลให้ประกันตัวนี้เองทำให้ฝั่งแนวร่วมม็อบราษฎรออกมาโวยวายโจมตีถึงมาตรฐานของศาล หากแต่เพื่อดูข้อเท็จจริงแล้วพบว่า การยื่นประกันตัว หรือการปล่อยตัวผู้ต้องหานั้นสามารถทำได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุด!!!

จากที่เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 ภายหลังศาลอนุญาตให้ประกันตัว ปล่อยตัวชั่วคราว จำเลยทั้ง 8 ประกอบด้วย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จำเลยที่ 1, นายชุมพล จุลใส จำเลยที่ 3, นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ จำเลยที่ 4, นายอิสสระ สมชัย จำเลยที่ 5, นายถาวร เสนเนียม จำเลยที่ 7, นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ จำเลยที่ 8, นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือพุทธะอิสระ จำเลยที่ 16 และเรือตรีแซมดิน เลิศบุศย์ เมื่อช่วงเช้า

ต่อมาในสังคมโซเชียลฯโดยเฉพาะกลุ่มมวลชนที่เรียกตัวเองว่า “ราษฎร” หรือชาว 3 นิ้ว ได้หยิบยกกรณีดังกล่าวขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ โจมตีศาลทำนองว่าสองมาตรฐาน ช่วยเหลือกลุ่มกปปส. โดยอ้างว่าวันนี้เป็นวันหยุด(วันมาฆบูชา) แต่ศาลกลับเปิดทำการ

โดยกรณีดังกล่าวตรวจสอบแล้วพบว่า เป็นความเข้าใจผิดไปจากข้อเท็จจริงอย่างมาก เพราะเมื่อครั้ง นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา ได้ลงนามในประกาศ “ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการเปิดทำการศาลและพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในวันหยุดราชการ พ.ศ.2562” ตั้งแต่วันที่ 25 ธ.ค. 2562

และตามระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการเปิดทำการศาลและพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในวันหยุดราชการ พ.ศ.2562 ระบุรายละเอียดดังนี้

ประกาศระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยการเปิดทำการศาลและพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในวันหยุดราชการ พ.ศ. 2562 โดยอ้างอิงตามมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิดและก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุด แสดงว่าบุคคลใดได้ทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ และคำขอประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาต้องได้รับการพิจารณา

ประกอบกับมาตรา 87 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา, มาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499, มาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545, มาตรา 72 แห่ง พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 และมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 กำหนดให้นำตัวผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาไปศาลหรือยื่นฟ้องภายในระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องเปิดทำการวันหยุด

การเปิดทำการในวันหยุด เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้ถูกจับ หรือผู้ต้องหาให้นำตัวไปศาลโดยเร็ว และเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยให้ได้รับการพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวโดยเร็ว โดยให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเปิดทำการศาลในวันหยุดราชการ เพื่อพิจารณาคำร้องขอผัดฟ้อง ฝากขัง การรับและส่งตัวผู้ถูกจับตามหมายจับ และการพิจารณาส่งตัวผู้ต้องหาไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือติดยาเสพติด

นอกจากนี้ทีมข่าวเดอะทรูธ ยังตรวจสอบย้อนหลังไปก็พบข้อเท็จจริง อีกว่าเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ก่อนหน้านทนายกปปส.ยื่นขอประกันตัว8แกนนำนั้น ทางนายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ก็ออกมาอธิบายไว้แล้วถึงการยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว (การขอประกันตัว) คดีในศาลยุติธรรมว่า เมื่อศาลมีคำพิพากษาในคดีอาญาใดๆ แล้วถ้าคดียังไม่ถึงที่สุด จำเลยนั้นก็มีสิทธิยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวหรือขอประกันตัวได้ โดยที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2562 ศาลยุติธรรมได้เปิดให้มีการพิจารณาคำร้องที่ยื่นได้เข้ามาได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ขณะที่ปัจจุบันการยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวนั้นผู้ขอประกันสามารถสองทางคือ

1.ยื่นเอกสารคำร้องได้โดยตรงต่อศาลที่พิจารณาคดีนั้น หรือ 2.ยื่นคำร้องทางระบบออนไลน์ผ่าน “ระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม” ที่เรียกว่า ซีออส (CIOS) โดยระบบเปิดให้ยื่นได้ทั้งการยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวใหม่ต่อศาลชั้นต้น หรือการยื่นอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่ให้ปล่อยชั่วคราวต่อศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา ซึ่งการยื่นคำร้องทางระบบออนไลน์ CIOS นั้นสามารถยื่นได้ตลอด 24 ชั่วโมง และผู้ยื่นสามารถทราบคำสั่งศาล ตลอดจนดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องทางออนไลน์ได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องเดินทางไปที่ศาล

“ดังนั้น การยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวคดีอาญาต่างๆ ในศาลยุติธรรม ณ ปัจจุบัน จึงดำเนินการได้ตลอดทุกวันแบบไม่มีวันหยุด ซึ่งเป็นการยกระดับคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาและจำเลยเรื่องการขอปล่อยชั่วคราวในทุกขั้นตอนทั้งชั้นฝากขัง ชั้นพิจารณา ชั้นระหว่างอุทธรณ์ ชั้นระหว่างฎีกาและในคดีอาญาทุกประเภท” โฆษกศาลยุติธรรม กล่าว

กระนั้นทีมข่าวเดอะทรูธ ยังพบความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจซึ่งเป็นเหตุการณ์ในวันเดียวกันกับที่ศาลให้ประกัน8แกนนำกปปส. และแนวร่วมม็อบคณะราษฎรวิพากษ์วิจารณ์อ้างความเป็นสองมาตรฐานนั้น โดยทีมข่าวเดอะทรูธ พบว่า

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564  นายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในฐานะทีมทนายความแกนนำกลุ่ม “ราษฎร” ได้ยื่นคำร้องขอประกันตัว นายอานนท์ นำภา, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ซึ่งถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เนื่องจากไม่ได้รับการประกันตัว หลังถูกยื่นฟ้องคดีชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ในความผิดตาม ป.อาญา ม.112 ม.116 และข้อหาอื่น

อย่างไรก็ตามตั้งแต่เวลา 13.30 น.ที่นายนรเศรษฐ์ ยื่นขอประกันตัว 4 แกนนำกลุ่มราษฎรไปแล้วนั้น จนถึงเวลา 20.00 น.ของวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ยังไม่มีคำสั่งจากศาลลงมาแต่อย่างใด

ขณะที่ทวิตเตอร์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ก็ได้เผยแพร่ข้อมูลถึงการเดินทางไปศาลอาญาของทนายในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายต่อ4แกนนำม็อบคณะราษฎรว่า

บ่ายนี้ (26 ก.พ.) เวลา 13.30 น. ที่ศาลอาญา ทนายความเตรียมเข้ายื่นอุทธรณ์คำสั่งกรณีที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ประกันตัว 4 แกนนำราษฎรอีกครั้ง หลังศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวเป็นครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 22 ก.พ.  ทั้งสี่คนถูกคุมขังเข้าสู่วันที่ 18 แล้ว