จากกรณีที่ นายภานุพงศ์ จาดนอก และนายปกรณ์ พรชีวางกูร หรือ บุ๊งเปิดศึกกับนายสมบัติ ทองย้อย หัวหน้าการ์ดเสื้อแดง โดยการโพสต์ภาพพร้อมข้อความในลักษณะดูหมิ่น เหยียดหยามผ่านทางโซเชียลฯ
เป็นเหตุให้นายสมบัติประกาศลาขาดจากม็อบอย่างเป็นทางการ
” ในเมื่อเงียบมาหลายวันเพื่อให้ทุกอย่างเงียบสงบ แต่ถ้าไม่อยากจบ ได้ ยินดี นี่หรือคือ ม็อบปัญญาชน คนมีการศึกษา ล่าแม่มดกันแบบนี้ ระดับแกนนำลงมาเล่นกับการ์ดแก่ ๆ กระจอก ๆ ที่ไม่ได้มีบทบาทอะไรเลย เป็นเพียงแค่มวลชนคนธรรมดาคนนึง เพียงแค่ คิดต่าง เห็นต่าง กับการกระทำของม็อบ และตักเตือนด้วยความหวังดี
แล้วนี่หรือการเคารพสิทธิ์คนอื่น นี่หรือคนเท่ากัน นี่หรือที่บอกว่า เราจะส่งประชาธิปไตยที่สวยงามสู่คนรุ่นหลัง การกระทำแบบนี้มันใช่สินะ บอกเลยนะ #กูเลิกไปม็อบนี้เด็ดขาด แล้วไม่ต้องขี้นป้ายตามหากู ไม่ต้องมาท้ากูจัดม็อบ ใครอยากไปเชิญ กูไม่ไป #เลิกไปม็อบ”
อย่างไรก็ตามหากย้อนดูประวัติของนายไมค์ และนายสมบัติ จะพบว่าเส้นทางของทั้งสองนั้น ต่างมีที่มาต่างกันอย่างสิ้นเชิง
โดยสำหรับไมค์ ภานุพงศ์นั้น ปัจจุบันอายุ 24 ปี เป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ เป็นที่รู้จักกันดีในนามของนักเคลื่อนไหวทางสังคม และเป็นประธานกลุ่มเยาวชนภาคตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งมีสมาชิกเป็นเยาวชนทั้งเด็กมัธยม อาชีวะ และการศึกษานอกโรงเรียน ราว 1,500 คน ทำหน้าที่ลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาทุกรูปแบบ ตั้งแต่ปัญหาการลงโทษของครูในโรงเรียน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการเข้าไม่ถึงสวัสดิการของรัฐ
เคยทำงานจิตอาสาในนาม กลุ่มเยาวชน Youngleaders Thailand ที่ระดมวัยรุ่นมาทำงานช่วยเหลือคนยากคนจน โดยลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบปัญหายากจนจากช่วงการระบาดของโควิด-19 ให้กับคนใน อ.บ้านฉาง
เริ่มเป็นที่รู้จักจากการชูป้ายประท้วงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขณะลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์โควิด-19 ที่ จ.ระยอง เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 63 หลังจากนั้นจึงได้ถูกดึงตัวมาเป็นแกนนำม็อบคณะราษฎร
ขณะที่ นายสมบัติ ทองย้อยนั้น เป็นอดีตการ์ดแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ การ์ดเสื้อแดงฮาร์ดคอ โดยหลังจากเหตุการณ์รัฐประหาร 20 พ.ค. 2557 เป็นบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจ ถึงขั้นได้รับอนุญาตให้อยู่ดูแลใกล้ชิด แกนนำคนอยากเลือกตั้ง อย่าง นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว” นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย หรือ นายรังสิมันต์ โรม นักต่อต้าน คสช. ที่วันนี้กลายเป็นส.ส.ของพรรคก้าวไกล ตลอดจนการแสดงตัวเป็นการ์ดรักษาความปลอดภัย ในทุกกิจกรรมเคลื่อนไหวของ กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ซึ่งปัจจุบันรวมตัวในเชื่อ กลุ่มสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) และ กลุ่มเยาวชนปลดแอก ทุกเวทีเคลื่อนไหวทางการเมือง ในรูปของแฟลชม็อบ มักมีภาพของ “สมบัติ ทองย้อย” ปรากฎอยู่คู่ขนานแกนนำและเวทีการปราศรัยด้วยตลอด ด้วยข้อมูลที่ถูกระบุว่า “สมบัติ ทองย้อย” เคยเป็นอดีตการ์ด นปช. และเป็นหนึ่งทีมงานของ ” เสธ.แดง-พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล” แม้เจ้าตัวจะพยายามบอกใคร ๆ ว่าเป็นเพียงผู้สนใจทางการเมือง และมีอาชีพเป็นพนักงานขายเครื่องกรองน้ำ
เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2560 “สมบัติ ทองย้อย” ถูกเจ้าหน้าที่ทหาร เชิญตัวไปสอบถามรายละเอียด เกี่ยวกับการที่ไปปรากฎตัวร่วมกับคนเสื้อแดง ที่วัดธรรมกาย โดยเจ้าตัวปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา แต่ให้รายละเอียดว่า ไม่ได้ตั้งใจไปร่วมชุมนุม เพียงแค่ไปให้กำลังใจกับผู้ชุมนุมกับวัดธรรมกาย ในคืนวันที่ 21 ก.พ. 2560 เพียงวันเดียวที่มีการจัดพิธีสวดมนต์ในวัดธรรมกาย โดยก่อนที่จะถูกปล่อยตัว “สมบัติ ทองย้อย” ได้ลงนามในข้อตกลง ว่า ห้ามชุมนุมทางการเมืองและเดินทางออกนอกประเทศ โดยหากฝ่าฝืนอาจถูกดำเนินคดีในศาลทหารฐานฝ่าฝืนคำสั่งตาม มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เหมือนแกนนำคนเสื้อแดง และการ์ดคนสำคัญรายอื่น ๆ
จากนั้นในวันที่ 16 ก.พ. 2561 “สมบัติ ทองย้อย” กลายเป็น 1 ใน 43 รายชื่อ ถูกแจ้งข้อกล่าวหา ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุม มั่วสุมทางการเมืองเกิน 5 คน โดยทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มอบหมายให้ทาง พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารปฏิบัติการประจำกองบัญชาการกองทัพบก ปฏิบัติหน้าที่ คณะทำงานด้านกฎหมายส่วนงานการรักษาความสงบแห่งชาติ เข้าพบพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง เพื่อร้องทุกข์ ให้ดำเนินคดีกับ 7 แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม คนอยากเลือกตั้ง ในข้อหายุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 พร้อมกับผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมอีก 43 คน ซึ่งก็รวมถึง “สมบัติ ทองย้อย” อยู่ในนั้นด้วย