บารมี “คนละครึ่ง”เจ๋งจริง!?! ม็อบ3กีบยังฮิต ผลงานชิ้นโบว์แดงประยุทธ์ จุดพลุสังคมไร้เงินสดถึงชาวบ้านอย่างปัง

2263

การเมืองปี 2564 ปีนี้เป็นปีวัว แต่ไม่ใช่ “วัวเชื่อง” แต่เป็น “วัวกระทิง” พุ่งเข้าใส่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ฯเป็นระลอก อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลต้องเจอมรสุมรุมเร้าทั้งการเมือง-เศรษฐกิจ-โควิดระบาด ก็ยังต้องดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โครงการคนละครึ่งที่รัฐบาลเข็นออกมา ทำให้ชาวบ้านร้านถิ่นถูกใจไม่น้อย ดูจากความต้องการของประชาชนที่ประสบปัญหา มีคนอยากเข้าร่วมโครงการนี้ล้นหลาม ใครไม่ได้รู้สึกเสียหน้าเสียดาย  เป็นโครงการที่มีความชัดเจนและฮิตติดลมบนมาก แม้ม็อบต้านรัฐบาลทุกม็อบยังแย่งกันลงทะเบียน พ่อค้าในม็อบก็ขายดิบขายดีมี “คนละครึ่ง” อื้ออึงกันไป เพราะของเขาดีจริง!

 

“โครงการคนละครึ่ง” มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผลักดันออกมาเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ ลดค่าครองชีพและเสริมสภาพคล่องร้านค้ารายย่อย ได้รับความสนใจประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง ถึงขนาดเวลาออกไปไหนก็เจอแต่ร้านค้า ร้านอาหาร หาบเร่แผงลอย ติดป้ายว่า “รับคนละครึ่ง” เต็มไปหมด!

 

โครงการก่อนหน้านี้ เราจะใช้จ่ายผ่านกลไกชำระเงินระดับชาติ แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง”โดยจ่ายเต็ม มาคราวนี้รัฐบาลไม่ได้แจกเงินแล้ว แต่เป็นการ “ร่วมจ่าย” (Co-Pay) ระหว่างรัฐบาลกับประชาชนซึ่งลุงตู่ยอมรับแบบเหนียมๆว่า เป็นคนต้นคิดเองเสียด้วย

โครงการนี้เฟสแรกเปิดรับลงทะเบียน 10 ล้านคน แต่ละคนจะได้รับส่วนลด 50% สูงสุด 150 บาทต่อวัน และสูงสุด 3,000 บาทตลอดโครงการระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2563 ใช้งบประมาณราว 30,000 ล้านบาท และด้วยความฮิตเลยต้องต่ออายุมาตรการรอบ 2 ไปอีกเปิดให้คนพลาดลงทะเบียนเข้าร่วมเพิ่มอีก 5 ล้านคน เพิ่มเงินให้อีก เป็นคนละ 3,500 บาทระยะเวลา 3 เดือน 1 มกราคม-31 มีนาคม 2564

 

ในทางเศรษฐกิจเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายที่เกิดเงินหมุนเวียนทะลุเป้าหมาย ในทางการเมือง ที่เห็นกันทั่วคือ ทุกม็อบที่ดาหน้าประท้วงรัฐบาลลุงตู่ ไม่อาจขวางมวลชนใช้สิทธิ์คนละครึ่ง เป็นบทเรียนแก่รัฐบาลและพรรคการเมืองรู้วิธีเอาใจประชาชนให้ทั่วถึงได้อย่างแท้จริง

ทำไมโครงการคนละครึ่งถึงประสบความสำเร็จ ถึงขนาดยกให้เป็นผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาลลุงตู่ พอจะวิเคราะห์ได้ 8 ประเด็นดังนี้

  1. โครงการนี้ไม่ได้แจกเงิน แม้มองผิวเผินเหมือนจะแจก แต่แท้เป็นการแบ่งกันจ่าย เพราะประชาชนที่เข้าร่วมโครงการยังต้อง “ควักเงินตัวเอง” เติมเงินลงใน G-Wallet เพื่อให้ได้ส่วนลด ถือเป็นการกระตุ้นประชาชนให้ใช้จ่ายไปพร้อมกันด้วย
  2. โครงการนี้ให้ส่วนลดเพียงวันละ 150 บาท เพียงพอต่อการใช้จ่ายในแต่ละวัน จากปัจจุบันอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 313-336 บาทต่อวัน หากใช้ไม่หมดก็ทบไปในวงเงินรวม แล้วใช้จ่ายวันละ 150 บาทในวันถัดไป จนกว่าวงเงินจะหมด ทำให้ไปใช้ฟุ่มเฟือยไม่ได้
  3. ประชาชนรู้สึกว่าลดค่าครองชีพได้จริง ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากสภาพเศรษฐกิจซบเซา ที่เป็นผลพวงมาจากสถานการณ์โควิด-19 เพราะเมื่อร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการสแกนจ่าย ระบบจะแสดงส่วนลด 50% หรือสูงสุด 150 บาททันที

  1. โครงการนี้ไม่ได้เอื้อนายทุนใหญ่ เพราะร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการกว่า 1 ล้านร้านค้า ล้วนแล้วแต่เป็นร้านอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าโอทอป สินค้าทั่วไป รวมทั้งหาบเร่แผงลอย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายย่อย ในนามบุคคลธรรมดา
  2. ร้านค้ารายย่อยยอดขายเพิ่มขึ้น เมื่อประชาชนใช้สิทธิคนละครึ่งได้ ก็จะเกิดการกลับมาซื้อซ้ำ หรือซื้อในจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น 
  3. ประชาชนเข้าถึงอี-เพย์เมนต์มากขึ้น จากยอดผู้ใช้บริการธนาคารบนโทรศัพท์มือถือ (Mobile Banking) ที่เจ้าตลาดมีจำนวนลูกค้าใกล้จะถึง 30 ล้านราย 

  1. ผู้ใช้งานส่วนใหญ่คือกลุ่มคนวัยทำงาน หากพิจารณาถึงสัดส่วนอายุของผู้ใช้งานในโครงการคนละครึ่ง พบว่าช่วงอายุ 31-45 ปี ใช้งานมากที่สุดถึง 39% ถือเป็นช่วงวัยทำงาน กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว และรู้จักใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน
  2. การประชาสัมพันธ์และการบอกต่อผ่านโซเชียลฯ ตลอดจนธนาคารกรุงไทย ส่งพนักงานลงพื้นที่ไปประชาสัมพันธ์ ทำสื่อโปรโมตร้านค้ารูปแบบต่างๆ ทั้งสติกเกอร์ ป้ายตั้งโต๊ะ รวมทั้งเชิญชวนลงทะเบียนร้านค้าตามตลาดและชุมชนต่างๆาอย่างทั่วถึง และต่อเนื่อง

สุดท้าย “ร้านค้าคนละครึ่ง” อาจจะเป็นผู้ผลักดันสังคมไร้เงินสด สร้าง “ระบบนิเวศทางเศรษฐกิจแบบดิจิทัล” ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยได้อย่างแท้จริงในอนาคตอันใกล้