สภาพัฒน์ฟันธงเศรษฐกิจไทยฟื้น!?!ปี’64 จีดีพีขยายตัว 3.5% ชงรัฐฯ 9 วิธีหนีกับดักเศรษฐกิจถดถอย ไม่หวั่นแม้โควิดยังอยู่

1866

สศช.คาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 64 ที่กลับมาขยายตัวในระดับ 2-3.5% สะท้อนถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างค่อยเป็นค่อยไปและยังไม่กลับสู่ศักยภาพเดิมของเศรษฐกิจก่อนการระบาดไวรัสโควิด-19  และการฟื้นตัวท่ามกลางความไม่แน่นอนยังมีอีก 9 ปัจจัยที่ สศช.แนะให้รัฐบาลให้ความสำคัญเพื่อหลุดพ้นกับดักเศรษฐกิจที่อาจทำให้ การฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยรวมเชื่องช้า

ว้นที่ 20 ก.พ.2564 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม (สศช.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2564 มีแนวโน้มฟื้นตัวหลังจากปี 2563 แม้จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา  จนเศรษฐกิจหดตัว 6.1% สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม (สศช.) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะขยายตัวได้ที่ประมาณ 2.5 – 3.5% มีค่ากลางอยู่ที่ 3% 

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่กลับมาขยายตัวในระดับ 3% สะท้อนถึงการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่กลับเข้าสู่ “การเติบโตตามศักยภาพ” ที่แท้จริง รวมทั้งต้องเผชิญความไม่แน่นอนอยู่มากทั้งจากปัจจัยที่เป็นความเสี่ยงและข้อจำกัดทั้งภายนอกและภายในประเทศ ทั้งนี้ สศช.มองว่าในปี 2564 มี 9 ประเด็นสำคัญที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญในเชิงการบริหารเศรษฐกิจมหภาคได้แก่ 

1.การควบคุมการแพร่ ระบาดและการป้องกันการกลับมาระบาดรุนแรงภายในประเทศเพื่อให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดลงและอยู่ในวงจำกัด โดยต้องดำเนินการตามมาตรการควบคุม และป้องกันการระบาดของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง และจัดหาและบริหารจัดการวัคซีนให้ครอบคลุมทั่วถึง และเพียงพอต่อการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่อย่างรวดเร็วและจัดลำดับความสำคัญ โดยคำนึงถึงความจำเป็นเร่งด่วน ในการฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญและการรักษาความต่อเนื่องของการผลิตในพื้นที่ อุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ ควบคู่ไปกับการจัดลำดับความสำคัญตามหลักการทางสาธารณสุข 

2.การรักษาบรรยากาศทางการเมืองภายในประเทศ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจและเป็นอุปสรรคต่อบรรยากาศความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในประเทศและการลงทุนในประเทศ 

3.การดูแลภาคเศรษฐกิจที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว โดยเฉพาะ ภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่องซึ่งการฟื้นตัวยังมีข้อจำกัดจากมาตรการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศ รวมทั้งการพิจารณามาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ยังประสบปัญหาสภาพคล่องและภาระหนี้สินเพิ่มเติม

ทั้งนี้ควรให้ความสำคัญกับการเร่งรัดติดตามมาตรการต่างๆทั้งด้านการเงินการคลังที่ได้ดำเนินการไปก่อนหน้าให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายแท้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการพิจารณามาตรการเพิ่มเติมและปรับเปลี่ยนมาตรการเดิมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันมากขึ้น 

รวมถึงพิจารณามาตรการทางการเงินเพิ่มเติมแก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวกับธุรกิจโรงแรม ควบคู่กับการรณรงค์ให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น การพิจารณามาตรการช่วยเหลือแรงงาน โดยเฉพะากลุ่มเอสเอ็มอี เน้นมาตรการส่งเสริมการรักษาระดับการจ้างงาน ยกระดับและปรับทักษะแรงงานให้มากขึ้น 

4.การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ โดยเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2564 ให้ไม่ต่ำกว่า 93.5% การเบิกจ่ายงบเหลือ่มปีให้ไม่น้อยกว่า 85% การเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจไม่น้อยกว่า 70% และใช้จ่ายเงินกู้ตามพ.ร.ก.1 ล้านล้านบาทให้ได้ไม่น้อยกว่า 80% ภายในปีงบประมาณ 2564 

5.การขับเคลื่อนการส่งออก สินค้าเพื่อสร้างรายได้เงินตราต่างประเทศ โดย โดยการขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่ได้รับประโยชน์ จากการระบาดของโรค การสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของสินค้าไทยควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการ ป้องกันการระบาดของโรคในพื้นที่ฐานการผลิตส าคัญอย่างเข้มงวด การขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและ การค้าภายใต้กรอบความร่วมมือที่สำคัญ การให้ความสำคัญกับข้อตกลงระหว่างประเทศที่สำคัญ ๆ ที่อาจถูกหยิบยกเป็นเครื่องมือสำหรับการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้า การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้า การลดต้นทุนการผลิตสินค้าที่สำคัญ ๆ เพื่อลดแรงกดดันจากการแข็งค่าของเงินบาท และการป้องกัน ความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงิน

6.การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยให้ความสำคัญกับ การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2561 – 2563 ให้เกิดการลงทุนจริง การแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ การดำเนินมาตรการ ส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกและอำนวยความสะดวกสำหรับนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย การขับเคลื่อนการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และการขับเคลื่อนมาตรการสร้างศักยภาพ การขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง 

7.การเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวและบริการเพื่อให้ภาคท่องเที่ยวสามารถมีความพร้อมในการรองรับการท่องเที่ยวได้ทันทีที่มีการกระจายวัคซีนในประเทศ 

 

8.การเตรียมมาตรการรองรับความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้งและการดูแลรายได้เกษตรกรโดยต้องติดตามสถานการณ์ภัยแล้งอย่างใกล้ชิดทั้งในและนอกประเทศอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งการดูแลป้องกัน และบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำเพื่อการเกษตร สนับสนุนการผลิตภาคเกษตรที่ใช้น้ำน้อย เป็นต้น 

9.การติดตามและเตรียมการรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก ที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์สูงและอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติมควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจด้วย