ปชช.พม่าถูกบังคับเลือก?!?ซูจี-ทหาร-ชาติพันธ์ุหรือสหรัฐ-ตะวันตก ใครยอมนักล่าอาณานิคมยุคใหม่ฉีกพม่าแหลกเป็นเสี่ยงๆ

2581

ทำไมเมียนมาจึงเป็นที่ปรารถนาของสหรัฐและตะวันตกยิ่งนัก ก็เพราะที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศเมียนมา อยู่บนรอยเลื่อนของเปลือกโลกสองเส้นด้วยกัน คือเป็นเส้นกากบาททั้งแนวตั้งและแนวนอน โดยทั้งสองเส้นจะตัดผ่านกันที่รัฐมันฑะเลย์ ทำให้ประเทศเมียนมามีทรัพยากรธรรมชาติที่ค่อนข้างจะอุดมสมบูรณ์มากๆ  ใต้พิภพจะมีทั้งอัญมณีอันล้ำค่ามากมาย บนดินมีพืชพันธุ์ธัญญาหารอุดม ในน้ำมีอาหารทะเลสินแร่ที่รอการขุดค้นมหาศาล ภายใต้ข้ออ้างสิทธิมนุษยชนและเสรีประชาธิปไตย สหรัฐและตะวันตกจึงใช้อองซาน ซูจีเป็นเครื่องหมายการค้า หมายคว่ำทหารพม่าเพื่อเปิดทางล้วงตับทรัพยากรอย่างสะดวกสบาย

มาดูตัวอย่างว่าเมียนมาอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรเพียงใด?

ถ่านหิน ก็จะมีมากที่รัฐสกาย ทางฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศเมียนมา ถ่านหินที่นั่นอุดมสมบูรณ์มาก แค่ตักหน้าดิน ก็สามารถวัดอัตราแคลลอรี่ได้สูงถึง 400 แคลลอรี่ ซึ่งถือว่าสูงมาก ต่างจากที่ขุดกันในประเทศจีน ที่มีแคลลอรี่ต่ำกว่า ที่รัฐสกายจึงมีทั้งถ่านหินและอำพันสีเหลืองมากมาย

พลอยสีต่างๆ เช่นทับทิม ก็จะมีอยู่ในรัฐฉานที่เมืองสู้ และเมืองก๊ก ในยุคก่อนมีการเลือกตั้งทางรัฐบาลทหารพม่าได้เอาที่ดินในเมืองสู้ออกมาให้ประชาชนทั่วไปประมูลเพื่อขุดพลอยทับทิมกัน แต่หลังเลือกตั้งได้มีการเปิดเสรีจากต่างชาติมาลงทุนประมูลสิทธิขุดพลอยทำเหมืองกันอย่างคึกคัก

หยก ที่เมียนมาถือเป็นแหล่งผลิตหยกชื่อดังของโลกแหล่งสำคัญอยู่ที่แถบตะวันตกของรัฐกะฉิ่นค่อนๆเยื้องลงมาทางรัฐสะกาย ที่นี่มีบ่อหรือภูเขาหยกมากมายแต่จะตกอยู่ในมือของบริษัทยักษ์ใหญ่สี่ห้าบริษัท หลังจากขุดเสร็จส่วนหนึ่งก็จะส่งเอาหินหยก หรือหยกดิบล่องมาทางแม่น้ำอิยะวดี มาที่เมืองมัณฑะเลย์และย่างกุ้ง 

ทองคำ อุตสาหกรรมเหมืองทองแหล่งใหญ่ในรัฐฉาน -ท่าขี้เหล็ก สัมปทานแก่บริษัท Access Asia Mining(AAM) ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจและพัฒนาแหล่งแร่ทองคำ จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นในสิงคโปร์ เมื่อเดือนม.ค. 2015 มีผู้บริหารเป็นชาวออสเตรเลีย ที่จะเข้ามาสำรวจแหล่งทองคำครอบคลุมพื้นที่กว้างถึง 145,000 เอเคอร์ (ประมาณ 3.7 แสนไร่) ได้รับอนุญาตพัฒนาแหล่งทองคำ 4 โครงการ ประกอบด้วย 1. โครงการในเขตสะกาย ครอบคลุมพื้นที่สำรวจ 800 ตารางกิโลเมตร 2. โครงการในภาคตะวันออกของรัฐฉาน ครอบคลุมพื้นที่ 1,500 ตารางกิโลเมตร 3. โครงการในเขตมัณฑะเลย์ ครอบคลุมพื้นที่ 1,300 ตารางกิโลเมตร 4. โครงการในเขตพะโค ครอบคลุมพื้นที่ 2,000 ตารางกิโลเมตร 

นอกจากนี้ ป่าไม้ พืชพรรณสมุนไพรที่ต้องใช้ในการผลิตยารักษาโรคที่กำลังเป็นที่ต้องการอย่างสูงในยุคที่โลกถูกคุกคามด้วยไวรัสโควิด-19 สินในน้ำทั้งสาหร่ายอาหารทะเลที่ยังอุดมสมบูรณ์ บ่อน้ำมันและก๊าซในทะเลเป็นต้น เหล่านี้เป็นเสมือนขุมทรัพย์สุดขอบฟ้าที่สหรัฐและชาติตะวันตกคิดคำณวนแล้วว่าคุ้มที่จะมาแย่งยื้อ

มาดูเงื่อนไขภายในของเมียนมา มีความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ยาวนานและยากแก้ไข เพราะไม่มีสถาบันชาติที่หลอมรวมความรักและความไว้วางใจอย่างถึงที่สุดแก่ประชาชนเมียนมา นับตั้งแต่อยู่ภายใต้การเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษสถาบันกษัตริย์ของเมียนมาได้ถูกทำลายลง

การทำความเข้าใจและวิเคราะห์สถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเมียนมา จึงไม่อาจละเลยความเปราะบางในความสัมพันธ์อันหลากหลายมิติ  โดยเฉพาะความขัดแย้งทางศาสนาและชาติพันธุ์ซึ่งปะทุขึ้นเป็นระยะได้

ทางตอนเหนือของพม่า มักมีการปะทะกันระหว่างกองกำลังผสมกลุ่มชาติพันธุ์ 4 กลุ่ม (คะฉิ่น อาระกัน ตะอั้ง และโกกั้ง) กับกองทัพและตำรวจของพม่า บนเส้นทางเศรษฐกิจหลักเชื่อมโยงกับประเทศจีน ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ประชาชนบางส่วนต้องอพยพไปลี้ภัยในฝั่งประเทศจีน กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก จนทางการจีนต้องออกมาเรียกร้องให้หาทางแก้ปัญหา รวมถึงเสนอตัวเข้าคลี่คลายปัญหาดังกล่าวอยู่เนืองๆ

และในวันนี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่สถานการณ์ในเมียนมาเดือดระอุเข้าสู่ระยะอันตรายของการเผชิญหน้า  ทางการเมียนมาภายใต้กองทัพหนุน ต้องเจอศึกหนักที่คุกคามจากภายนอก โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นหัวโจกอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง เพราะเลือกที่จะแตกหักกับรัฐบาลพลเรือนที่สหรัฐและตะวันตกอุ้มชู

มาดูปัจจัยภายในของเมียนมานอกจาก การจัดสรรทรัพยากร ที่ตะวันตกไม่เห็นชอบเพราะเกรงจะให้กับฝ่ายตรงข้าม คือจีนและรัสเซียมากกว่าฝั่งสหรัฐและพันธมิตรตะวันตกแล้ว ยังมีปัจจัยซับซ้อนที่ผลักดันให้ความขัดแย้งมีแนวโน้มระเบิดออกมาคือ

  1. ความขัดแย้งในฐานะมรดกอาณานิคม
  2. ความขัดแย้งในฐานะส่วนหนึ่งของวงจรสันติภาพในพม่า
  3. ความขัดแย้งกับการเปิดพื้นที่สำหรับ Islamic Movement การจัดการปัญหาโรฮิงญา และ
  4. การจัดระเบียบชายแดนกับความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในพม่า

ปัญหาเรื่องชาวมุสลิมโรฮิงญาในพม่านั้นเป็นเรื่องเปราะบาง และสหรัฐใช้ได้ผลในการแบ่งแยกแล้วปกครอง จนถึงขั้นทำลายล้างมาแล้วในภูมิภาคตะวันออกกลาง  ตามมุมมองของชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในส่วนอื่นๆของโลกถือว่าปัญหาโรฮิงญาในเมียนมาเป็นปัญหาที่รุนแรง โดยจัดให้ระดับความรุนแรงเหนือกว่าความรุนแรงที่เกิดกับชาวปาเลสไตน์ ทั้งๆที่อิสราเอลสังหารปาเลสไตน์รายวันแต่ไม่มีสื่อรายงาน  ประชาคมมุสลิมให้ความสนใจกับโรฮิงญาเนื่องจากมองว่าชาวมุสลิมโรฮิงญากำลังถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ดังนั้นชาวมุสลิมจากที่ต่างๆ จึงมองว่าต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือชาวโรฮิงญาเหล่านี้แต่ก็ไม่มีใครเปิดบ้านรับโรฮิงญาอพยพในฐานะมุสลิมอย่างเต็มใจ   สำหรับอาเซียนนั้น ตามกฎบัตรอาเซียนซึ่งยึดถือความเป็นกลาง ไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน แต่กรณีกองทัพยึดอำนาจครั้งนี้ ประเทศอินโดนิเซีย และมาเลเซียดูจะแสดงท่าทีเป็นแม่งาน ชวนอาเซียนมาพูดคุยเรื่องนี้ให้ได้ ทำให้จีนต้องก้าวเข้ามาเป็นตัวกลาง เพราะจีนก็อยู่ในฐานะที่สหรัฐป้ายหน้าผากว่าฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุมุสลิมอุยกูร์ เช่นกันด้วย

ปัญหาความขัดแย้งชาติพันธุ์ เกิดการปะทะกันทางตอนเหนือของพม่าเป็นระยะเป็นผลมาจากการเปลี่ยนนโยบายชายแดนของกองทัพ ซึ่งเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2009 เป็นชนวนเหตุสำคัญของการปะทุขึ้นของความขัดแย้งนับแต่นั้นเป็นต้นมา เป็นผลมาจากนโยบายของกองทัพที่ต้องการเข้ามาควบคุมและจัดการพื้นที่ชายแดนมากขึ้น ส่งผลเกิดความกดดันกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ ที่สำคัญได้แก่การบังคับให้กองกำลังต่างๆยอมผนวกรวมเข้าสู่กองทัพพม่าในปี 2009 โดยมีสถานะที่เรียกว่ากองกำลังพิทักษ์ชายแดน (Border Guard Force: BGF) กลุ่มต่างๆที่ต่อต้านนโยบายดังกล่าวจึงต้องเผชิญกับการรบพุ่ง และปราบปรามของกองทัพนับแต่นั้นมา และนี่เป็นจุดอ่อนสำคัญที่ทำให้ความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของเมียนมาจึงเปราะบางอย่างยิ่ง