จีนประสานอินโดนีเซีย!?! ดันอาเซียนประชุมไม่ทางการกับเมียนมา หวังการทูตสยบแรงกดดันสหรัฐ ไม่หวั่นถูกชี้เป็นตัวปัญหา

1598

ขณะที่สถานการณ์ตึงเครียดในเมียนมา จากการประท้วงต่อต้านการยึดอำนาจของกองทัพดำเนินมากว่า 2 สัปดาห์ สหรัฐและตะวันตกได้เร่งผลักดันวาระเมียนมาในทุกการประชุมระดับสากลอย่างต่อเนื่อง และชี้เป้ามาที่จีนคือ ตัวการที่หนุนให้เกิดการยึดอำนาจในเมียนมา แต่จีนชี้แจงกับประชาชนเมียนมาอย่างต่อเนื่อง และเดินบทบาท การเป็นสะพานเชื่อมในหมู่สมาชิกอาเซียน เพื่อเปิดเวทีให้เพื่อนบ้านได้มีโอกาสพบกันอย่างปราศจากแรงกดดันของสหรัฐและพันธมิตรตะวันตก

เมื่อวันศุกร์ที่ 19 ก.พ.2564 หวัง อี้ มุขมนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้สนทนาทางโทรศัพท์กับเรต โนมาร์ ซูดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ทั้งสองฝ่ายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นส่วนใหญ่เกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาและกำหนดบทบาทในการประสานงานสมาชิกอาเซียนในเรื่องนี้

เรตโนกล่าวว่า อินโดนีเซียมีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาและความเป็นอยู่และความมั่นคงของชาวเมียนมาร์ควรมาก่อนเสมอ

“อินโดนีเซียจะส่งเสริมสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เพื่อมีส่วนร่วมกับเมียนมาอย่างสร้างสรรค์ ตามหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่นเพื่อให้ได้มาซึ่งความไว้วางใจและความเชื่อมั่นของเมียนมาร์ในอาเซียนช่วยพม่า และยังคงพัฒนากระบวนการประชาธิปไตยแบบรวมในเมียนมาร์ต่อไป”

อินโดนีเซียและประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ ได้เสนอให้มีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอย่างไม่เป็นทางการ และหวังว่าจีนจะสนับสนุนและมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในเรื่องนี้ต่อไป ในส่วนของหวัง อี้กล่าวว่า เมียนมาเป็นเพื่อนบ้านที่เป็นมิตรสนิทของจีนและเป็นสมาชิกของครอบครัวอาเซียน และเสริมว่าทุกประเทศต่างสนใจสถานการณ์ในเมียนมา แต่ไม่มีใครคาดหวังจะให้มีการเริ่มต้นใหม่และรักษาสันติภาพอย่างมีเสถียรภาพได้มากไปกว่าจีนและอาเซียน 

หวังอี้กล่าวว่า จีนสนับสนุนอาเซียนในการแสดงบทบาทอันเหมาะสมในการผ่อนคลายสถานการณ์ปัจจุบันในเมียนมา  ตามแนวทางอาเซียนเพื่อจัดประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอย่างไม่เป็นทางการ และปฏิบัติตามหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น และการสร้างฉันทามติเพื่อให้บรรลุการติดต่อล่วงหน้าและการสื่อสารกับฝ่ายเมียนมาโดยตรง

เขากล่าวเสริมว่าจีนยินดีต้อนรับความพยายามอย่างแข็งขันของอินโดนีเซียในการต่อสู้เพื่อความสามัคคีและความร่วมมือของครอบครัวอาเซียน และพร้อมที่จะดำเนินการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับกลุ่มและมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในการคลี่คลายสถานการณ์

ประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมา เหล่าประเทศสมาชิกประชาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ก็ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา แตกต่างกันไป แต่ต่างยืนยันเจตจำนงค์กฎบัตรอาเซียนที่ไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน

บรูไนดาลุซซาลาม:ประธานอาเซียน สำนักเลขาธิการสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ณ กรุงจาการ์ตา ได้เผยแพร่เอกสารถ้อยแถลงประธานอาเซียนซึ่งในปีนี้ประเทศบรูไนทำหน้าที่เป็นประธานอาเซียน เกี่ยวกับพัฒนาการในเมียนมา ว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ติดตามพัฒนาการณ์ของเมียนมาในปัจจุบันอย่างใกล้ชิด

อาเซียนคำนึงถึงวัตถุประสงค์และหลักการที่ปรากฏในกฎบัตรอาเซียน รวมถึงการยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย หลักนิติธรรม ธรรมาภิบาล การเคารพ และปกป้องสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

สิงคโปร์: เป็นประเทศแรกๆที่ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุรัฐประหารในเมียนมา โดยกระทรวงต่างประเทศสิงคโปร์ ได้ออกแถลงการณ์แสดงความ “ห่วงกังวลอย่างมากกับสถานการณ์ล่าสุดในเมียนมา” และหวังว่าทุกฝ่ายจะ “ใช้ความอดกลั้น” ในสถานการณ์ดังกล่าวเมื่อเร็วๆนี้ได้แสดงจุดยืนไม่สนับสนุนคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเมียนมา เพราะกระทบกับประชาชน

ประเทศไทย: พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในเมียนมา จะส่งผลกระทบถึงไทยหรือไม่ว่า เป็นเรื่องภายในของเขา ส่วนจะกระทบไทยหรือไม่ก็เป็นเรื่องของโควิด-19 อย่างเดียว

“เป็นเรื่องภายในของเขา กลัวเรื่องโควิดอย่างเดียว” พล.อ.ประวิตร ระบุ

กัมพูชา: สมเด็จฯฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ระบุว่า การรัฐประหารในเมียนมา เป็นกิจการภายในของเมียนมา และปฏิเสธที่จะออกความเห็น

“กัมพูชา ไม่ออกความเห็นเกี่ยวกับกิจการภายในของประเทศใดๆ ทั้งในกรอบอาเซียน หรือประเทศอื่นๆ”

มาเลเซีย: กระทรวงต่างประเทศมาเลเซีย ออกแถลงการณ์ด้วยเช่นกัน โดยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในเมียนมา แก้ไขปัญหาความขัดแย้งจากการเลือกตั้งอย่างสันติ

“มาเลเซีย สนับสนุนให้ผู้นำพม่าเจรจากันต่อไปเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบในแง่ลบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนและประเทศเมียนมา โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19” แถลงการณ์ระบุ

อินโดนีเซีย: “อินโดนีเซียเน้นย้ำเช่นกันว่าความขัดแย้งในการเลือกตั้งต้องแก้ไขด้วยกลไกทางกฎหมายที่มีอยู่”  นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ใช้ความอดกลั้นและเรียกร้องให้ยึดหลักการตาม “กฎบัตรอาเซียน” ที่ว่าด้วยเรื่องการยึดมั่นในหลักนิติธรรมหลังธรรมาภิบาลและประชาธิปไตย

ฟิลิปปินส์ :โฆษกประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ แถลงเช่นกันว่า ฟิลิปปินส์ ให้ความสำคัญกับชาวฟิลิปปินส์ในเมียนมา และมองเหตุการณ์ดังกล่าวว่าเป็นกิจการภายในที่ไม่ควรเข้าไปแทรกแซง “สิ่งสำคัญคือความปลอดภัยของชาวฟิลิปปินส์ในเมียนมา” แฮร์รี โรก โฆษกประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ระบุ