จากกรณีที่ เพจเฟซบุ๊ก โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure เปิดเผยความคืบหน้าการก่อสร้างสวนสัตว์ดุสิต หรือ เขาดิน แห่งใหม่ ที่คลอง 6 จังหวัดปทุมธานี
ว่าขณะนี้เริ่มเคลียร์พื้นที่แล้ว เมื่อวานผมบังเอิญขับรถผ่าน พื้นที่ก่อสร้างสวนสัตว์ดุสิต หรือเขาดิน แห่งใหม่ ซึ่งย้ายมาจากเขาดินเดิมที่เรารู้จักกัน ข้างพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งจริงๆ แล้วผมได้ยินข่าวมาตลอดว่าจะย้ายไปคลอง 6 แต่ก็ไม่เคยทราบตำแหน่งจริงๆว่าอยู่ที่ไหนยังไง แล้วเมื่อวานขับผ่าน เห็นมีป้าย พร้อมรูปปั้นสัตว์ ตั้งอยู่บริเวณหน้าโครงการ เลยถึงบางอ้อ เลยถ่ายรูปป้ายโครงการพร้อมกับรูปปั้นสัตว์หน้าป้ายมาให้ชมครับ
สวนสัตว์ดุสิต (เขาดิน) แห่งใหม่ ตั้งอยู่ระหว่าง คลอง 6 และ คลอง 7 ด้านฝั่งทิศใต้ของคลองรังสิต (อยู่ฝั่งถนนเลียบคลองรังสิต) ใกล้กับสนามกอล์ฟรอยัลเจมส์ มีขนาดที่ดิน 300 ไร่ ตำแหน่งก่อสร้างสวนสัตว์ดุสิต (ที่ใหม่) https://goo.gl/maps/ffvVDA8BGcrrDJ1v6 ซึ่งตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่ไม่แย่ เข้าถึงจากถนน รังสิต-นครนายก ไม่ยากเหมือนกับ กลุ่มอาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ (ตึกลูกเต๋า) แต่เป็นห่วงเรื่องจราจรบางส่วน
ผมเห็นมีการวางแผนการทำต่างระดับเชื่อมเข้ากับถนนเลียบคลอง เพื่อเชื่อมโยงกับสวนสัตว์ดุสิตแห่งใหม่นี้ รวมถึงการคิดเผื่อว่า ถนนรังสิต-นครนายก จะทำยกระดับด้วยเช่นกัน แต่ผมมองว่ายังไม่พอ และเป็นการพึ่งพาถนนเส้นเดียวในการเชื่อมต่อเท่านั้น อยากจะเสนอให้มีโครงข่ายเพิ่มเติมคือ
– ควรทำต่างระดับ เชื่อมกับวงแหวนตะวันออก (สาย 9) พร้อมกับทำถนนเชื่อมกับถนนคลอง 7 ซึ่งกำลังขยาย เพื่อเป็นโครงข่ายรอง เข้าด้านหลังของสวนสัตว์
– ควรมีโครงข่ายขนส่งมวลชน เช่น BRT (รถเมล์ด่วน) เชื่อมระหว่าง สวนสัตว์ ผ่านถนนใหม่ที่แนะนำ เข้าวงแหวนตะวันออกและไปเชื่อมกับรถไฟฟ้า สายสีเขียว (BTS) สถานีคูคต
– ควรเปิดเดินเรือคลองรังสิต ให้ท่าเรือเป็นปลายทาง พร้อมกับโครงข่ายภายในคลอง
สวนสัตว์ดุสิตแห่งใหม่ที่ย้ายไปนี่อาจจะไกลออกไปพอสมควร แต่ถ้ามีการเชื่อมโยงที่ดี อย่างน้อยก็น่าจะเป็นทางเลือกในการท่องเที่ยวของประชาชนในวันหยุดได้เหมือนเดิมครับ
ปล. อะไรๆก็ไปอยู่ฝั่งตะวันออกกันหมด ทั้งศูนย์การเรียนรู้ สวนสัตว์ สวนสนุก เหลือๆ มาสร้างฝั่งตะวันตกให้เป็นตัวเลือกชาวนนทบุเรี่ยน นครปฐม ปทุมธานี (ฝั่งตะวันตก) อย่างผมไปเที่ยวได้สะดวกๆบ้างนะครับ
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2561 ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สวนสัตว์ดุสิต ได้ชี้แจงกรณีการย้ายสวนสัตว์ดุสิตระบุว่า ในส่วนของแผนการปิดและย้าย สวนสัตว์ดุสิตนั้น ทางหน่วยงานผู้รับผิดชอบได้เตรียมความพร้อมและดำเนินการตามแผนปฏิบัติงานมาโดยลำดับ ดังที่เคยเป็นข่าวปรากฎมาโดยตลอด
สำหรับพื้นที่แห่งใหม่ บริเวณคลอง 6 ต.รังสิต อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ต่อประชาชนชาวไทยและชาวองค์การสวนสัตว์ที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ทรงพระราชทานโฉนดที่ดิน จำนวน 300 ไร่ให้กับองค์การสวนสัตว์ เพื่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ จัดว่ามีขนาดใหญ่กว่าสวนสัตว์ดุสิตเดิมถึง 3 เท่า ทำให้สัตว์มีพื้นที่ที่อยู่อย่างสบาย มีอากาศที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งขณะนี้มีบริษัทที่ปรึกษาเข้ามาสำรวจข้อมูลในด้านต่างๆ แล้วเพื่อให้สภาพแวดล้อมสวนสัตว์ใหม่ออกมาอย่างดีที่สุดถูกต้องตามหลักมาตรฐานสากล
ตามแผนปฏิบัติงาน ทางสวนสัตว์ดุสิตจะเปิดให้บริการจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2561 เพื่อทยอยดำเนินการเคลื่อนย้ายสัตว์ออกไปจัดแสดง ณ สวนสัตว์ต่าง ๆ ภายใต้การบริหารขององค์การสวนสัตว์ จำนวน 6 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว สวนสัตว์เชียงใหม่ สวนสัตว์นครราชสีมา สวนสัตว์สงขลา สวนสัตว์อุบลราชธานี และสวนสัตว์ขอนแก่น โดยมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ
ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ได้พระราชทานโฉนดที่ดิน คลอง 6 อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ จำนวน 300 ไร่ ให้องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ (อสส.) เพื่อใช้ประโยชน์เป็นสถานที่ก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ และสถานที่ทำงานขององค์การสวนสัตว์ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 โดยมี พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เข้ารับพระราชทานโฉนดที่ดินจำนวนดังกล่าว
คณะกรรมการองค์การสวนสัตว์ ได้มีการประชุมถึงแนวทางการสร้างสวนสัตว์ชั้นนำในระดับแนวหน้าของโลก โดยมีพื้นที่ใหญ่กว่าปัจจุบันถึง 3 เท่า และตั้งอยู่ในทำเลที่เป็นศูนย์กลางของแหล่งเรียนรู้หลากหลายสาขา ในวันที่ 12 ธันวาคม 2560 โดยมติที่ประชุมได้มีการแต่งตั้งคณะทำงาน จำนวน 2 ชุด คือ คณะทำงานจัดสร้างสวนสัตว์ แห่งใหม่ และ คณะทำงานย้ายสวนสัตว์ดุสิตและสำนักงานองค์การสวนสัตว์ เพื่อสำหรับเตรียมแผนรองรับเพื่อการพัฒนาสวนสัตว์แห่งใหม่ โดยคำนึงถึงความสำคัญในด้านต่างๆ อาทิ การวางโครงสร้างพื้นที่สวนสัตว์แห่งใหม่ การจัด Landscape ที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงความเป็นอยู่ภายใต้หลักการส่งเสริมพฤติกรรมสัตว์และสวัสดิภาพสัตว์เป็นสำคัญ เพื่อให้สัตว์นานาชนิดมีคุณภาพชีวิตที่ใกล้เคียงธรรมชาติตามหลักมาตรฐานสากล
อย่างไรก็ตาม การได้รับพระราชทานที่ดินดังกล่าว ถือเป็นโอกาสอันดีที่องค์การสวนสัตว์ จะได้มีโอกาสพัฒนาสวนสัตว์แห่งใหม่ให้มีความทันสมัย และมีความพร้อมที่จะให้การบริการนักท่องเที่ยว และเป็นแหล่งเรียนรู้ในรูปแบบห้องเรียนตามธรรมชาติที่สามารถตอบสนองความต้องการให้กับเด็กและเยาวชนได้อย่างเหมาะสม