เปิด4กูรูกม.อดีตคนยกร่างฯแจงศาล หลังศาลรธน.รับคำร้องแก้รธน.ทั้งฉบับได้หรือไม่?

2288

มาถึงอีกหนึ่งประเด็นสำคัญ ที่เชื่อว่าจะทำให้สถานการณ์ทางการเมืองไทยร้อนแรงยิ่งขึ้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องตีความรัฐสภามีอำนาจแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่ ซึ่งฝ่ายที่พยายามอยากให้แก้ไขได้ส่งเสียงมาแล้ว ขณะที่อีกฝ่ายก็หวั่นจะมีสอดไส้รื้อหมวดเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย

โดยเรื่องนี้เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ประชุมรัฐสภา ได้อภิปรายแสดงความเห็นต่อญัตติให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญตีความหน้าที่และอำนาจการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภา ซึ่งฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ได้คัดค้าน เพราะมองว่ารัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จึงไม่ควรให้องค์กรอื่นตีความการทำหน้าที่ อีกทั้งประเด็นที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความขัดแย้งทางกฎหมายที่หาทางออกไม่ได้ เชื่อว่าญัตติดังกล่าว หากถูกส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญจะมีผลกระทบต่อระยะเวลาการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

จากนั้น นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะผู้ร่วมเสนอญัตติ อภิปราย ตอนหนึ่งว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีและทำหน้าที่ถ่วงดุลฝ่ายนิติบัญญัติไม่ให้ใช้อำนาจเกินรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบกำหนดโดยปี 2563 – 2564 มีญัตติที่สภาฯ ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ รวม 11 คำร้อง แสดงว่าศาลรัฐธธรรมนูญมีหน้าที่พิจารณาญัตติของฝ่ายนิติบัญญัติ ดังนั้น ญัตติดังกล่าวถือว่าชอบอย่างยิ่งที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะมีความเห็นทางข้อกฎหมายแตกต่างกันระหว่าง ส.ส. และ ส.ว.

ต่อมาที่ประชุมรัฐสภา ได้ลงมติว่าจะส่งญัตติเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาต่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ด้วยกระบวนการให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ไปจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับหรือไม่โดยผลการลงมติเสียงข้างมาก 366 เสียง เห็นด้วยที่จะส่งศาลรัฐธรรมนูญ ไม่เห็นด้วย 315 เสียง และงดออกเสียง 15 เสียง ทำให้ที่ประชุมรัฐสภาส่งญัตติดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย

ขณะที่นายชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.พรรคเพื่อไทย อภิปรายคดค้านช่วงหนึ่งที่น่าสนใจว่า ส่วนใหญ่สมาชิกสภาไม่เห็นด้วยกับญัตติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ

“ถ้ามีการส่งศาลรัฐธรรมนูญ สิ่งที่คิดว่าจะได้รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในเดือนสิงหาคม-กันยายน 2564 และจะได้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 2564 เพราะดูขั้นตอนจะลงมติที่ 2 กับ 3 วันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ และเปิดประชุมสมัยวิสามัญ 17-18 มีนาคม เพื่อให้ความเห็นชอบในวาระที่ 3”

กระนั้น ที่น่าสนใจยิ่งกว่าก็คือความเห็นจาก นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกวุฒิสภา  กล่าวด้วยว่า ไม่ได้ตั้งธงใดๆทั้งสิ้น และส่วนตัวเชื่อว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้ตั้งส.ส.ร.ของพรรคร่วมรัฐบาล และฝ่ายค้านจะผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา หากไม่มีการยื่นญัตตินี้ไว้ก่อนเชื่อว่าจะมีส.ว.หลายคนไม่สบายใจและงดออกเสียงในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ล่าสุดวันนี้ 18 กุมภาพันธ์ 2564 ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณากรณีประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยกรณีหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256(1)

โดย ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาแล้วให้รับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย และเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาให้ผู้เกี่ยวข้องคือนายมีชัย ฤชุพันธุ์ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ และนายอุดม รัฐอมฤต ทำความเห็นเป็นหนังสือ ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 3 มีนาคม 2564 และนัดประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 4 มีนาคม 2564

สำหรับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นอดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบันที่ใช้อยู่นี้ ขณะที่ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ เป็นอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและเลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี2550

นอกจากนี้ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2558  และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2539 รวมทั้ง ดร.อุดม รัฐอมฤต อดีตคณบดีนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปี2560

นี่คือ4บุคคลสำคัญทางกฎหมาย ที่มีดีกรีไม่ธรรมดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับท่าทีนั้น เชื่อว่าฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คงหวาดหวั่นไม่น้อย ในการที่ทั้งสี่คนทำความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญ และนี่จึงเป็นที่มาว่าทำไม เรื่องแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นประเด็นร้อนที่ต้องจับตาอีกครั้งหนึ่ง!!!