ดร.จุฬาฯลูกสาวโกวิท ทุ้งผู้บริหารมหาลัยทั่วปท. ประกาศเอา-ไม่เอาม.112 เด็กจะได้เลือกเข้าเรียน

4895

จากที่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวแกนนำม็อบราษฎร 4 คน นายอานนท์ นำภา ,นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน) ,นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายปฏิวัฒน์ สาหร่ายแย้ม (หมอลำแบงค์) ทำให้มีความเคลื่อนไหวจากบรรดานักวิชาการที่หนุนม็อบออกมาถี่ขึ้นอย่างมีนัยยะน่าสนใจยิ่ง!!!

โดยหลังจากศาลอาญาไม่ให้ประกัน4แกนนำเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ทำให้ในวันเดียวกันเฟซบุ๊ก ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์คณาจารย์นิติศาสตร์ เรื่อง คำสั่งศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยบางส่วนระบุว่า

“หลักประกันสิทธิอันสำคัญในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาคือการที่ศาลต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ และด้วยเหตุดังกล่าวศาลจะพิพากษาจำเลยว่ามีความผิดได้ก็ต่อเมื่อศาลได้รับฟังพยานหลักฐานจนสิ้นข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริง ซึ่งกระบวนการรับฟังพยานหลักฐานนั้นต้องชอบด้วยกฎหมายทั้งในเชิงเนื้อหาและรูปแบบ

สิทธิขั้นพื้นฐานดังกล่าวนี้ได้ถูกรับรองไว้อย่างชัดเจนในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) อันเป็นหนึ่งในกฎหมายระหว่างประเทศฉบับที่สำคัญที่สุด และไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 และสิทธิดังกล่าวยังได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 29 วรรค 2 และในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227

การให้เหตุผลของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดคำถามว่า มีความสอดคล้องกับหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์เพียงใด เพราะการให้เหตุผลลักษณะดังกล่าวทำให้เข้าใจได้ว่า ศาลเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดจริงตามที่ถูกฟ้องไปแล้ว ทั้งที่ยังไม่ได้มีการพิสูจน์ว่า 1. จำเลยทำจริงหรือไม่ 2. การกระทำของจำเลยเข้าองค์ประกอบความผิดหรือไม่ และ 3. จำเลยมีอำนาจกระทำตามกฎหมายหรือไม่

เมื่อยังไม่ได้มีการพิจารณาสืบพยานจนสิ้นข้อสงสัย การวินิจฉัยการกระทำของจำเลยและหยิบข้อวินิจฉัยมาเป็นเหตุผลในการไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จึงขัดต่อหลักสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ ขัดแย้งกับพันธกรณีที่ไทยมีต่อนานาประเทศ ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และขัดแย้งกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อันล้วนแต่เป็นกฎหมายคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

ด้วยเหตุดังที่กล่าวมาข้างต้น คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ ดังมีรายนามแนบท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ ขอเรียกร้องให้ผู้พิพากษาทุกท่านได้ยึดมั่นในหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์อย่างเคร่งครัด ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้หลักการของกฎหมายอย่างซื่อตรงและเป็นธรรม และเป็นเสาหลักที่มั่นคงในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในสภาวะที่สังคมไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตรอบด้านและประชาชนจำนวนมากมองเห็นศาลเป็นที่พึ่งสุดท้าย

สำหรับรายชื่อ 48 อาจารย์นิติศาสตร์ ที่ร่วมออกแถลงการณ์ ส่วนใหญ่แล้วเป็นกลุ่มนักวิชาการที่ออกมาสนับสนุนการเคลื่อนไหวของม็อบอยู่แล้ว ซึ่งหลายคนพบว่าเป็นคนเดิมๆที่เคลื่อนไหวมีท่าทีเช่นนี้มาโดยตลอดแม้ผู้ชุมนุม แกนนำม็อบ หรือแนวร่วมจะโจมตีด่าทอสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำที่รุนแรงหยาบคายเพียงใด นักวิชาการเหล่านี้ก็ไม่เคยออกมาตำหนิ ตักเตือน แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ถูกดำเนินคดี บรรดานักวิชาการเหล่านี้จะออกมาปกป้องทันที เช่น

1.กนกนัย ถาวรพานิช มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2.กรกนก บัววิเชียร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 3.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 4.กิตติภพ วังคำ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 5.จารุประภา รักพงษ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 6.ณรงค์เดช สรุโฆษิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 7.ณัฏฐพร รอดเจริญ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

8.ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 9.ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 10.ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 11.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 12.ธนรัตน์ มังคุด มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 13.ธีรวัฒน์ ขวัญใจ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 14.นพดล เดชสมบูรณ์รัตน์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

15.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 16.ปรีญาภรณ์ อุบลสวัสดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 17.ผจญ คงเมือง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 18.พงค์ศักดิ์ เจ๊ะพงค์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 19.พรชัย วิสุทธิศักดิ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 20.พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

21.พัชร์ นิยมศิลป จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 22.พันธุ์ทิพย์ สายสุนทร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 23.ภูมินทร์ บุตรอินทร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 24.สมชาย ปรีชาศิลปกุล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 25.สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 26.สุปรียา แก้วละเอียด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 27.สุรินรัตน์ แก้วทอง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ล่าสุดวันนี้ 18 กุมภาพันธ์ 2564  ผศ.ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บุตรรศ.ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ และพี่สาวของ จอห์น วิญญู พิธีกรชื่อดัง ได้ออกมาโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก ถึงผู้บริหารมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ โดยระบุว่า

ประกาศ: ขอความร่วมมือในการ call out หรือ เรียกร้อง ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ด้วยเหตุที่นับวันก็ยิ่งมีนิสิตนักศึกษาถูกหมายเรียก หมายจับ หมายศาล สารพัดหมายเรียกไม่ถูกอันเนื่องมาจากประมวลกฎหมายอาญา ม.112 มากขึ้น และเกิดความสงสัยไม่แน่ใจในจุดยืนของสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยควรเดินเรื่องประกันตัวหรือไม่ หรือเป็นหน้าที่ของคณะ

หรือองค์กรเห็นด้วยกับ ม.112 จึงปล่อยให้อาจารย์ที่ไม่เห็นด้วยไปประกันในฐานะปัจเจกและค่อนข้างตามมีตามเกิด อิฉันจึงเห็นสมควรต้อง call out ผู้บริหารมหาวิทยาลัยทุกมหาวิทยาลัย และทุกคณะให้ออกมาให้คำตอบกับสังคมว่า “เอา” หรือ “ไม่เอา” ม.112

คำถามนี้มีคำตอบให้เลือกแค่ 2 อย่างคือ “เอา” หรือ “ไม่เอา” ไม่ต้องมาบอกว่าองค์กรมีความหลากหลาย เพราะเราอยากรู้ว่าตัวอธิการบดีแต่ละมหาวิทยาลัย และคณบดีแต่ละคณะ “เอา” หรือ “ไม่เอา” แค่นั้น

และถ้าจะบอกว่า “เอา แต่ไม่อยากให้ใช้พร่ำเพรื่อ” สิ่งนี้ก็มีความหมายแค่เท่ากับ “เอา” หรือถ้าบอกว่า “ไม่เอา แต่ไม่ได้แปลว่าไม่รักเจ้า” ก็แค่แปลว่า “ไม่เอา” อยู่ดี  เอาแค่นี้เบสิคมากไม่ต้องการคำอธิบาย แก้ตัว disclaimer หรือ ปฏิเสธข้อเรียกร้อง เหยียดยาว เป็นถึงระดับผู้บริหารแล้วคำถามเบสิคแค่นี้ต้องตอบได้

เพราะเด็กรุ่นใหม่ที่กำลังจะต้องเลือกเข้าเรียนในสถาบันอุดมศึกษาทั้งหลายเขามีสิทธิที่จะรู้ เขาจะได้ใช้ประกอบการตัดสินใจ ถ้าเขาชอบ ม.112 เขาจะได้ไม่ไปเข้าที่ที่ผู้บริหารบอกว่า “ไม่เอา” ม.112

หรือถ้าเข้าไปแล้วผู้บริหารเกิดจะไปประกันนักศึกษาที่โดนคดี ม.112 เขาก็จะได้ไม่ต้องมาประท้วงโวยวายให้มันมากความเพราะได้บอกจุดยืนไว้อย่างชัดเจนแล้ว ในทางกลับกันเด็กที่ “ไม่เอา” ม.112 และรู้สึกว่าในระหว่างที่เรียนมหาวิทยาลัยอาจจะมีเหตุให้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายนี้ก็จะได้เลือกเข้าได้ถูกคณะ

หรือถ้าจำเป็นต้องเข้าคณะที่ผู้บริหาร “เอา” ม.112 ก็จะได้เตรียมหาลู่ทางที่จะไม่ต้องรบกวนผู้บริหารมาประกันตัวเวลาที่เขาเกิดมีคดีขึ้นมา เราคิดว่ามันแฟร์สำหรับทุกฝ่าย

และที่สำคัญ สำหรับเราซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์ เราอยากได้หลักฐานลายลักษณ์อักษรที่บ่งชี้จุดยืนต่อกฎหมายนี้จากปัญญาชนชั้นนำระดับผู้บริหารมหาวิทยาลัยในประเทศ ณ เวลานี้ เพราะมันจะเป็นข้อมูลสำคัญในการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์การเมืองไทยในยุคนี้ สำหรับนักประวัติศาสตร์ในอนาคตชั่วลูกสืบหลานแน่นอน

แน่นอนว่าสิ่งนี้เราทำเองไม่ได้ แต่เราคิดว่ามันเป็นแคมเปญที่จะมีประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม เราจึงอยากชี้ชวนให้นิสิตนักศึกษา ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน ตลอดจนน้องๆ นักเรียนชั้นประถมมัธยมที่จะกลายเป็นนิสิตนักศึกษาในอนาคตทั่วประเทศช่วยกันออกมาผลักดัน call out ผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่ท่านรักหรือสนใจโดยพร้อมเพรียงกัน จักเป็นพระคุณยิ่ง”