Truthforyou

วิกฤตโควิดทำ 132 ล้านคนขาดแคลนอาหาร!?! UN ชูปฏิรูประบบอาหารมั่นคงทั่วโลก ไทยไม่น่าห่วง ผลิตพอกิน-ส่งออกได้

อาหารคือหนึ่งในปัจจัยสี่ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต องค์การสหประชาชาติ หรือUN ให้ความสำคัญประเด็นด้านความมั่นคงอาหาร และผลักดันให้มีมาหารือ เพื่อสร้างกลไกระหว่างประเทศ ที่จะนำไปสู่การความมั่นคงของโลกว่าด้วยอาหารการกินของมนุษยชาติ และคนไทยมีบทบาทเป็นประธานคณะกรรมการฯ ที่จะร่วมคิดร่วมทำในเชิงปฏิบัติ 

ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19  UNประเมินว่ามีประชากรกว่า 83 – 132 ล้านคน ได้รับอาหารและสารอาหารไม่เพียงพอ เด็กเล็กกว่า 144 ล้านคน ที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ อยู่ในสภาพแคระแกร็น และกว่า 47 ล้านคน อยู่ในสภาพอดอาหาร นอกจากนี้ อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ มีต้นทุนและมีราคาแพง ดังนั้น จึงต้องจัดการปรับเปลี่ยนระบบอาหารทั้งระบบ food supply chain

นาย António Guterres เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ร่วมแถลง รายงานสถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการโลก ประจำปี 2563 มีเป้าหมายร่วมยุติความหิวโหยและภาวะทุพโภชนาการในทุกรูปแบบ ซึ่งปัจจุบัน CFS ได้จัดทำแนวทางปฏิบัติเชิงนโยบายด้านระบบอาหารและโภชนาการ และ นโยบายด้านเกษตรเชิงนิเวศและนวัตกรรมภาคเกษตร ซึ่งจะนำเข้าสู่การพิจารณารับรอง ในเดือน ก.พ. 2564 รวมทั้งจะไปสู่การหารือในการปฏิรูประบบอาหารโลก ในระหว่างการประชุมสุดยอดระดับผู้นำด้านระบบอาหารโลก (Food Systems Summit) ในปี 2564

สำหรับประเทศไทยที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารอันดับท็อป 15 ของโลก ได้ดุลการค้าสินค้าเกษตรและอาหารปีละกว่า 6 แสนล้านบาท แต่เราถูกจัดว่าเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางอาหารปานกลาง ในสายตาขององค์กรต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ระบาดใหม่ยังคงคุกคามโลกอยู่ ยูเอ็นได้ปรับแผนการสร้างความมั่นคงอาหารโลกใหม่ โดยมีแผนเบื้องต้นดังนี้คือ

วันที่ 16 ก.พ.2564 นายธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูต (ฝ่ายเกษตร) ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาติ กรุงโรม ในฐานะประธานคณะกรรมการความมั่นคงอาหารโลก (Committee on World Food Security) เปิดเผยว่า ที่ประชุมประเทศสมาชิกได้ลงมติรับรอง “แนวทางปฏิบัติระบบอาหารและโภชนาการ” (Voluntary Guideline on Food Systems and Nutrition หรือ VGFSyN) เพื่อผลักดันให้เกิดการนำไปสู่การปฏิบัติจริงในระดับประเทศต่อไป และที่ประชุมได้เห็นชอบแผนงานการจัดทำนโยบายโลกระยะ 4 ปี (2563-2567) จำนวน 4 ด้าน ได้แก่ 

1.นโยบายด้านความเท่าเทียมทางเพศและบทบาทสตรีต่อความมั่นคงอาหารและโภชนาการ

2.นโยบายส่งเสริมบทบาทของเยาวชนในการสร้างความมั่นคงอาหารและโภชนาการ

3.นโยบายระบบข้อมูลทางด้านความมั่นคงอาหารและโภชนาการ และ

4.นโยบายลดความไม่เท่าเทียมกันและลดความเลื่อมล้ำในด้านความมั่นคงอาหารและโภชนาการ

ทั้งนี้ปี 2564 จะเป็นปีสำคัญ เพราะคณะกรรมการความมั่นคงอาหารโลก จะจัดการประชุมสมัยพิเศษครั้งที่ 48 ในวันที่ 4 มิ.ย.2564  เพื่อพิจารณารับรองร่างข้อเสนอเชิงนโยบายด้านเกษตรเชิงนิเวศและนวัตกรรมอื่นทางการเกษตร (Policy Recommendations on Agroecological and Other Innovatives Approches) และจะมีการจัดการประชุมคณะกรรมการความมั่นคงอาหารโลก ครั้งที่ 49 ในวันที่ 11-15 ต.ค.2564 อีกครั้ง เพื่อพิจารณารับรองแผนงานสำคัญด้านระบบอาหาร ความมั่นคงอาหารและโภชนาการของโลกต่อไป

“คณะกรรมการความมั่นคงอาหารโลก (CFS) เป็นเวทีสหประชาชาติเพียงแห่งเดียว ที่เปิดโอกาสให้ผู้แทนกลุ่มภาคเอกชน (Private Sector Mechanism) กลุ่มภาคประชาสังคม กลุ่มเครือข่ายเกษตรกร และกลุ่มตัวแทนผู้บริโภค (Civil Society Mechanism) สถาบันวิจัย สถาบันการเงิน ที่ทำงานด้านความมั่นคงอาหารและโภชนาการ ได้มาถกประเด็นปัญหา และร่วมจัดทำนโยบายของโลก ร่วมกับ ผู้แทนรัฐบาลของประเทศสมาชิก และหน่วยงานต่างๆ ของสหประชาชาติ (United Nations Agencies)”

มีหน้าที่จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและคำแนะนำในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงอาหารและโภชนาการ (Food Security and Nutrition) และเป็นเวทีเดียวที่เปิดโอกาสให้สมาชิกซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนได้มีโอกาสเจรจาหาข้อตกลงที่ยอมรับได้ ก่อนที่จะมีมติรับรองข้อเสนอเชิงนโยบายต่างๆ ในระดับโลก (Global policies, recommendations and guidance)

อังเนส คาลีบาตา  ทูตพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติ (UN Secretary General’s Special Envoy) กล่าวว่า UN เห็นชอบในนโยบายดังกล่าว พร้อมสนับสนุนการนำ แนวทางปฏิบัติระบบอาหารและโภชนาการ ไปสู่การปฏิบัติจริงในระดับประเทศ และจะนำไปเป็นเอกสารสำคัญในการประชุมสุดยอดผู้นำด้านระบบอาหารของโลก (UN Food Systems Summit) ซึ่งจะจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีกระทรวงอาหารและเกษตร ในเดือนก.ค. นี้ ณ กรุงโรม และ การประชุมระดับผู้นำประเทศ ประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี ในเดือนก.ย. 2564 ณ นครนิวยอร์ก

นายมิเชล ฟาครี ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติด้านสิทธิในการเข้าถึงอาหาร (United Nations Special Rapporteur on the Right to Food) กล่าวว่า การดูแลกลุ่มประชาชนผู้ด้อยโอกาส และเกษตรกรรายย่อยในระบบอาหารมีความสำคัญ แต่ก็ต้องให้ความสำคัญของผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมที่อาจจะเกิดขึ้นจากระบบอาหารทั้งการผลิตและการบริโภคที่ไม่สมดุล และการผลิตที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้จะต้องยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางในการมีส่วนร่วมในการปรับเปลี่ยนระบบอาหารด้วย

ย้อนมาดูความมั่นคงทางอาหารของไทยในสายตาของต่างชาติบ้าง  พิจารณาการประเมินระดับ “ความมั่นคงทางอาหาร” โดยแต่ละสำนัก แต่ละหน่วยงานนั้นมีปัจจัยและเกณฑ์ในการประเมินที่ต่างกัน 

ในระดับสากลมี Global Food Security Index จัดทำโดย The Economist Intelligence Unit ชี้ว่า ปี 2019 ประเทศไทยมีคะแนนความมั่นคงทางอาหาร 65.1 จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 52 จากทั้งหมด 113 ประเทศ เราอยู่ในอันดับต่ำกว่าจีน (อันดับ 35) ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าอาหารรายใหญ่-ยังพึ่งพาอาหารจากต่างประเทศ 

ดัชนีนี้พิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ 40 ข้อ ซึ่งจัดแบ่งเป็น 3 หมวดหมู่หลัก คือ ความสามารถในการซื้อหาอาหาร (affordability) ความพร้อม-การมีอาหารเพียงพอ (availability) คุณภาพและความปลอดภัย (quality and safety)

จาก 40 ปัจจัยที่นำมาพิจารณา ไทยมีความท้าทาย-จุดอ่อนที่มีส่วนดึงคะแนนรวมของเราลงมาอยู่ในระดับกลาง มีอยู่ 2 ข้อ ได้แก่ รายจ่ายสาธารณะด้านการวิจัยและพัฒนาการเกษตร, ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อประชากร 1 คน

ขณะที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) จะเน้นไปที่การบริโภคอาหารของประชากรในประเทศ ซึ่งจากข้อมูลของ FAO ระบุว่า ประเทศไทยมีจำนวนคนที่ขาดสารอาหาร (เฉลี่ย 3 ปีล่าสุด 2016-2018) จำนวน 5.4 ล้านคน ส่วนความชุกของภาวะขาดสารอาหาร (เฉลี่ย 3 ปีล่าสุด 2016-2018) คิดเป็น 7.8% ของประชากรในประเทศ

Global Hunger Index (GHI) จัดทำโดย Welthungerhilfe ประเทศเยอรมนี บอกว่าไทยมีดัชนีความหิวโหยอยู่ที่ 9.7 เป็นอันดับที่ 45 จากทั้งหมด 117 ประเทศซึ่งไทยจัดว่าอยู่ในกลุ่มประเทศที่เป็นสีเขียว มีปัญหาความอดอยากหิวโหยในระดับต่ำ

ดัชนีนี้มีปัจจัยวัด 4 ข้อ ได้แก่ 1.สัดส่วนของประชากรที่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ 2.สัดส่วนของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบที่ขาดสารอาหารอย่างรุนแรง 3.สัดส่วนของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบที่เป็นคนแคระแกร็น 4.อัตราการเสียชีวิตของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ จะเห็นว่าเมื่อปัจจัยที่ใช้ในการประเมิน-ชี้วัดต่างกัน ผล-ระดับการประเมินก็ต่างกันด้วย

Exit mobile version