อดีตรองอธิการฯมธ. เปิดหน้ากาก255 อาจารย์ รู้แก่ใจปล่อย4แกนม็อบก็ออกมาหมิ่นสถาบันอีก?

2074

ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรสำหรับบรรดานักวิชาการที่ออกมาเรียกร้องให้ปล่อยตัว4แกนนำม็อบที่ล่วงละเมิดสถาบัน เพราะก่อนนี้ก็เคลื่อนไหวสนับสนุนผู้ชุมนุมมาโดยตลอด ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม แต่ที่น่าสนใจก็คือความคิดของอาจารย์เหล่านี้เห็นด้วยกับกการยกเลิกม.112 หรือไม่???

ทั้งนี้จากเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 กลุ่มนักวิชาการ จากมหาวิทยาลัยต่างๆ นำทีมโดย ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ได้อ่านแถลงการณ์ขอให้ศาลคืนสิทธิในการได้รับการประกันตัวระหว่างถูกดำเนินคดีแก่ผู้ถูกสั่งฟ้องจากการชุมนุม โดยมีเนื้อหาบางส่วนระบุว่า

เนื่องจากเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวแกนนำของการชุมนุมวันที่ 19-20 กันยายน 2563 รวม 4 คน ได้แก่ นายอานนท์ นำภา, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน), นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข, และนายปฏิวัฒน์ สาหร่ายแย้ม (หมอลำแบงค์) โดยให้เหตุผลว่า “หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยอาจไปก่อเหตุลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาอีก” คณาจารย์ผู้มีรายชื่อแนบท้ายจำนวน 255 รายชื่อ 31 สถาบัน ขอให้ศาลได้พึงพิจารณาทบทวนคำสั่งไม่ให้ประกันตัว

ล่าสุดวันนี้ 16 กุมภาพันธ์ 2564  รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีคณาจารย์ทั้ง 255 คนว่า

“คณาจารย์และนักวิชาการ 255 คน เข้าชื่อกันออกแถลงการณ์ขอให้ศาลคืนสิทธิการประกันตัว 4 แกนนำม็อบ 3 นิ้ว ด้วยเหตุผลโดยสรุปดังนี้

  1. ศาลต้องพึงยึดหลัก การสันนิษฐานว่าผู้ต้องหายังเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด นอกจากนี้คำสั่งไม่ให้ประกันตัวที่วางอยู่บนพื้นฐานว่า จำเลยอาจไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหา จึงเป็นเสมือนการตัดสินล่วงหน้าว่าการกระทำของผู้ถูกสั่งฟ้อง เป็นการกระทำที่ผิด ทั้งที่กระบวนการไต่สวนยังไม่เริ่มต้น
  2. การไม่ให้ผู้ต้องหาประกันตัวระหว่างดำเนินคดี หากในที่สุดศาลพิพากษาว่าไม่ผิด สิทธิเสรีภาพที่ถูกพรากไประหว่างถูกจองจำไม่อาจเรียกคืนกลับมาได้ เช่น นายพริษฐ์ ชีวารักษ์ ซึ่งเป็นนักศึกษาอยู่ การถูกจองจำเป็นการลิดรอนสิทธิในการศึกษาของนายพริษฐ์ไปด้วย
  3. รัฐบาลเป็นคู่ขัดแย้งของผู้ถูกดำเนินคดีโดยตรง จึงเป็นธรรมดาที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะใช้มาตรการทางกฎหมายกับผู้ชุมนุมอย่างเกินกว่าเหตุ สถาบันตุลาการจึงจำเป็นต้องรักษาความเป็นอิสระและสมดุลของการปกป้องหลักสิทธิเสรีภาพของประชาชน
  4. การไม่ให้ประกันตัว มีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งที่ขยายตัวรุนแรงขึ้น”

ในวันเดียวกัน ศาลอุทธรณ์ให้ยกคำร้องการขอให้ปล่อยตัวชั่วคราว 4 แกนนำด้วยเหตุผลว่า ความผิดตามฟ้องมีอัตราโทษสูง การกระทำตามฟ้องเป็นการร่วมกันกระทำความผิดของกลุ่มบุคคลอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายและความวุ่นวายขึ้น และส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยจำเลยขึ้นปราศรัยด้วยถ้อยคำที่นำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่เทิดทูนและเคารพสักการะ กระทบกระเทือนจิตใจของปวงชนชาวไทยผู้จงรักภักดีอย่างไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย

นอกจากนี้ยังปรากฏพฤติการณ์ของจำเลยว่าถูกกล่าวหาดำเนินคดีในลักษณะทำนองเดียวกันในคดีอื่นอีก มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดีแล้ว จำเลยอาจจะก่อให้เกิดเหตุอันตรายหรือความเสียหายประการอื่นอีก และน่าเชื่อว่า จำเลยอาจจะหลบหนี

ลองพิจารณาดูว่า ระหว่างคณาจารย์ 255 คน กับศาล ฝ่ายไหนจะมีเหตุผลดีกว่ากัน และลองพิจารณาว่า ข้อความในแถลงการณ์ของคณาจารย์ข้อ 3 เป็นการตั้งข้อสมมติฐานว่าศาลไม่เป็นอิสระหรือไม่

การพิจารณาอนุญาตให้ประกันตัว หรือไม่อนุญาตให้ประกันตัวในทุกคดี เป็นอำนาจของศาล และเป็นขั้นตอนตามปกติของกระบวนการยุติธรรม หากจะให้ปล่อยตัวจำเลยเป็นการชั่วคราว ด้วยเหตุผลว่า ต้องถือว่าจำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ และกระบวนการพิจารณายังไม่ถึงที่สุด ก็น่าจะเสนอให้เปลี่ยนแปลงกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดไปเสียเลย โดยไม่ให้มีการคุมขังจำเลยไม่ว่าในกรณีใดๆจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ไม่ใช่ให้ทำในเฉพาะคดีนี้

หากมีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการยุติธรรมแบบนี้จริง ก็เชื่อได้เลยว่า จะมีผู้ก่อคดีอาญาเพิ่มขึ้นมากแน่นอน เพราะคนจะมีความเกรงกลัวต่อกฎหมายน้อยลง

คณาจารย์ทั้ง 255 คน คงไม่สามารถรับประกันได้ว่า หาก 4 แกนนำได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว จะไม่ก่อคดีหรือทำความผิดเพิ่มขึ้นอีก และเชื่อว่าคณาจารย์ทั้ง 255 คนก็รู้อยู่แก่ใจว่า สิ่งที่แกนนำเหล่านี้ปราศรัย เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างรุนแรง เกินกว่าที่ผู้ที่จงรักภักดีจะยอมรับได้  คณาจารย์ทั้ง 255 คน ยังน่าจะรู้ดีว่า ทั้ง 4 คนหากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ก็จะไปก่อคดีเพิ่มขึ้นอีก

ดังนั้นจึงมีคำถามว่า เพราะอะไรจึงเข้าชื่อกันในแถลงการณ์ฉบับนี้ มีคำตอบเดียวคือ คณาจารย์ทั้ง 255 คน เห็นว่า การกระทำอันเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น ไม่ใช่ความผิด ทางอาญาและไม่ควรมีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อีกต่อไป  ใช่หรือไม่”