กองทัพเมียนมาไม่ปล่อยซูจี?!?ประท้วงลาม กวาดจับแกนนำต่อต้านข้อหากบฏ จับตาปราบหนักสะเทือนชายแดนไทย!

1480

อุณหภูมิการเมืองในประเทศเมียนมาร้อนระอุมาเกือบสองสัปดาห์แล้ว การชุมนุมต่อต้านยึดอำนาจของกองทัพแผ่ขยายออกไปหลายพื้นที่ ล่าสุดกองทัพแก้กม.อาญา ใครต่อต้านรัฐบาลถือ “เป็นกบฎ” เพิ่มโทษคุกและปรับ ยืดเวลาคุมตัวซูจี คาดว่า กองทัพจะประเมินสถานการณ์ว่าจะปล่อยซูจีรหรือไม่ ก็ไม่สามารถลดแรงกดดันจากม็อบหรือสหรัฐฯ  แต่ไม่ว่าอย่างไร การพยายามโค่นล้มรัฐบาลเฉพาะกาลที่กองทัพหนุนจะดำเนินต่อไป เพื่อบรรลุเป้าหมายสหรัฐและตะวันตก เมื่อกวาดจับแกนนำต่อต้านมากขึ้น ความรุนแรงก็จะเพิ่มขึ้น จับตาผลกระทบชายแดนไทย เรื่องแรงงานพม่าและการส่งออก

 

จากการชุมนุมต่อต้านการยึดอำนาจของกองทัพเมียนมาที่ยังคงคุกรุ่น เพื่อกดดันให้ปล่อยตัว “อองซาน ซูจี” พร้อมสมาชิกอาวุโสพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ที่ถูกทหารควบคุมตัวไว้ โดยการชุมนุมประท้วงมีศูนย์กลางการเคลื่่อนไหวที่เมืองยางกุ้ง และมีแนวโน้มลุกลามไปในหลายพื้นที่ เช่น ฮาคา มัณฑะเลย์ เมทีลา ตองยี เนปิดอว์ ท่าขี้เหล็ก ปยี่นมะน่า เมียวดี ทำให้ความเป็นไปได้ในการควบคุมมวลชนจากกองทัพจะเข้มข้นขึ้นเป็นลำดับ 

วันที่ 14 ก.พ.2564 “สถานีโทรทัศน์ของรัฐ” ประกาศเตือนว่า ในการต่อต้านการยึดอำนาจกองทัพนั้นผิดกฎหมาย ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ป้องกันทำลายเสถียรภาพของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ และหลักนิติธรรม 

ต่อมาวันที่ 16 ก.พ.2564 คณะมนตรีการปกครองแห่งรัฐ เผยแพร่แถลงการณ์เกี่ยวกับการแก้ไขบางมาตราของประมวลกฎหมายอาญา และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วย “พฤติการณ์เข้าข่ายก่อสงครามต่อสหภาพเมียนมา” ซึ่งเกี่ยวกับความมั่นคงภายในประเทศ  ให้ครอบคลุมถึงการปลุกระดม การสนับสนุนหรือสมคบคิดกับกลุ่มบุคคลใด โดยมีเป้าประสงค์เพื่อล้มล้างรัฐบาล และอำนาจตามรัฐธรรมนูญ”ถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง ฐานเป็นกบฏต่อแผ่นดิน”

นอกจากนั้น “การสร้างความเกลียดชัง” และ “การดูหมิ่น” ต่อรัฐบาลเฉพาะกาล และคณะผู้นำ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ไม่ว่าด้วยวาจา ตัวอักษร ภาพ หรือการแสดงกิริยาท่าทาง มีความผิดบทลงโทษคุกขั้นต่ำ 7 ปีสูงสุด 20 ปี หรือทั้งจำและปรับ

ผู้ที่เจตนาสร้างความหวาดกลัวและความตื่นตระหนกในสังคม ซึ่งรวมถึงการเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับ การก่ออาชญากรรมต่อเจ้าหน้าที่รัฐ รับโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี ปรับเงินหรือทั้งจำทั้งปรับ

สถานการณ์การปะทะประปรายระหว่างผู้ชุมนุมและตำรวจเกิดขึ้นที่ เมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยงตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก ตำรวจควบคุมฝูงชนใช้ปืนยิงแก๊สน้ำตา สลายชุมนุม  และกรุงเนปิดอว์ ก็มีการเดินขบวนประท้วง “ตำรวจ” ใช้รถฉีดน้ำสลายเช่นกัน กลายเป็น “เพิ่มเชื้อเพลิง” ยิ่งอาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง

เกิดการปะทะประปรายระหว่างผู้ชุมนุมและตำรวจ เช่น เมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยงตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก ตำรวจควบคุมฝูงชนใช้ปืนยิงแก๊สน้ำตา สลายชุมนุม ในส่วนกรุงเนปิดอว์ ก็มีการเดินขบวนประท้วง “ตำรวจ” ใช้รถฉีดน้ำสลายเช่นกัน กลายเป็น “เพิ่มเชื้อเพลิง” ยิ่งอาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง

สถานการณ์การชุมนุมเมียนมานี้ การข่าวชายแดนไทย-เมียนมา จ.ตาก ให้ข้อมูลว่า สถานการณ์การชุมนุมประท้วงพัฒนายกระดับขยายจำนวนผู้ชุมนุมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มีจุดหลักอยู่ “เขตนครย่างกุ้ง” ศูนย์กลางเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ ทำให้ส่งผลกระทบต่อ “การส่งออกสินค้าไทยชายแดนโดยรวมลดลง 10%” ส่วนใหญ่เป็นประเภทเครื่องอุปโภคบริโภค และน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งปกติจะต้องส่งเข้าไปยังประเทศเมียนมาอาจต้องสะดุดลงชั่วคราว โดยเฉพาะ “รถบรรทุก” ออกจากชายแดนด้านฝั่งเมียวดี ตรงไปยัง “นครย่างกุ้ง” ต้องถูกตรวจค้นอย่างเข้มงวดมากยิ่งขึ้น ซ้ำเติม “ผลกระทบต่อเนื่องจากโควิด-19 ระบาด” เพราะก่อนนี้ “นครย่างกุ้ง” ประกาศ “ล็อกดาวน์” ทำให้การส่งออกสินค้าไทย ค่อนข้างลำบาก ถูกตรวจสอบอย่างละเอียดตามเงื่อนไขเข้มงวด กลายเป็นอุปสรรคต่อต้นทุนค่าขนส่งสูงขึ้น มีผลให้การค้าส่งออกชายแดนแม่สอดหาย 20-30% เมื่อเทียบกับปี 2562

แต่ปัจจุบัน“รถบรรทุกพ่วงสินค้าไทย” ยังเข้าไปใน “นครย่างกุ้ง” ได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 200-300 คันต่อวัน อีกทั้งยังมี “รถบรรทุกพ่วงไทย” เข้าไปรับข้าวโพดในเมียนมาได้ไม่ต่ำกว่า 300 คันต่อวัน สาเหตุเพราะในประเทศขาดแคลนวัตถุดิบข้าวโพอเพื่อนำมาทำอาหารสัตว์นี้อยู่มาก ทำให้ “รัฐบาลไทย” ต้องมีข้อยกเว้นเกี่ยวกับการเก็บภาษีชั่วคราว

สาเหตุต้องคุมเข้มหนักนอกจากการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่แล้ว รัฐบาลเฉพาะกาลเกรงซุกซ่อน “ลักลอบนำอาวุธ” เข้าไปสนับสนุนกลุ่มผู้ชุมนุม เพราะชายแดนเมียวดีเป็นเขตปกครองรัฐกะเหรี่ยง มีชนกลุ่มน้อยอาศัยมาก ในอดีตเคยต่อต้านสู้รบกับรัฐบาลทหารกันอยู่บ่อยๆ

ชนกลุ่มน้อยจะสนับสนุนการชุมนุมหรือไม่นั้น เชื่อว่าจะต้องมีการประเมินเหตุการณ์อย่างรอบคอบก่อนเช่นกัน ทางการเมียนมายังให้ตำรวจเป็นกองกำลังหลักในการควบคุมฝูงชน รักษาความสงบในการการชุมนุม หากมีการชุมนุมยืดเยื้อและเริ่มมีการก่อความรุนแรง เผาทำลายทรัพย์สิน ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพการปกครอง ก็มีความเป็นไปได้ที่ทางการเมียนมาจะใช้กำลังทหารเข้ามาควบคุมแบบเบ็ดเสร็จ ถ้าเกิดขึ้นแนวโน้มผู้ชุมนุมในเมียวดี ทะลักหนีมาในไทยก็อาจเป็นได้ 

ด้านสถานการณ์ระบาดโควิด-19ระลอกใหม่ ในประเทศเมียนมา เริ่มมีแนวโน้มคลี่คลายดีขึ้น สังเกตจากตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงเหลือราว 200 กว่ารายต่อวัน จากเดิม 1,500-2,000 รายต่อวัน  การชุมนุมประท้วงทำให้ประชาชนกลับมารวมตัวกันมากมาย ที่มีการสัมผัสอย่างใกล้ชิดท่ามกลางโรคระบาดเช่นนี้อาจเกิดการแพร่โควิด-19 อย่างรวดเร็ว  ตัวเลขผู้ติดเชื้อจากการชุมนุมอาจเพิ่มขึ้นซึ่งต้องติดตามต่อไป

ด้านการลักลอบเข้าในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย แม้ฝ่ายความมั่นคง ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง สนธิกำลังเฝ้าระวังสกัดกั้นผู้หลบหนีเข้าเมือง ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ด้านฝั่ง จ.ตาก มีระยะ ทาง 550 กม. ก็คงมีผู้ลักลอบเข้ามาตามช่องทางธรรมชาติประปรายสามารถจับกุมได้เฉลี่ยวันละ 10-15 รายต่อวัน ส่วนคนไทยทำงานในเมียนมา ประสงค์กลับเข้ามาในไทย สามารถแจ้งความจำนงมายังหน่วยงานราชการได้ตลอด ซึ่งเจ้าหน้าที่มีการผ่อนปรนเปิดช่องข้ามแดนบริเวณ “สกายคอมเพล็กซ์” ฝั่งเมียวดี ตรงข้ามบ้านท่าอาจ ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก เบื้องต้นกลับเข้ามาแล้ว 300 กว่าคน เข้าสู่การตรวจกักตัวตามระบบ

เมื่อวันจันทร์ที่ 15 ก.พ.2564 สำนักข่าวบีบีซีรายงาน อ้างเว็บไซต์ของกองทัพเมียนมาว่า  ทางการได้แจ้งเตือนกลุ่มผู้ประท้วงทั่วประเทศว่าอาจต้องโทษจำคุก 3-20 ปี หากขัดขวางการปฏิบัติงาน รวมถึงการปลุกระดม หรือยุยงให้ประชาชนรู้สึกเกลียดชังคณะยึดอำนาจ และรัฐบาลเฉพาะกาล ตามประกาศของกองทัพหลายฉบับที่ออกมาในวันเดียวกัน หลังจากระบบอินเทอร์เน็ต และสัญญาณโทรศัพท์มือถือกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องปิดระบบระหว่างเวลา 01.00 – 09.00 น.ของทุกวัน  

ขณะที่กองทัพเคลื่อนย้ายกำลังพลและอาวุธเข้าไปในพื้นที่ที่มีการจัดชุมนุมประท้วง ซึ่งอยู่ในเขตเมืองใหญ่และมีประกาศภาวะฉุกเฉินคุมอยู่ ได้แก่ภาคย่างกุ้ง ภาคมัณฑะเลย์ และกรุงเนปิดอว์ ทำให้ผู้ประท้วงกังวลว่า ทหารอาจสนธิกำลังร่วมกับตำรวจเพื่อปราบปราม และใช้อาวุธหนักต่อกลุ่มผู้ชุมนุมในเร็ว ๆ นี้ พร้อมทั้งมีการเผยแพร่ภาพและวิดีโอความเคลื่อนไหวของกองทัพเมียนมาในสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมาก แม้ว่ารัฐบาลเมียนมายังคงใช้กำลังตำรวจเป็นหน่วยงานหลักในการควบคุมฝูงชนและสลายการชุมนุม 

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่าอูขิ่นหม่องซอ ทนายความของอองซานซูจี ให้สัมภาษณ์ว่า ตำรวจเมียนมาขยายเวลาการควบคุมตัวอองซานซูจีไปจนถึง 17 ก.พ.64 จากเดิมกำหนดถึง 15 ก.พ.64 ข้อหาละเมิดกฎหมายการนำเข้าและส่งออก ฐานครอบครองวิทยุสื่อสารโดยไม่ได้รับอนุญาต

สำหรับการกดดันจากต่างประเทศที่มีสหร้ฐเป็นแกนหลักเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

ในวันพุธที่ 10 ก.พ. 2564สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ลงนามคำสั่งพิเศษบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรกับผู้นำรัฐประหารเมียนมา โดยมุ่งเป้าไปที่ผู้นำกองทัพ, ครอบครัว และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพวกเขา และยึดทรัพย์กองทุนมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐของเมียนมา ที่อยู่ในสหรัฐฯด้วย

ขณะที่องค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) ได้จัดประชุมฉุกเฉินและทางการเมียนมาได้ส่งทูตประจำสหประชาชาติชี้แจงเงื่อนไขความจำเป็นในการยึดอำนาจ และยืนยันว่า เป็นกิจการภายในของประเทศเพื่อผลประโยชน์ในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยให้โปร่งใสและเป็นธรรมอย่างแท้จริง