รฟท.ล้มประมูลร่วมทุนเอกชนศูนย์บางซื่อ!?!พัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์ 3.5 แสนล้าน ให้ทอท.บริหาร ใครได้-ใครเสีย??

1910

กระทรวงคมนาคมสั่งการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท.ปรับแผนบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ใหม่ให้มีกำไร แนะโมเดลของทอท.เป็นทางเลือก ต่อมารฟท.ตัดสินใจล้มประมูลการร่วมทุนเอกชน (PPP) ของที่ดินแปลง A ซึ่งเปิดประมูลมา 2 รอบไม่มีเอกชนสนใจ ขณะเดียวกันพับผลวิจัยของไจก้าเรื่อง การพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์ 9 แปลง 2,352 ไร่มูลค่า 3.5 แสนล้านบาท เล็งดึงทอท.ร่วมทำแผนการเปิดประมูลสรรหาเอกชนลงทุนบริหารพื้นที่ภายในอาคารผู้โดยสารสถานีกลางบางซื่อทั้งหมด ภายในมิ.ย.นี้  จับตาการประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ในเม็กกะโปรเจกต์มูลค่าหลายแสนล้านบาท เอกชนรายได้จะได้เข้าวิน?

วันที่ 28 ม.ค.2564 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยหลังลงพื้นที่ตรวจความพร้อมและทดสอบระบบสถานีกลางบางซื่อ และรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ของการรถไฟแห่งประเทศ ไทย (รฟท.) ก่อนที่จะเปิดให้บริการในเดือน มี.ค. ว่า ได้กำชับให้ รฟท.ปรับปรุงพื้นที่สถานีทุกแห่ง ให้มีความพร้อม เพื่อเริ่มเดินรถ ทดสอบเสมือนจริงเดือน มี.ค., เริ่มเปิดให้ประชาชนทดลองใช้ฟรี เดือน ก.ค., เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์เดือน พ.ย.นี้

สำหรับเรื่องการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ของสถานีกลางบางซื่อที่มีพื้นที่ใช้สอย 298,200 ตารางเมตร จากแผนเดิมที่ รฟท.เสนอมาว่า ก่อนจะมีการประกวดราคาหาเอกชนมาบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่คาดว่าจะใช้เวลา 3-4 ปี ทำให้จากนี้ไปจนถึงปี 2567 รฟท.จะเป็นผู้บริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่ได้กำหนดว่าจากนี้ไปจนถึงปี 2567 จะมีค่าใช้จ่ายในการเดินรถ และบริหารพื้นที่ 1,440 ล้านบาท แต่สามารถหารายได้ได้เพียง 200 ล้านบาท เมื่อแผนเป็นแบบนี้ ถือว่าขาดทุน จึงให้ไปปรับแผนใหม่ที่ต้องไม่ขาดทุนไม่เป็นภาระกับรัฐบาลที่ต้องนำเงินมาอุดหนุน และได้สั่งการให้คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.หารือผู้บริหารจัดทำแผนให้เสร็จใน 1 สัปดาห์ มาเสนอให้ปลัดกระทรวงคมนาคมพิจารณา

“ปี 2564-2567 รฟท.ต้องหารายได้จากสถานีกลางบางซื่อที่ใช้เงินลงทุน 30,000 ล้านบาท ก่อนที่เอกชนจะเข้ามาบริหารพื้นที่แบบ PPP หรือ การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน คือต้องหารายได้เฉลี่ยปีละ 400 ล้านบาท เพื่อไม่ให้ขาดทุน ที่ผ่านมาหน่วยงานในสังกัดกระทรวง เช่น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ก็มีประสบการณ์ในการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบิน จึงสามารถนำเอาความรู้มาปรับใช้ในการ บริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ของสถานีกลางบางซื่อได้”

“สถานีกลางบางซื่อมีระบบรางที่ให้บริการในสถานที่เดียวกันหลายระบบ ทั้งรถไฟชานเมือง รถไฟสายไกล รถไฟฟ้าความเร็วสูง รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน จึงต้องใช้ประโยชน์สถานีกลางบางซื่อให้คุ้มค่ามากที่สุด เพื่อให้เป็นศูนย์กลางทางรางของอาเซียน ส่วนสถานีหัวลำโพงได้ให้ไปพิจารณาว่าควรใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างไร ผมก็อยากให้เป็นแลนด์มาร์กที่สำคัญของประเทศไทย” รมว.กระทรวงคมนาคมกล่าว

ต่อมาเมื่อวันที่ 8 ก.พ.2564 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้แถลงข่าวกับสื่อมวลชนถึงการปรับแผนพัฒนาเชิงพาณิชย์ สถานีกลางบางซื่อ โดยเสนอว่าจะใช้โมเดล ทอท. เตรียมจัดสรรพื้นที่ให้สัมปทานบริหารเชิงพาณิชย์ คาดว่าจะมีกำไรตั้งแต่ปีแรก โดยแจงว่า การเปิดประมูลที่ดินแปลง Aในรูปแบบสรรหาเอกชนร่วมลงทุน (PPP) ตามพ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2556 ทำมาแล้ว 2 ครั้ง ปรากฏไม่มีเอกชนราใดให้ความสนใจ เป็นไปได้ว่าที่ดินแปลงดังกล่าวไม่เป็นที่สนใจของนักลงทุน เพราะสาธารณูปโภคไม่เชื่อมโยงกับถนนสายหลัก และรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งรฟท.ยอมรับว่าที่ดินมีข้อด้วยนี้จริง ทั้งมีขนาดเล็กและไม่ติดต่อกันเป็นผืนเดียว ทำให้อาจล่าช้าและไม่คุ้มทุน

รฟท.จึงเลือกทางออกที่ล้มประมูลเอกชนที่ดินแปลง A และจัดทำแผนพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์รอบสถานีกลางบางซื่อ 9 แปลง เนื้อที่ 2,352 ไร่ ให้เช่าระยะยาว เหมือนกับแปลงรัชดาภิเษกเนื้อที่ 186 ไร่ที่ประสบความสำเร็จ พร้อมทั้งยกเลิกแผนแม่บทของไจก้า (องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น) วางแผนพัฒนาระยะ 15 ปี (2560-2575) วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งมองว่าวงเงินสูงอาจไม่มีเอกชนสนใจเหมือนที่ดินแปลง A

รายงานข่าวจากรฟท.เปิดเผยว่า การบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อพื้นที่ 129,400 ตารางเมตรจะยึดโมเดลของทอท.ตามที่รมว.คมนาคม นายศักดิ์สยามชิดชอบแนะนำ และสั่งให้ปรับแผนใหม่ เพราะแผนเดิมทำให้ขาดทุน ทั้งนี้ทอท.จะเข้ามาช่วยศึกษาแนวทางการให้สัมปทานเอกชน เพื่อบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ต่อไป