สินค้าเกษตรไทยเนื้อหอม!?! ส่งออกรุ่งสวนโควิด ก.พาณิชย์-เกษตร ดันปี 64 ขยายตัว 4% มูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท

1907

ปี 2563 ทั่วโลกต่างต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด – 19 แต่การค้าสินค้าเกษตรไทยในปี 2563 ยังถือว่ามีทิศทางที่ดี และแม้จะมีการระบาดระลอกใหม่ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลควบคุมในขอบเขตดูแลได้ และผู้บริโภคเริ่มปรับตัว ขณะที่หลายประเทศได้ผ่อนคลายความเข้มงวดของมาตรการนำเข้าสินค้ามากขึ้น ความพร้อมของไทยในการควบคุมการแพร่ระบาด ส่งผลดีทำให้ไทยมีโอกาสและแนวโน้มในการส่งออกเพิ่มขึ้นไปด้วย

 

 

 

วันที่ 11 ก.พ.2564 นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2563 ที่ผ่านมา ทำให้ภาพรวมการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ลดลง 3.2% เมื่อเทียบกับปี 2562 โดยหากพิจารณาเฉพาะการค้าระหว่างไทยกับประเทศที่ไทยทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไม่รวมอาเซียน พบว่า การส่งออกสินค้าเกษตรของไทย กลับมีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.2% คิดเป็นมูลค่า 490,726 ล้านบาท และไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า เพิ่มขึ้น 3.7% ตลาดส่งออกที่ขยายตัวมากที่สุด ได้แก่ จีน ฮ่องกง เปรู ชิลี นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย

สำหรับสินค้าเกษตรที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น ผลไม้สด มูลค่า 83,576 ล้านบาท เนื้อไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง มูลค่า 27,789 ล้านบาท มันสำปะหลัง มูลค่า 21,626 ล้านบาท ผลไม้แช่แข็ง มูลค่า 6,993 ล้านบาท ปลาสด/แช่เย็น/แช่แข็ง มูลค่า 4,358 ล้านบาท และ สุกรสด/แช่เย็น/แช่แข็ง มูลค่า 3,273 ล้านบาท เป็นต้น

นางเบญจวรรณ ศิริโพธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวว่า การค้าสินค้าเกษตรกับอาเซียน 9 ประเทศ ปี 2563 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 พบว่า การค้าขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.80% มีมูลค่าการค้ารวม 421,977 ล้านบาท แต่การส่งออกลดลง 5.75% โดยไทยยังคงได้เปรียบดุลการค้า คิดเป็นมูลค่า 171,334 ล้านบาท

และไทยส่งออก อันดับ 1 ไปเวียดนาม รองลงมาคือ มาเลเซีย และ กัมพูชา สินค้าเกษตรส่งออกส่วนใหญ่เป็นสินค้า ที่กักเก็บได้และไม่เน่าเสียง่าย ได้แก่ 

-น้ำตาล มูลค่า 47,493 ล้านบาท 

-เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เช่นนมยูเอชที นมถั่วเหลือง มูลค่า 47,103 ล้านบาท -ของปรุงแต่งเช่นครีมเทียม ซอสปรุงรส น้ำปลา น้ำมันหอย มูลค่า 25,214 ล้านบาท 

-ยางพาราธรรมชาติ มูลค่า 23,271 ล้านบาท และ 

-สัตว์มีชีวิต อาทิ สุกร มูลค่า 23,102 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การค้าสินค้าเกษตรไทยเกิดความยืดหยุ่น อาจพิจารณาหาตลาดทดแทนและส่งเสริมการบริโภคในประเทศให้มากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ โดยในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้เน้นปรับการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่เก็บรักษาได้นาน และได้กำชับทุกหน่วยงาน หารือร่วมกับภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการ ในการควบคุมสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่การผลิตให้ได้คุณภาพ มาตรฐาน ปลอดภัยไร้การปนเปื้อนของเชื้อโรค สอดรับแนวทางการปฏิบัติการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของ FAO เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคและประเทศคู่ค้าต่าง ๆ

ด้านกระทรวงพาณิชย์ ทั้ง สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เห็นสอดคล้องกันว่า สำหรับการส่งออกในปี 2564 มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นแน่ และเบื้องต้นคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการขยายตัวที่ 4% ซึ่งสอดคล้องกับหลายหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ประเมินเอาไว้ตรงกัน

โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าปี 2564 เศรษฐกิจโลกจะมีอัตราการขยายตัวที่ 5.2% จากติดลบที่ 4.4% ในปี 2563 โดยประเทศกำลังพัฒนาในกลุ่ม Emerging Markets ในเอเชีย (จีน อินเดีย และอาเซียน 5 ประเทศ) จะมีการฟื้นตัวเร็วที่สุดเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ และองค์การการค้าโลก (WTO) คาดว่าการค้าโลกในปี 2564 จะสามารถกลับมาขยายตัวที่ 7.2% ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยที่จะสนับสนุนการส่งออกของไทยให้ฟื้นตัวขึ้นได้ (ดูตารางประกอบ)

สินค้า-บริการที่มีศักยภาพและมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีในปี 2564 ยังคงเป็นสินค้าที่อยู่ใน 3 กลุ่มหลัก ที่ได้รับอานิสงส์จากสถานการณ์โควิด-19 ได้แก่

  1. สินค้าอาหาร เช่น อาหารกระป๋องและแปรรูป ผลไม้ เครื่องปรุงรส
  2. สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องโทรสารโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ เครื่องซักผ้า เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน อาหารสัตว์เลี้ยง
  3. สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด ได้แก่ ถุงมือยาง รวมถึง สินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพและสุขอนามัย

ส่วนธุรกิจบริการที่มีศักยภาพ ได้แก่ ดิจิทัลคอนเทนต์ (เกม แอนิเมชัน คาแรกเตอร์ ซอฟต์แวร์ โฆษณา post production ภาพยนตร์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง) บริการสุขภาพ (สปา โรงพยาบาล คลินิกเฉพาะทาง ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพความงาม ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ) และโลจิสติกส์ (trade logistics)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในต่างประเทศรวมถึงไทยจะยังไม่คลี่คลาย แต่ความหวังในเรื่องวัคซีน มาตรการปิดเมืองที่มีความเข้มงวดน้อยลงเมื่อเทียบกับการระบาดรอบก่อนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแต่ละประเทศที่ออกมาเพิ่มเติมส่งผลให้ส่งออกไทยในเดือนธ.ค.2563 พลิกกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 8 เดือน โดยขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.71 YoY จากเดือนพ.ย. 2563 ที่หดตัวร้อยละ 3.65 YoY โดยการส่งออกสินค้าเกษตรฯและอุตสาหกรรมเกษตรในเดือนธ.ค.กลับมาขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.1 YoY จากที่หดตัวร้อยละ 2.4 YoY ในเดือนพ.ย. ด้านสินค้าอุตสาหกรรมในเดือนธ.ค. พลิกกลับมาขยายตัวเช่นกันอยู่ที่ร้อยละ 6.7 YoY จากที่หดตัวร้อยละ 2.9 YoY ในเดือนพ.ย.

แม้ว่าในเดือนธ.ค. สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะมีแนวโน้มรุนแรงในหลายประเทศ ส่งผลให้บางประเทศเริ่มกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์ข้ามช่วงเทศกาลปีใหม่มา โดยเฉพาะในประเทศแทบยุโรป แต่ปัจจัยดังกล่าวไม่ได้กระทบต่อภาคส่งออกของไทย โดยตลาดส่งออกหลักของไทยยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องจากเดือนก่อน

สำหรับทิศทางการส่งออกของไทยในปีนี้ยังเผชิญความไม่แน่นอนอีกหลายปัจจัย ทั้งความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และค่าระวางเรือที่สูงขึ้น รวมถึงแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท ท่ามกลางปัจจัยกดดันที่กล่าวมาข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงประเมินทิศทางการส่งออกไทยในปี 2564 ว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.0