และแล้วก็เป็นไปตามคาด ที่ถึงคิวทรราชย์สหรัฐยื่นหน้าเข้ามาบีบบังคับไทย โดยที่ปรึกษาความมั่นคงไบเดน จี้เลขาสมช.เรื่องไทยใช้มาตรา 112 ละเมิดสิทธิมนุษยชนกำหราบม็อบล่มชาติ ขู่ว่าปธน.โจ ไบเดนกังวลหนักเรื่องรัฐประหารพม่า ขอให้ไทยแสดงท่าที ส่วนไบเดนลงนามคำสั่งพิเศษประธานาธิบดี อายัดทรัพย์สินผู้นำกองทัพเมียนมาครอบครัวและเครือข่ายธุรกิจกองทัพ เช่นเดียวกับที่ตอบโต้จีนใช้กฎหมายความมั่นคงควบคุมเสรีภาพบ้าคลั่งของสมุนบริวารสหรัฐในฮ่องกง ขณะสหรัฐ-ฝรั่งเศส-อังกฤษ เอากองเรือรบประจำการทะเลจีนใต้ใกล้อ่าวไทย เป็นการดำเนินการตามคำประกาศของรมว.ต่างประเทศที่ว่า การทูตที่มีประสิทธิภาพต้องมีกองทหารสนับสนุน
เรื่องพม่าก็ว่ากันไป เมื่อนายกฯพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชายืนยันว่าไทยจะยึดถือกฎบัตรอาเซียนไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน แต่เรื่อง มาตรา 112 บังอาจมาเคี่ยวเข็ญไทยให้ตามใจอันธพาลโลกนั้น คงเป็นไปไม่ได้ ขณะที่ทั่วโลกต่างมีกฎหมายคุ้มครองประมุข แล้วทำไมประเทศไทยจะคุ้มครองพระประมุข สถาบันหลักของชาติไม่ได้ ทำแบบนี้ท้าทายและหมายขยี้หัวใจคนไทยส่วนใหญ่มากกว่าหวังดี
เมื่อวันจันทร์ที่ 8 ก.พ.2564 นายเจค ซัลลิแวน (Jake Sullivan) ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ ของนาย โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แสดงความกังวลถึงสถานการณ์ในเมียนมา รวมทั้งในประเทศไทยเรื่องมาตรา 112
แถลงการณ์จากโฆษกที่ปรึกษาความมั่นคง ระบุว่า ได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับ พล.อ. ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช ได้เน้นย้ำถึงความเป็นพันธมิตรที่แน่นแฟ้นระหว่างสหรัฐฯและไทยที่มีมายาวนาน บนพื้นฐานในการสร้างความสงบสุขและเสถียรภาพในภูมิภาค แต่ได้แสดงความกังวลถึงเหตุจับกุมผู้ประท้วงในประเทศไทย รวมทั้งการจับกุมและดำเนินคดีกับประชาชน ในความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา
ท่าทีของสหรัฐฯ ต่อสถานการณ์ในประเทศไทย มีขึ้นในวันเดียวกันกับที่กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ แสดงความไม่เห็นด้วยกับกรณีที่ทางการไทยใช้กฎหมาย ม.112 กับประชาชนมากขึ้น
กรณีบทลงโทษ และกฎหมายคุ้มครองผู้นำประเทศและประมุขของรัฐในแต่ละประเทศ เป็นทั้งกฎระเบียบ และวัฒนธรรมประเพณีที่มีมาช้านาน แม้สหรัฐก็มี แล้วเหตุใดจึงเจาะจงเฉพาะ มาคุกคามพระมหากษัตริย์ไทย ศูนย์รวมใจไทยทั้งชาติ
ที่สหรัฐฯก็มีคดีละเมิดผู้นำและถูกลงโทษเช่นกัน เช่น
-ปี 2010 ศาลมลรัฐเคนตั๊กกี พิพากษาจำคุกนายจอห์นนี โลแกน สเปนเซอร์เป็นเวลา 33 เดือนด้วยข้อหานายสเปนเซอร์เขียนบทกวีข่มขู่อดีตปธน.บารัค โอบามา
-ปี 2018 ศาลแขวงสหรัฐสั่งจำคุกนายเจอรอด ฮันเตอร์ ชมิดท์วัย39ปี เป็นเวลา 37 เดือน หลังโทรไปสำนักงานเสมียนของศาลและขู่ฆ่าอดีตปธน.ทรัมป์
-ปี 2019 ขณะที่เด็กวัยรุ่นอังกฤษส่งอีเมล์ไปยังทำเนียบขาวตอนเมา เรียกประธานาธิบดีเป็นอวัยวะเพศชาย ถูกห้ามเดินทางเข้าสหรัฐฯ ตลอดชีวิต
ส่วนประเทศอื่นๆก็มีเช่นกันดังนี้:
–ประเทศสเปน นิตยสาร El Jueves ลงบทความเสียดสีล้อเลียนพระมหากษัตริย์ของสเปน ถูกศาลสั่งปรับเป็นเงิน 3,000 ยูโร หรือ 120,000 บาท
–ประเทศเนเธอร์แลนด์ ชายวัย 44 ปีรายหนึ่ง โพสต์เฟซบุ๊กหมิ่นพระมหากษัตริย์ ถูกพิพากษาจำคุก 30 วัน ภายใต้กฎหมายยุคศตวรรษที่ ๑๙ โทษฐานดูหมิ่นองค์พระมหากษัตริย์
–ประเทศกัมพูชา ชายคนหนึ่งถูกตัดสินจำคุก 3 ปี จากการโพสต์บนเฟซบุ๊กหมิ่นสถาบันกษัตริย์
–ประเทศมาเลเซีย ในปี 2013 Melissa Gooi และเพื่อนอีก 4 คน ถูกจับในข้อหาดูหมิ่นราชวงศ์ และถูกคุมขัง 22 วัน
–ประเทศโมร็อกโก มีชาวโมร็อกโกถูกดำเนินคดีจากการเขียนข้อความล่วงละเมิดต่อพระมหากษัตริย์ จำคุก 1 ปี ถือว่าเป็นบทลงโทษขั้นต่ำ แต่หากนำบทความนั้นไปเผยแพร่ จะต้องถูกจำคุกไม่ต่ำกว่า 3 ปี
ประเทศโมร็อกโก คดีของ Yassine Belassal และ นัสเซอร์ อาฮ์เหม็ด(Nasser Ahmed) อายุ 95 ปีซึ่งเสียชีวิตในคุกหลังจากถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์
ยูทูบเบอร์ชื่อดังชาวโมร็อกโก ถูกสั่งจำคุก 4 ปี และปรับราว 40,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (120,000 บาท) หลังศาลตัดสินให้เขามีความผิดฐานหมิ่นประมาทสมเด็จพระราชาธิบดีโมฮัมเหม็ดที่ 6 แห่งโมร็อกโก
เห็นไหมว่า ในโลกนี้ทุกประเทศล้วนมีกฎหมายปกป้องประมุข ระดับคนธรรมดายังมีกฎหมายคุ้มครอง แล้วเหตุใดจึงเจาะจงเปิดทางให้พวกอคติเกลียดชังมาคุกคามประมุขของประเทศอื่น สหรัฐยกเลิกกฎหมายปกป้องประธานาธิบดีเสียก่อนค่อยมาบังคับประเทศอื่น มิเช่นนั้นอาจหมายความว่าจงใจมุ่งร้ายต่อพระประมุขของประเทศไทย หรือเปล่า??
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำเนียบขาวระบุว่า ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ ได้ต่อสายตรงกับเอกอัครราชทูตของประเทศในกลุ่มอาเซียน และแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ในเมียนมา และได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการช่วยเหลือในกลุ่มอาเซียนเพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตยให้กลับคืนสู่เมียนมา กล่าวคือการผลักดันให้อาเซียนละเมิดกฏบัตรอาเซียนที่ให้เคารพอธิปไตยและห้ามแทรกแซงกิจการภายในของกันและกันใช่หรือไม่? รัฐบาลไทยต้องยืนหยัดจุดยืนเป็นกลางและยึดมั่นกฎบัตรอาเซียนเป็นสำคัญ
ในขณะเดียวกัน โจ ไบเดนปธน.สหรัฐฯ ได้ลงนามคำสั่งพิเศษประธานาธิบดีอายัดทรัพย์สินผู้นำกองทัพเมียนมาครอบครัวและเครือข่ายธุรกิจกองทัพแล้ว
เมื่อวันที่ 10 ก.พ.2564 สำนักข่าวเอพีและรอยเตอร์รายงานว่า ปธน.ไบเดน ของสหรัฐฯ ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารให้กำหนดมาตรการลงโทษผู้นำกองทัพที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารในเมียนมา พร้อมเครือข่ายธุรกิจและครอบครัว โดยอายัดทรัพย์สินที่เอื้อประโยชน์ต่อกองทัพเมียนมามูลค่าประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสหรัฐฯ จะมีมาตรการลงโทษอื่น ๆ เพิ่มเติมต่อผู้นำกองทัพเมียนมา เพื่อกดดันให้กองทัพเมียนมาสละอำนาจที่ยึดครอง เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้นำประชาธิปไตยและนักกิจกรรมในเมียนมา ทั้งนี้ สหรัฐฯ จะยังคงสนับสนุนด้านสาธารณสุขและภาคประชาสังคม ให้แก่ประชาชนชาวเมียนมาได้ประโยชน์โดยตรง ตลอดจนจะขอให้นานาชาติร่วมมือกับสหรัฐฯ กดดันเมียนมา
ล่าสุดสถานการณ์ในเมียนมา ตึงเครียดยิ่งขึ้น เมื่อการชุมนุมยืดเยื้อมาถึง 5 วันแล้วตำรวจปราบจลาจลของเมียนมาเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงที่ละเมิดคำสั่งเคอร์ฟิว โดยเฉพาะในกรุงเนปิดอว์ในวันอังคาร(10 ก.พ.2564) เจ้าหน้าที่ตำรวจยิงปืนเตือนขึ้นฟ้า รวมทั้งยิงกระสุนยางและปืนฉีดน้ำแรงดันสูงเข้าใส่กลุ่มผู้ประท้วง ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 2 ราย แพทย์รายหนึ่งซึ่งเข้าให้ความช่วยเหลือผู้ประท้วงที่โรงพยาบาลในกรุงเนปิดอว์ บอกกับผู้สื่อข่าววีโอเอ ภาคภาษาพม่า ว่า ผู้ประท้วง 2 รายได้รับบาดเจ็บจากสิ่งที่เชื่อว่าเป็นกระสุนปืนจริง
ขณะที่การเมืองการทูตของตะวันตกเข้มข้นกดดันไทยและอาเซียน การเคลื่อนไหวทางทหารในน่านน้ำทะเลจีนใต้ ยิ่งเป็นที่น่าจับตา ทั้งสหรัฐ-ฝรั่งเศส-อังกฤษ พากันส่งเรือพิฆาต บรรทุกเครื่องบินประจำการ อยู่ไม่ไกลจากอ่าวไทย สถานการณ์เช่นนี้ใครที่บอกว่า สมัยใหม่ไม่มีใครทำสงครามกันแล้วต้องคิดใหม่ อย่าให้ประวัติศาสตร์ซ้ำร้อย??
“การทูตที่มีประสิทธิภาพต้องมีกองทหารสนับสนุน” แอนโทนี บลิงเคลน รมว.กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ กล่าวไว้ในวุฒิสภา มกราคม 2564