แบงค์ ปติวัฒน์ไม่ใช่แค่หมอลำ อดีตนศ.เคยติดคุกคดีม.112ได้รับพระราชทานอภัยโทษแต่ไม่สำนึก?

4330

จากการที่4แกนนำม็อบไม่ได้ประกันตัวเพราะศาลเห็นว่าเป็นการกระทำความผิดซ้ำซาก ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวต่างๆมากมายจากฝ่ายต่อต้านสถาบัน บางคนพบว่าเคยกระทำผิดทั้งยังได้ขอพระราชทานอภัยโทษมาแล้วด้วย

ซึ่งจากที่สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ชี้แจงถึงการสั่งคดีนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน , นายอานนท์ นำภา , นายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือ หมอลำแบงค์ และนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ต้องหาที่ 1- 4 ซึ่งเป็นแกนนำและแนวร่วมกลุ่มราษฎร ซึ่งทั้งหมดคดีมี 2 สำนวน เรื่องแรก คดีชุมนุมม็อบเฟสมีผู้ต้องหารายเดียว คือนายพริษฐ์ ข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตาม ป.อาญา ม.112 , ยุยงปลุกปั่นฯ ตาม ป.อาญา ม.116 และชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 7 ได้มีคำสั่งฟ้องทั้ง 3 ข้อหา

ส่วนอีก 1 สำนวน คือ คดีชุมนุม ระหว่างวันที่ 19-20 ก.ย. 2563 ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์-สนามหลวง ได้กล่าวหาผู้ต้องหาทั้งสี่ ในข้อหาตาม ม.112 , ม.116 , ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ ป.อาญา ม.215, ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ , ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ , กีดขวางทางสาธารณะฯ , ร่วมกันกีดขวางการจราจรฯ , ตั้งวางวัตถุบนถนนอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายฯ , ทำลายโบราณสถานฯ , ทำให้เสียทรัพย์ฯ และร่วมกันโฆษณาเครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ รวม 11 ข้อหา พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 7 สั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสี่ทุกข้อหา

จากนั้นพนักงานอัยการคดีอาญา 7 ได้นำตัวนายพริษฐ์ ,นายอานนท์ ,นายสมยศ และหมอลำแบงค์  มายื่นฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลอาญา โดยยื่นฟ้องรวม  2 สำนวน โดยทนายความจำเลยทั้งสี่ ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสด โดยศาลพิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหา และพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูง พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำซ้ำๆ ต่างกรรมต่างวาระตามข้อหาเดิมหลายครั้งหลายครา กรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวพวกจำเลยจะไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกันอีก ในชั้นนี้จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวยกคำร้อง จากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้นำตัวนายพริษฐ์กับพวกทั้งหมดไปคุมขังไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ

ขณะที่ นายปติวัฒน์ เปิดเผยด้วยว่า การโดน ม.112 ของตนเป็นครั้งที่ 2 ในชีวิต ครั้งแรกประมาณปี 2557 ครั้งนี้ถูกแจ้งจากเหตุการณ์วันที่ 19 ก.ย. 2563 ที่ตนปราศรัยขอเป็นตัวแทนยื่น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และไม่กังวลเรื่องการถูกขัง เตรียมหลักทรัพย์ประกันมาครึ่งล้าน

ล่าสุดวันนี้ 10 กุมภาพันธ์ 2564 เฟซบุ๊ก ซึ่งต้องพิสูจน์ ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีหมอลำแบงค์ ไว้อย่างน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่าหลายสื่อพาดหัว  4 เเกนนำ ศาลไม่ให้ประกัน นอนคุก จากคดี ม.112 ม.116โดย ระบุ 1 ใน 4 คือ “หมอลำแบงค์”

ตรวจสอบ “ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม” หรือ “เเบงค์” เขาไม่ใช่เเค่ “หมอลำ” เเต่เป็น“อดีตนักโทษ ม.112” จากการเเสดงละครหมิ่นสถาบัน เมื่อปี56 ในงานรำลึก 40 ปี เหตุการณ์ ตุลา16 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โดย “ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม”  ถูกจับตัวเมื่อสิงหาคม 57 โดยศาลสั่งจำคุก 5 ปี  เเต่จำเลยรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงเหลือที่จำคุก 2 ปี 6 เดือน เมื่อตุลาคม 58

ในวันที่ 8 สิงหาคม 2559 มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ 2559  โอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี และในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 ส.ค. 2559 ของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

“ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม”  ก็ได้รับสิทธิพระราชทานอภัยโทษด้วยเช่นกัน จึงได้รับการปล่อยตัวก่อนกำหนด 55 วัน

อย่างไรก็ตามทำให้ทีมข่าวเดอะทรูธ ต้องตรวจสอบถึงที่มาของคดีหมิ่นสถาบันของหมอลำแบงค์ว่าเท็จจริงอย่างไร เกี่ยวข้องกับเรื่องอะไรก็พบว่า วันที่ 23 ก.พ. 2558  ที่ห้องพิจารณาคดี 813 ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.3526/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม อายุ 24 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และน.ส.ภรณ์ทิพย์ มั่นคง หรือ กอล์ฟ ประกายไฟ อายุ 27 ปี นักเคลื่อนไหวทางสังคม และอดีตผู้ประสานงานกลุ่มประกายไฟการละคร จำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐาน ร่วมกันดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

คดีนี้อัยการโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสอง เมื่อวันที่ 24 ต.ค.57 บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 13 ต.ค.56  จำเลยกับพวก ร่วมกันแสดงละครเวทีเรื่อง “เจ้าสาวหมาป่า” ในงานรำลึก 40 ปี 14 ตุลาฯ ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งมีบทละครที่มีข้อความเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ ทำให้ผู้ได้รับฟังเข้าใจความหมายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ อันเป็นการลบหลู่ ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย เหตุเกิดที่แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนครจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ

 

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยทั้งสองกระทำผิดตามมาตรา 112 ประกอบมาตรา 83 ให้ลงโทษจำคุกคนละ 5 ปี จำเลยทั้งสองรับสารภาพมีเหตุให้บรรเทาโทษ เห็นควรลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุกคนละ 2 ปี 6 เดือน เมื่อสืบเสาะพฤติการณ์ของจำเลยแล้ว แม้จำเลยจะไม่เคยกระทำผิดมาก่อน แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นการแสดงละครดูหมิ่นจาบจ้วงต่อหน้าประชาชนจำนวนมาก อีกทั้งมีการเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ ทำให้เสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพของปวงชนชาวไทย ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ร้ายแรง ไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ

โดยยอมรับคำพิพากษา ซึ่งนายปติวัฒน์ เปิดเผยสั้นๆว่า “ไม่ขออุทธรณ์คดีต่อ” ขณะที่น.ส.ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวภายหลังฟังคำพิพากษาว่า จะไม่มีการยื่นอุทธรณ์ เนื่องจากเป็นความต้องการของจำเลยเอง ซึ่งตนได้พูดคุยกับพ่อแม่และจำเลยทั้งสองถึงแนวทางการต่อสู้คดีว่า หากรับสารภาพจะเป็นประโยชน์อย่างไรบ้าง ซึ่งจำเลยทั้งสองก็เห็นควรจึงรับสารภาพเพื่อให้คดีจบอย่างรวดเร็ว ส่วนการยื่นเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษจำเลยต้องถูกจำคุกไปแล้วระยะเวลาหนึ่งจึงจะยื่นเรื่องขอได้ ขณะนี้ทั้งสองคนถูกจำคุกมาแล้วประมาณ 7 เดือน และก่อนหน้านี้ได้ยื่นประกันจำเลยมาแล้ว 5 ครั้ง แต่ศาลไม่อนุญาต

อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าในวันดังกล่าวนี้ ในการอ่านคำพิพากษามีทั้งญาติมิตร นักกิจกรรม สื่อมวลชนทั้งไทย และต่างประเทศ ร่วมสังเกตการณ์การพิจารณาคดี รวมทั้งตัวแทนจากสถานทูต ทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป แคนาดา และออสเตรเลียมาร่วมสังเกตการณ์ด้วย

นอกจากนี้ทีมข่าวเดอะทรูธ ยังตรวจสอบต่อไปก็พบว่า วันที่ 12 สิงหาคม 2559 นายปติวัฒน์ ได้รับการปล่อยตัว โดยกำหนดการปล่อยตัวเดิม คือ วันที่ 6 ต.ค. แต่เนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี และในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 ส.ค. 2559 ของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จึงได้รับการปล่อยตัวก่อนกำหนด 55 วัน