และแล้วปัญหาเรื่อง การยื้อต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ยังคงไม่มีคำตอบจากรัฐบาล ขณะที่กทม.ซึ่งแบกหนี้อ่วม อาจเสี่ยงล้มละลายได้ เพราะเป็นหนี้ค่าจ้างบริหาร BTS กว่า 3 หมื่นล้านบาทที่ต้องชำระในวันที่ 1 เม.ย.นี้ เมื่อรวมหนี้ที่โอนจาก รฟม.กว่า 6 หมื่นล้าน ยังไม่รวมดอกเบี้ย ทำให้มูลค่าหนี้รวมสูงกว่า 1 แสนล้านบาท และยังหาทางออกไม่ได้ เพราะการยื้อตัดสินเรื่องการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า จะเลือกข้อสรุปอย่างไร จะไปต่อแบบไหน ยังค้างเติ่ง
ก่อนหน้านี้มูลนิธิผู้บริโภคเข้าร้องเรียน นายกฯ ขอให้กทม.ระงับเก็บค่าโดยสาร สีเขียวตลอดสาย 104 บาท กทม.ต้านไม่ไหวประกาศชะลอไม่มีกำหนด และล่าสุด นายกฯแค่กล่าวขอบคุณกทม.และมหาดไทย ที่เลื่อนการเก็บค่าโดยสารใหม่ตามคำขอ แต่ไม่แสดงท่าทีจะแก้ปัญหา จับตาหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ คาดอาจมีคำตอบที่รอคอย
วันที่ 8 ก.พ.2564 พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) ได้ลงนามในประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องการกำหนดค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวโดยระบุว่า ตามที่ได้มีประกาศเมื่อวันที่ 15 ม.ค.2564 จัดเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในอัตราไม่เกิน 104 บาทตลอดสายตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ.2564 เป็นต้นไป นั้น
กทม.ได้รับนโยบายจากรัฐบาลให้พิจารณาทบทวนอัตราค่าโดยสารต่ำประกาศ โดยให้คำนึงถึงภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและภาระของกรุงเทพมหานคร ให้เกิดความเหมาะสม ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยร่วมหารือแนวทางในการดำเนินการกับสภาก็ทำมอเพื่อลดผลกระทบดังกล่าว อาศัยอำนาจตามความในข้อสี่แห่งข้อบัญญัติแห่งกรุงเทพมหานคร เรื่องค่าบริการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร 2552 จึงให้เลื่อนการจัดเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง การกำหนดค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ลงวันที่ 15 มกราคม 2564 ออกไปก่อน
เมื่อเร็วๆนี้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอขชา ขอเรียกร้องให้ออกคำสั่งกทม.ทบทวนการเรียกเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว 104 บาท แพงเกินไป และให้เปิดเผยรายละเอียดสัญญาสัมปทานการเดินรถไฟฟ้าทุกเส้นทางต่อสาธารณะด้วย
ทั้งนี้ขอให้พิจารณาปรับเปลี่ยนอัตราค่าโดยสารใหม่ ให้อยู่ในอัตราที่ไม่เกินร้อยละ 10 ของค่าแรงขั้นต่ำ รวมทั้งเรียกร้องให้ชะลอการต่อสัญญาสัมปาน ให้กับบริษัทเอกชน ตลอดจนเปิดเผยรายละเอียดของสัญญาสัมปทานการเดินรถไฟฟ้าทุกเส้นทางในปัจจุบันต่อสาธารณะ จนกว่าจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย นอกจากนี้ ขอให้นายกฯ นำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในทันที ก่อนที่จะมีการปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว
ต่อมาในวันนี้ (10 ก.พ.2564) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊กโดยมีข้อความระบุว่า “ตามที่ทางกรุงเทพมหานครได้ออกประกาศ เลื่อนการเก็บค่าตั๋วรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีเขียว 104 บาทตลอดสายออกไปก่อน หลังจากที่ได้รับนโยบายจากรัฐบาลให้พิจารณาทบทวนโดยให้คำนึงถึงภาระค่าใช้จ่ายของพี่น้องประชาชนท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้น ผมขอขอบคุณกรุงเทพมหานคร ท่านผู้ว่าฯ รวมถึงกระทรวงมหาดไทย ที่ได้ช่วยกันใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ ที่จะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่กำลังเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิดอยู่ ณ ตอนนี้”
คนกรุงเทพโล่งอก แต่คนไทยยังต้องใจหายใจคว่ำต่อไปว่า ฝันเป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งของไทยจะสะดุดไปอีกนานแค่ไหน มาดูภาระหนี้สิน ของกรุงเทพมหานครขณะนี้ที่ต้องแบกกว่าแสนล้านบาท เป็นหนี้ที่ค้างจ่ายค่าจ้างบริหารกลุ่มบีทีเอสกว่า 3 หมื่นล้านบาท ที่ต้องชำระในวันที่ 1 เม.ย.2564 และภาระที่รับโอนมาจาก รฟม.อีก 6.8 หมื่นล้านบาท วันนี้จึงหมดเวลาที่ กทม. กระทรวงมหาดไทย รัฐบาล เลือกซื้อเวลาไปเรื่อยๆ แล้วควรเร่งหาทางออก
หนี้ของกรุงเทพมหานครอยู่ที่ไหน? อยู่ในบริษัทลูก บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (มหาชน) ณ วันนี้นั้นต้องแบกกว่าแสนล้านบาทเป็นที่เรียบร้อย หากพิจารณายอดหนี้จำนวนดังกล่าว กับสินทรัพย์หรือศักยภาพของเมือง กทม.ที่คนรับรู้ระดับโลก ที่เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวแล้ว ต้องบอกว่ามูลค่าไม่มากนัก จัดการบริหารทางการเงิน เคลียร์หนี้ได้สบายๆ แต่หากเราเข้าไปเจาะข้างใน ปัญหาที่ดำรงอยู่ต้องบอกว่าไร้อนาคต และหากปล่อยให้เดินไปแบบไร้แผน ไม่มีทางออกเช่นวันนี้แล้ว ต้องบอกว่า เส้นทาง กทม.จะล้มละลายเกิดขึ้นได้ทุกเวลา อย่าประมาทว่าเป็นไปไม่ได้
ผู้รับผิดชอบตั้งแต่ผู้ว่า กทม. รัฐมนตรีมหาดไทยที่กำกับดูแล และคณะรัฐมนตรี ที่ต้องตัดสินใจเชิงนโยบาย ดูเหมือนจะเลือกซื้อเวลาไปเรื่อยๆ และไม่ใช่เพิ่งจะซื้อเวลาตอนนี้ แต่ได้ล่าช้ามาเกือบ 2 ปีแล้ว พร้อมๆ กับหนี้สินที่พุ่งขึ้นเรื่อยๆ และกำลังจะเพิ่มขึ้นอีก เมื่อ กทม.ตัดสินใจเลื่อนเก็บค่าโดยสาร ส่วนต่อขยายสายสีเขียวออกไปอีกไม่มีกำหนด หลังจากเดิมจะเก็บ 104 บาท เริ่ม 16 ก.พ.2564
ซึ่งนั่นหมายความว่าประชาชนนั่งฟรีกันต่อไป?? แต่มาพร้อมกับทุกข์ของ กทม. ภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น เพราะต้องจ้างกลุ่มบีทีเอสเดินรถ ซึ่งมีการคำนวณกันว่าต้องจ้างเดือนละ 600 ล้านบาท ดังนั้นเมื่อไม่มีรายได้เข้ามา เท่ากับว่าหนี้เพิ่มขึ้น สะสมไปเรื่อยๆ บวกกับกลุ่มบีทีเอส เริ่มทนแบบภาระไม่ไหวแล้ว หลังจากที่ออกเงินไปก่อนมาจะ 2 ปีแล้ว ได้ยื่นโนติสทวงหนี้อย่างเป็นทางการ เมื่อ 1 ก.พ.2564 เรื่องการชำระหนี้การให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ
สำหรับหนี้ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ค้างชำระมาเป็นเวลา 3 ปี 9 เดือนนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2560 แยกเป็นหนี้ค่าเดินรถ 9,602,927,987.84 บาท และหนี้ค่าซื้อระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) ที่จะถึงกำหนดชำระในเดือน มี.ค. 2564 คิดเป็นเงิน 20,768,979,836.13 บาท ทั้งนี้ให้ชำระภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับ 1 ก.พ. นั้นเท่ากับว่าจะครบต้องชำระในวันที่ 1 เม.ย.2564 และในหนังสือยังระบุ หากไม่จ่ายบริษัทฯ มีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาการใช้สิทธิตามกฎหมาย
หากปล่อยไปเรื่อยๆ โดย กทม. กระทรวงมหาดไทย และรัฐบาล ไม่ตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่ง หนี้ที่ค้างกลุ่มบีทีเอส จะเพิ่มจาก 3 หมื่นล้านบาท เป็น 4.4 หมื่นล้านบาทในระยะเวลาอีก 2 ปี หรือครบเทอมรัฐบาลนี้ โครงสร้างหนี้รวมของ กทม.เมื่อรวมกับภาระที่รับโอนมาจาก รฟม.อีก 6 หมื่นล้านบาท เท่ากับว่าในระยะต่อไป กทม.จะแบกหนี้เกินแสนล้านบาท
หากมีแนวทางแก้ คงไม่ยากกับมูลค่าหนี้แค่นี้ แต่หากยังเลือกซื้อเวลาเรื่อยๆ องค์กรปกครองพิเศษ ถูกฟ้องล้มละลายได้ จริงอยู่รัฐบาลกลางคงไม่ปล่อยให้เกิดแบบนั้น แต่แค่ออกข่าวไปว่าเอกชนฟ้องกรุงเทพมหานคร ที่คนทั้งโลกรู้จักดี ภาพลักษณ์ประเทศไทยคงยับเยินไปทั่วโลก
ดังนั้นวันนี้ตัดสินใจเถิดยังไม่สายจะเลือกแนวทางใดก็เลือกสักอย่าง 1.เก็บค่าโดยสารตามความเหมาะสม 2.ต่อสัมปทานบีทีเอสเพื่อล้างหนี้ 3.เก็บค่าโดยสารอัตราต่ำ แต่รัฐบาลต้องหาเงินมาอุดหนุนรายปี ชดเชยค่าโดยสาร วันนี้รอเพียงความกล้าผู้นำเท่านั้น กทม.ถึงจะรอด- ลุงตู่ว่าไง?