จากที่แกนนำม็อบคณะราษฎร รวมทั้งแนวร่วมหลายคนถูกดำเนินคดีตามความผิดมาตรา112 ซึ่งแต่ละคนโดนแจ้งข้อกล่าวหาไปแล้วหลายคดี หากตัดสินมีความผิดจริงอาจต้องรับโทษจำคุกคนละหลายสิบปี ด้วยเหตุนี้หรือไม่ที่ต้องออกอาการ ทั้งเสียงเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112
โดยนายพริษฐ์ เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กว่า “อัยการมีคำสั่งฟ้องผม พี่อานนท์ และพี่สมยศในข้อหา 112 จากกรณีปราศรัยในชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พวกผมจึงต้องไปขึ้นศาลอาญารัชดา เวลา 9.00 น. คงต้องลุ้นว่าจะมีการฝากขังหรือไม่”
ขณะที่นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า เป็นการนัดที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก เพื่อส่งฟ้องต่อศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก คดีชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์-สนามหลวง เมื่อวันที่ 19-20 กันยายน 2563 โดยมีการฟ้องผู้ต้องหาหลายคน ซึ่งพ้นระยะเวลาฝากขังแล้ว ตามขั้นตอนต้องส่งศาลรับตัวและมีการขอประกันตัว
ต่อมาวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน , นายอานนท์ นำภา , นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์ 4 แกนนำและแนวร่วมกลุ่มราษฎร ผู้ต้องหาคดีร่วมกันชุมนุมฯ เดินทางมารายงานตัวต่อพนักงานอัยการ กรณีเมื่อวันที่ 19-20 กันยายน 2563 ผู้ต้องหาได้ร่วมชุมนุมกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ – สนามหลวง และดูหมิ่นสถาบัน ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 , ยุยงปลุกปั่นฯ ม.116 และข้อหาอื่นๆ
ล่าสุดวันเดียวกัน นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน , นายอานนท์ นำภา , นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม แกนนำกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “ราษฎร” เดินทางมายังศาลอาญาตามที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด นัดทั้งหมดเพื่อฟังคำสั่งฟ้องคดีชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์-สนามหลวง เมื่อวันที่ 19-20 กันยายน 2563
ด้านนายสมยศ เปิดเผยว่า ตนสู้คดีและปฏิเสธข้อกล่าวหามาโดยตลอดหวังว่า วันนี้จะได้รับการอำนวยความยุติธรรม โดยเฉพาะการประกันตัว มีข้อสังเกตคือตำรวจแจ้งข้อหา ม.116 แต่ต่อมามีการแจ้งข้อหาเพิ่มเติม ม. 112 อย่างรวดเร็ว พอส่งอัยการใช้เวลาแค่ 10 วัน พิจารณาส่งฟ้องศาล ตนเห็นว่า เป็นเรื่องไม่ปกติในการดำเนินคดี เกรงว่าจะใช้กฎหมายกลั่นแกล้งคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งตนได้เตรียมยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด ให้สอบสวนพยานเพิ่มเติม อาทิ นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ และนายสมชาย หอมลออ เกี่ยวกับการดำเนินคดี ม.112 เป็นการขัดพระราชประสงค์ เป็นเครื่องมือทางการเมือง ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ จึงอยากให้ทบทวนสอบเพิ่มเติม
ส่วนนายปติวัฒน์ เปิดเผยว่า การโดน ม.112 ของตนเป็นครั้งที่ 2 ในชีวิต ครั้งแรกประมาณปี 2557 ครั้งนี้ถูกแจ้งจากเหตุการณ์วันที่ 19 ก.ย. 2563 ที่ตนปราศรัยขอเป็นตัวแทนยื่น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และไม่กังวลเรื่องการถูกขัง เตรียมหลักทรัพย์ประกันมาครึ่งล้าน
นอกจากนี้นายอานนท์ เปิดเผยว่าวันนี้อัยการนัดทั้ง 4 คน ในคดีชุมนุมวันที่ 19 ก.ย. 2563 ส่วนนายพริษฐ์มีเพิ่มอีก 1 คดี คือคดีชุมนุมม็อบเฟส ทั้ง 2 คดีได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมให้อัยการสอบพยานเพิ่ม เพราะพนักงานสอบสวนสอบแต่พยานฝ่ายผู้กล่าวหา ยังขาดฝ่ายผู้ต้องหา จึงขอให้สอบพยานเพิ่มเติมอีก 3 คน ซึ่งพยานจะให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ ม.112 และ ม.116 ต้องรอดูว่าพนักงานอัยการจะรับหนังสือของเรา หรือส่งฟ้องเลย ส่วนการนัดชุมนุมในวันที่10 ก.พ.ไม่เกี่ยวกับคดีวันนี้ เพราะการนัดคดีถูกกำหนดไว้ก่อน
“ถ้าไม่ติดอะไรจะร่วมอยู่แล้ว เป็นการชุมนุมเปิดศักราช น่าจะมีผู้ร่วมเยอะอยู่แล้ว มีหลายเรื่องที่ต้องพูดคุย โดยเฉพาะการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล และคิดว่าเจ้าหน้าที่รัฐขัดขวางแน่ ราษฎรเรามีความพร้อม เราเคยเจอสถานการณ์ถูกกดดัน ถูกปราบมาพอสมควร คิดว่าเราพร้อมรับมืออยู่แล้ว ทั้งนี้ ไม่ใช่การโหนกระแสม็อบเมียนมา เรื่องประชาธิปไตยเป็นเรื่องสากล อะไรที่เราสนับสนุนได้เราสนับสนุน” นายอานนท์ กล่าว
อย่างไรก็ตามเพนกวิน เปิดเผยถึงข้อหาในคดีม็อบเฟสด้วยว่า จำไม่ได้ว่าข้อหาทั้งหมดมีอะไรบ้าง แต่ที่สำคัญคือ ม.112 เราก็ต้องยืนยันทั้งสองคดีเป็นการใช้กฎหมายเพื่อปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออก แต่ถ้าจับทุกคนส่งฟ้อง ถามว่านี่คือสัญญาณชนชั้นนำจะไม่ยอมรับฟังเสียงประชาชนหรือไม่ การเลือกใช้กฎหมายเป็นการปิดกั้นทำร้ายประชาชนฝ่ายเดียว ขอย้ำเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม ถ้าเป็นไปได้ ไม่ต้องสั่งฟ้อง เราใช้เสรีภาพการแสดงออกที่ได้รับการรับรองทางสากล ไม่อยากให้กระบวนการยุติธรรมตกต่ำในสายตาประชาคมโลก
“ประชาธิปไตยไม่มีพรมแดนอยู่แล้ว การเคาะหม้อไม่ได้เริ่มที่เมียนมา แต่เริ่มที่สเปน ดังนั้นไม่แปลกที่เราจะเคาะหม้อไล่เผด็จการ เรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ และที่เมียนมาก็ชูสามนิ้ว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่เราใช้กันมาในขบวนการประชาธิปไตยของไทย ประชาธิปไตยไร้พรมแดน ไม่ว่าประชาชนประเทศไหนก็มีสิทธิเป็นเจ้าของแผ่นดินที่ตนเองเกิด” นายพริษฐ์ กล่าว
ภายหลังการพิจารณาสำนวนคดีการชุมนุมของกลุ่มแกนนำราษฎรตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา ผลการพิจารณาพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ประกอบด้วยนายอานนท์ นายพริษฐ์ นายสมยศ และนายปฏิวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือ หมอลำแบงค์ แกนนำกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ขอนแก่นพอกันที
ด้านนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษก สำนักงานเอกการสูงสุด เปิดเผยว่า ในข้อหาหลักเป็นความผิด มาตรา 116 คือ กระทำการยุยงปลุกปั่น ความผิดฐานหมิ่นสถาบันสูง ตามมาตรา 112 และความผิดอื่นตาม พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ, พ.ร.บ.จราจร และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวม 11 ข้อหา
ส่วนกรณีที่กลุ่มผู้ต้องหายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมในการพิจารณาคดี ทางพนักงานอัยการพิจารณาแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานในหนังสือร้องขอความเป็นธรรมไม่มีเหตุผลเพียงพอให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งฟ้อง หลังสั่งฟ้องแล้วจึงควบคุมตัวทั้ง 4 คน ส่งฟ้องต่อศาลอาญา
ขณะที่กลุ่มผู้ต้องหา เปิดเผยว่า ทั้ง 4 คน จะยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวต่อศาลอาญา โดยได้เตรียมหลักทรัพย์ไว้ยื่นประกันแล้ว ขณะเดียวกันมีกลุ่มอาจารย์ที่จะเข้าช่วยเหลือโดยจะใช้ตำแหน่งข้าราชการช่วยค้ำประกัน กรณีศาลเรียกเพิ่มเติม
สำหรับ ส.ศิวรักษ์ เป็นที่รับทราบกันดีว่า มีความเคลื่อนไหว และท่าทีสนับสนุนแกนนำบางคน รวมทั้งการชุมนุมของคณะราษฎร อย่างเมื่อวันที่ 25 พ.ย.2563 ในการชุมนุมที่สำนักงานใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ของกลุ่มราษฎร มีการปราศรัยของแกนนำอย่างต่อเนื่อง ในระหว่างที่ นายอานนท์ นำภา กำลังปราศรัย นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ เจ้าของนามปากกา ส.ศิวรักษ์ นักคิดนักเขียน ได้มาปรากฏตัวเข้าร่วมการชุมนุมในครั้งนี้ด้วย
ไม่เพียงแค่นั้น ส.ศิวรักษ์ ยังได้มีการปราศรัยให้ผู้ชุมนุมรับฟัง โดยมีเนื้อหาสนับสนุนการขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง พร้อมทั้งให้เหตุผลว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ทำตามพระราชประสงค์ของกษัตริย์ทั้ง 2 พระองค์ ทั้งรัชกาลที่ 9 และ รัชกาลที่ 10 ที่มีพระราชดำรัสว่าไม่ให้นำกฎหมายมาตรา 112 มาใช้กับประชาชน แต่ พล.อ.ประยุทธ์ กลับนำมาใช้ ถือว่าไม่เหมาะสม ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ดังนั้น เราต้องรวมกันถีบ พล.อ.ประยุทธ์ ออกไป ถีบออกไปด้วยความเคารพ
ส่วนประวัติ นายสมชาย หอมลออ เป็นนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนดีเด่นที่มีผลงานด้านการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ปีพ.ศ. 2550เป็นนักกิจกรรมในสมัย 14 ตุลาคม 2516 เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง “สภาหน้าโดม” ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย เรียกร้องรัฐธรรมนูญและขับไล่จอมพลถนอม-ประภาส-ณรงค์ จนเกิด เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นแกนนำในขบวนประท้วงขับไล่จอมพลถนอมที่บวชเณรเข้ามาในคืนวันที่ 5 ตุลาคม 2519 ต่อเนื่องถึงรุ่งเช้า 6 ตุลาคม 2519