กองทัพเมียนมายึดอำนาจมองกระทบศก.ระยะสั้น?!? ไม่สนสหรัฐคว่ำบาตรขณะ 10 อันดับFDI อาเซียนลงทุนต่อเนื่องมูลค่า 5.5 พันล้านUS$

2136

การรัฐประหารเมียนมาเกิดขึ้นเมื่อเช้าวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ทำให้บริษัทต่างชาติจากตะวันตกที่ลงทุนในเมียนมา เคร่งเครียดวิกตกไปตาม ๆ กัน และอาจทบทวนแผนการลงทุนในเมียนมาใหม่ เมื่อกองทัพเมียนมาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเข้าควบคุมการบริหารประเทศเป็นเวลา 1 ปี แตกต่างจากบริษัทต่างชาติในอาเซียน ที่สงวนท่าทีและยังดำเนินธุรกิจเป็นปกติ  หากพิจารณาจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) 10 อันดับเป็นประเทศในอาเซียนที่ยังคงลงทุนในเมียนมาสม่ำเสมอโดยตลอด ไม่ว่าเมียนมาจะปกครองด้วยทหารหรือด้วยรัฐบาลพลเรือนโดยนางอองซาน ซูจี อาจเพราะเหตุนนี้จึงทำให้กองทัพไม่หวั่นต่อการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจโดยสหรัฐและพันธมิตรอย่างที่น่าจะเป็น ขณะที่นอกจากอาเซียนจะยืนหยัดค้าขายลงทุนกับเมียนมาแล้ว จีน-รัสเซีย-อินเดีย ต่างให้ความสนใจเพิ่มความสัมพันธ์ใกล้ชิดทั้งทางเศรษฐกิจการเมืองและการทหารอยู่แล้วด้วย

ข้อมูลจากหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนของเมียนมา (DICA) รายงานว่า มีนักลงทุน 51 ประเทศที่เข้าไปลงทุนในเมียนมา โดยปีงบประมาณที่ผ่านมา (ตุลาคม 2019-กันยายน 2020) มีการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ประเทศที่มีการลงทุนในเมียนมามากที่สุด ได้แก่ “สิงคโปร์” 1.85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามด้วย “ฮ่องกง” 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ “ญี่ปุ่น” 768 ล้านดอลลาร์ “จีน” 553 ล้านดอลลาร์ และสหราชอาณาจักร 425 ล้านดอลลาร์ ส่วนอุตสาหกรรมที่ต่างประเทศลงทุนในเมียนมามากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมพลังงาน การผลิต และอสังหาริมทรัพย์ ตามลำดับ

สำนักข่าวนิกเคอิเอเชียรายงานว่า จากที่กองทัพเมียนมาดำเนินมาตรการต่าง ๆ เช่น การตัดเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต การบล็อกเข้าใช้ “เฟซบุ๊ก” และอื่น ๆส่งผลทำให้นักลงทุนต่างชาติต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นประจำเมียนมารายงานว่า นักลงทุนญี่ปุ่นบางรายได้ตัดสินใจระงับการทำธุรกิจในเมียนมาชั่วคราว อย่างบริษัทรถยนต์ “ซูซูกิ มอเตอร์” และบริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ “เดนโซ่” ซึ่งได้ประกาศปิดโรงงานชั่วคราวเพื่อความปลอดภัยแก่พนักงาน โดยยังไม่มีการตัดสินใจว่าจะทำการผลิตต่อเมื่อไหร่ ด้าน “โตโยต้า มอเตอร์” ซึ่งมีแผนจะเปิดเดินเครื่องโรงงานในเมียนมาเดือน ก.พ.นี้ ก็กำลังดูความชัดเจนว่าจะเปิดเดินเครื่องหรือไม่ รวมถึง “มิตซูบิชิ คอร์ป” และ “มิตซุย แอนด์โค” บริษัทจำหน่ายเครื่องจักรกลการเกษตร และปุ๋ย ก็ให้พนักงานทำงานที่บ้านเพื่อความปลอดภัย

และล่าสุดบริษัทผลิตเบียร์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น “คิริน” ได้ตัดสินใจประกาศล้มการร่วมทุนผลิตเบียร์กับบริษัทเมียนมาที่มีสายสัมพันธ์กับกองทัพ

สำหรับธุรกิจของสิงคโปร์ ส่วนใหญ่กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง โดยสถาบันการเงินทั้ง “ยูโอบี” และ “โอซีบีซี” แจ้งเปิดบริการหลังปิดทำการไปเพียง 1 วัน รวมถึง “เคปเปิล แลนด์” ยักษ์อสังหาริมทรัพย์ระบุว่า ยังสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ ขณะที่ “โกลเด้น ซันแลนด์” บริษัทผู้ผลิตข้าวในเมียนมา ประกาศปิดออฟฟิศ 1 สัปดาห์ แต่ในส่วนของแปลงนาข้าวยังสามารถทำงานได้ตามปกติ ยกเว้นในส่วนของ “แกร็บ” ก็ต้องระงับบริการไปชั่วคราว เนื่องจากปัญหาการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตในประเทศ

อย่างไรก็ดี “ดาร์เรน ลาม” ประธาน “สตาร์ เอนจิเนียร์ ยูไนเต็ด” บริษัทธุรกิจก่อสร้างสัญชาติสิงคโปร์ ระบุว่าเป็นกังวลกับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะด้านความปลอดภัยของพนักงานในเมียนมา และความไม่ชัดเจนถึงอนาคต

“อัลเบิร์ต อุง” ประธานหอการค้าฮ่องกง-เมียนมา มองว่าจะมีผลกระทบในระยะสั้น แต่ยังคงต้องรอดูความชัดเจนต่อไปว่า ทางกองทัพจะมีมาตรการอะไรออกมา อย่างไรก็ดี ยังคงมีความมั่นใจในการลงทุนในเมียนมา ถึงแม้จะมีรัฐประหารก็ตาม

ก่อนหน้านี้เมื่อววันที่ 4 ก.พ.2564 เพจเฟซบุ๊ก LOOK Myanmar ซึ่งนำเสนอมุมมอง แนวคิดและชีวิตความเป็นอยู่วัฒนธรรมของคนพม่า ได้โพสต์ข้อความระบุถึงประเทศที่ลงทุนในพม่ามากที่สุด? และวิเคราะห์เกี่ยวกับตัวเลขการลงทุนจากต่างชาติในพม่า พร้อมเหตุผลที่เชื่อว่า รัฐประหารครั้งล่าสุดนี้ จะไม่กระทบเศรษฐกิจของพม่าในระยะยาว แต่มีผลกระทบช่วงระยะสั้นเท่านั้นคือ 

ตัวเลข FDI (การลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ – Foreign Direct Investment) ของพม่า 10 อันดับ ประเทศที่ลงทุนในพม่ามากที่สุด ตัวเลขรวมตั้งแต่ปี 2531 จนถึงปัจจุบัน 10 อันดับ ที่ลงทุนในพม่ามากที่สุดตั้งแต่อดีตก็ยังเป็น 10 ประเทศเหมือนเดิม เพียงแต่มีการสลับอันดับเท่านั้น  ประเทศที่มาลงทุนในพม่าตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันได้แก่ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม มาเลเซีย ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมชาติอาเซียน และตามปฏิญญาอาเซียน สมาชิกจะไม่ก้าวก่ายกิจการภายในของกันและกัน 

ส่วนสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) กับ เนเธอร์แลนด์ ที่เป็น 2 ชาติจากยุโรป ใน 10 อันดับแรก อังกฤษนี่ แสดงท่าทีก้าวร้าวประณามการยึดอำนาจและขู่คว่ำบาตรตามสหรัฐ ฯ นอกจากจะเป็นเจ้าอาณานิคมเก่าที่ทิ้งปัญหาไว้ให้พม่า ก่อนที่จะคืนเอกราชให้พม่าททั้งปัญหาโรฮิงญา หรือปัญหาชาติพันธุ์ แม้จะประณาม แต่ก็คงไม่น่าจะถอนการลงทุน ไม่ว่าการเมืองจะเป็นยังไง ไม่ว่าในที่สุดระหว่างกลุ่มหนุนอองซาน ซูจีหรือ กองทัพจะเป็นผู้ชนะ

ส่วนประเทศที่เต้นมากที่สุด คือสหรัฐอเมริกา อเมริกามาลงทุนในพม่าเป็นอันดับ 12 ยอดการลงทุนรวมอยู่ที่ประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 9.9 พันล้านบาท ในช่วง 10 ปีหลังสุด เฉลี่ยแค่ปีละประมาณ 1 พันล้านบาท ซึ่งถือว่าน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับ 10 อันดับแรก) คิดเป็นแค่ 0.006% ของ FDI ทั้งหมดของพม่า 

ตัวเลข FDI จากเว็บไซท์ของธนาคารโลก จะเห็นว่า ช่วงปี 2018 ตัวเลขการลงทุนจากตะวันตกตกลงมามาก เพราะช่วงนั้นพม่าโดนกดดันเรื่องปัญหาโรฮิงญา แต่ผ่านไปแค่ปีเดียว ตัวเลขการลงทุนก็กลับมาเพิ่มขึ้นอีก  แนวโน้มการเติบโตของ FDI ในยุครัฐบาลทหาร กลับดีกว่า ของรัฐบาลพลเรือนอย่าง NLD ด้วยซ้ำ 

(https://data.worldbank.org/indicator/BX.KLT.DINV.CD.WD…)

ดังนั้นรัฐประหารรอบนี้ ย่อมจะกระทบเศรษฐกิจแค่ช่วงสั้นๆ เท่านั้น ซึ่งในระยะเวลานี้ เราก็ยังต้องอยู่กับ โควิดระบาดระลอกใหม่ทั้งไทยและเมียนมา  ซึ่งผลกระทบจากโควิดสาหัสกว่า รัฐประหารแบบเทียบกันไม่ได้

ถ้าเศรษฐกิจของเมียนมาจะพังพินาศก็มีแต่สหรัฐอเมริกากับแก๊งพันธมิตรต้านจีนเข้ามาแทรกแซงรุกราน  เหมือนที่เคยทำกับ ลิเบีย ซีเรีย อิรัก เยเมน อัฟกานิสถาน ฯลฯ ไม่ใช่พังเพราะรัฐประหาร อย่างแน่นอน !