วิษณุสยบกระแส “บินไทย” เดี้ยง?!? ผู้ทำแผนฟื้นฟูเสียงแตก ต้องเลื่อนส่งแผนศาลรอบสอง แจงเจ้าหนี้เยอะเลยช้า มั่นใจทำส่งทันเดดไลน์

1572

สาธารณชนรอลุ้นและเอาใจช่วยสายการบินแห่งชาติ คือการบินไทยตลอดมา แต่เมื่อถึงกำหนดต้องส่งแผนฟื้นฟูฯแก่ศาลล้มละลายกลาง ก็เกิดปัญหาขึ้นอีกเมื่อทีมฟื้นฟู “การบินไทย” มองต่าง-เสียงแตกทำแผนสะดุด ต้องขอศาลเลื่อนส่งรอบ สองไปวันที่ 3 มีค.อีกครั้ง   ประเด็นนี้รองนายก-วิษณุฯในฐานะประธานคณะกก.ติดตามการแก้ไขปัญหาการบินไทยแจงว่า มั่นใจว่าทำแผนทัน ที่ล่าช้าเพราะผู้ทำแผนมี 7 รายคิดเห็นต่างกันเสียงต้องเป็นเอกฉันท์ไม่ว่าเรื่องใหญ่เรื่องเล็ก เลยช้าและเจ้าหนี้มีมากต้องใช้เวลา จับตาการแก้ปัญหาทีมบริหารมีความเห็นไม่ตรงกันจะคลี่คลายหรือแตกหัก ซึ่งเป็นตัวชี้ชะตาการบินไทยไปต่อแบบไหนรอดหรือร่วง

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บริษัท การบินไทย จำกัด เปิดเผยว่าได้รับรายงานความคืบหน้าการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย อย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาคณะกรรมการของการบินไทย ได้เดินทางมาพบตนอยู่เป็นระยะๆ เพื่อขอคำแนะนำในเรื่องต่างๆ ซึ่งแต่ละครั้งตนก็ได้เชิญนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเข้ามาร่วมรับฟังด้วย ซึ่งรัฐบาลก็ยังสามารถที่จะให้คำตอบไปได้ทุกครั้ง

นายวิษณุ กล่าวว่า สาเหตุที่การจัดทำแผนฟื้นฟูฯล่าช้าเนื่องจากการบินไทยมีเจ้าหนี้จำนวนมาก เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องใหญ่ และต้องใช้เวลา และที่สำคัญผู้ทำแผนฟื้นฟูฯนั้นมีมากถึง 7 ราย และก่อนหน้านี้ไปตกลงกับศาลฯไว้ตั้งแต่แรกว่าการทำแผนนั้นต้องเป็นเอกฉันท์ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่ง่าย แต่ก็มั่นใจว่า ยังไงก็ทำทันตามกำหนด

สืบเนื่องจาก ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ฟื้นฟูกิจการเมื่อ 14 กันยายน 2563 พร้อมเห็นชอบให้บริษัท อีวาย คอร์ปอร์เรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด และคณะผู้จัดทำแผนอีก 6 คน ได้แก่ พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นายบุญทักษ์ หวังเจริญ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ซึ่งมีกำหนดต้องจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการและส่งศาลในวันที่ 2 ม.ค. 2564 อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาผู้ทำแแผนได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนการส่งแผนฟื้นฟูมาแล้ว 1 ครั้ง ซึ่งศาลได้เห็นชอบให้เลื่อนเป็นวันที่ 2 ก.พ. 2564 แต่ก็มาสะดุดส่งไม่ทันต้องขอเลื่อนไปในที่สุด

ปมร้อนที่เป็นข้อขัดแย้งคือ ประเด็นการว่าจ้างบริษัท เกียรตินาคินภัทร มาเป็นที่ปรึกษาโครงสร้างทางการเงิน (FA) เพื่อเข้ามาช่วยหานักลงทุนและเงินทุน ด้วยค่าตอบแทน 630 ล้านบาท ซึ่งนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค และบริษัทอีวายฯไม่เห็นด้วย เนื่องจากมองว่าอำนาจหน้าที่ของคณะผู้ทำแผนทั้ง 7 คนนี้ มีอำนาจหน้าที่เพียงทำแผนฟื้นฟูให้เสร็จเพื่อให้ส่งศาลพิจารณาเห็นชอบเท่านั้น ส่วนอำนาจหน้าที่ในการจัดหา หรือว่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อหาพันธมิตรเข้ามาลงทุน เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้บริหารแผนฟื้นฟู

ขณะที่พลอากาศเอกชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน, นายบุญทักษ์ หวังเจริญ, นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์, นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร มองว่าการจ้างบริษัทเกียรตินาคินภัทร มาเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) เป็นความจำเป็น เพื่อให้แผนฟื้นมีความสมบูรณ์ที่สุด

หลังจากที่ บริษัท ฟินันซ่า จำกัด (มหาชน) ถอนตัวจากการเป็นที่ปรึกษาด้านโครงสร้างทางการเงินไปเมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2563 ทางผู้จัดทำแผนได้เปิดคัดเลือกที่ปรึกษาการเงินใหม่ ซึ่งจะครอบคลุมทั้งการเป็นที่ปรึกษาการเงินการทำแผนฟื้นฟู รวมถึงในการหาพันธมิตรเข้ามาใส่เงินเพิ่มทุน โดยมีเสนอเข้ามา 2 กลุ่มคือ กลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ เสนอราคาประมาณ 900 ล้านบาท และกลุ่มเกียรตินาคินภัทร (KKP) เสนอราคา 630 ล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขจะต้องสามารถหาพันธมิตรใหม่เข้ามาร่วมทุนสำเร็จ แต่เนื่องจากหนึ่งในผู้ทำแผนไม่เห็นด้วยกับการว่าจ้างที่ปรึกษาด้วยวงเงินสูงขนาดนั้น

ดังนั้น ทางคณะผู้ทำแผนจึงได้พิจารณาปรับลดบทบาทการทำงานเฉพาะในส่วนของการเป็นที่ปรึกษาการเงินในการทำแผนฟื้นฟู ด้วยค่าตอบแทนเดือนละ 8 ล้านบาท เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบโมเดลการเงินต่าง ๆ รวมทั้งแผนการลดทุน เพิ่มทุน เพื่อให้แผนฟื้นฟูการบินไทยที่จะส่งให้ศาลมีความสมบูรณ์ครบถ้วน และให้เจ้าหนี้เห็นชอบโดยได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอความเห็นชอบในการว่าจ้างเกียรตินาคินภัทรเป็นที่ปรึกษาการเงิน อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2564 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ทำแผน โดยศาลระบุว่าเนื่องจากคำร้องดังกล่าวยังมีผู้ทำแผนบางรายมีความเห็นแย้ง ตามกฎระเบียบความเห็นทุกเรื่องผู้ทำแผนต้องเห็นด้วยเป็นเอกฉันท์

นอกจากนี้ ประเด็นที่มีความเห็นต่างกันมากที่สุดอีกเรื่องคือ เรื่องของ “ไทยสมายล์” สายการบินลูกที่การบินไทยถือหุ้นอยู่ 100% ที่บริหารโดยบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ส จำกัด ควรอุ้มต่อหรือแยก โดยเสียงบางส่วนของผู้ทำแผนมองว่าควรแยกการบริหารออกไป เพื่อลดภาระบริษัทแม่ เนื่องจากไทยสมายล์ขาดทุนมาตลอดตั้งแต่เปิดดำเนินการ ณ สิ้นปี 2562 มีตัวเลขขาดทุนสะสมอยู่ถึงราว 8 หมื่นล้านบาท และมีหนี้สินรวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท และหากดูแนวทางการฟื้นฟูของสายการบินใหญ่ ๆ ทั่วโลก ทุกสายการบินที่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูต่างใช้วิธีตัดสายการบินลูกออกไปทั้งสิ้น

ก่อนหน้านี้ บริษัท แมคคินซี่แอนด์โค ที่ปรึกษาด้านธุรกิจการบินก็ได้ให้คำปรึกษา และผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจการบินก็ได้แนะนำให้ผู้ทำแผนฟื้นฟูพิจารณาตัดไทยสมายล์ออกไปเช่นกัน เพราะสถานะของการบินไทยไม่สามารถแบกรับภาระหนี้ของไทยสมายล์ได้ ซึ่งแนวทางดังกล่าวนี้ก็เป็นแนวทางที่ทางบริษัท อีวายฯก็เห็นด้วยเช่นกัน แต่ก็มีผู้ทำแผนบางรายไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว

ประเด็นการประกาศโละขายเครื่องบิน 2 ลอต รวมกว่า 40 ลำ ก็เป็นอีกประเด็นที่ทีมผู้ทำแผนมีความเห็นต่างโดยกลุ่มหนึ่งประเมินว่าโครงสร้างธุรกิจใหม่ของการบินไทยจะต้องลดขนาดองค์กรให้เล็กลง และหยุดให้บริการเส้นทางการบินที่ขาดทุน โดยประเมินว่าการบินไทยน่าจะมีความจำเป็นใช้เครื่องบินทั้งหมดประมาณ 40-45 ลำ ดังนั้น เครื่องบินไม่ได้ใช้งานที่เหลืออีกกว่า 40 ลำควรโละขายทิ้งเพื่อลดภาระด้านการบำรุงรักษา และหาเงินมาสร้างสภาพคล่องให้บริษัทเป็นแนวทางที่ดีกว่า

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องขายที่ดินและหุ้นบริษัทในเครือ ได้แก่เรื่องการขายที่ดิน (หลักสี่-ดอนเมือง) และหุ้นของบริษัทย่อย เพื่อนำเงินมาเสริมสภาพคล่อง โดยผู้ทำแผนส่วนใหญ่มองว่า บริษัทยังต้องเผชิญปัญหาสภาพคล่องต่อเนื่อง เพราะลำพังรายได้จากการให้บริการเที่ยวบินพิเศษรับคนไทยเดินทางกลับบ้าน การขนส่งคาร์โก้ ซ่อมบำรุง รวมถึงครัวการบิน และขายปาท่องโก๋ น้อยมากรวมไม่ถึง 1,000 ล้านบาทต่อเดือน เมื่อเทียบกับปกติที่มีรายได้ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาทต่อเดือน ขณะที่ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ราว 2,000 ล้านบาทต่อเดือน ทำให้บริษัทยังอยู่ในภาวะขาดทุนต่อเนื่องทุกเดือน

ที่สุดแล้วเราคนไทย ยังคงต้องลุ้นกันต่อไปว่า “การบินไทย” สายการบินแห่งชาติที่ทุกคนคาดหวังว่าจะกลับมายืนหยัดแข็งแรงได้จะเดินต่อไปอย่างไรนับจากนี้ แค่ก้าวแรกแห่งการฟื้นฟูก็สะดุดกันเป็นระยะ ทำใจหาย นี่ยังไม่นับรวม การติดตามล้างบางทุจริตที่ค้างคามาจากอดีต ที่เงียบกริบ ไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด เรื่องนี้คนไทยยังไม่ลืม คงต้องจับตาดูและเอาใจช่วยต่อไปอย่างจริงจัง!