สถาบันศาลสั่นสะเทือน!? กับคำถามของท่านใหม่ และการยกคำร้องลบคลิป “วัคซีนพระราชทาน”

6083

จากกรณีที่ ดีอีเอสได้แจ้งความต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ให้ดำเนินคดีกับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กรณี ไลฟ์สดเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิดที่พาดพิงสถาบันหลัก

ผ่านเพจคณะก้าวหน้า ฐานความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ ผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(3) พร้อมกับได้ยื่นให้ศาลพิจารณาการกระทำดังกล่าว

โดยต่อมา ทางด้านศาลอาญาได้ตรวจสอบ พบเว็บไซต์ เผยแพร่ข้อความภาพและคลิปวิดีโอ ที่มีเนื้อหาอันเข้าข่ายเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักร ปรากฏใน 3 URLs
ศาลจึงอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(3) ประกอบมาตรา 20 มีคำสั่งให้ระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ การไลฟ์สดของนายธนาธร เนื่องจากเห็นว่า เป็นการกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร จึงสั่งระงับการทำให้แพร่หลาย 3 URLs ดังกล่าว

ในวันที่ 4 ก.พ.64 ทางด้านของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้เดินทางมาที่ ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เพื่อมาฟังคำร้องคัดค้านของคณะก้าวหน้า ที่ได้ขอให้เพิกถอนคำสั่งศาล ที่ได้สั่งให้ลบลิงก์ ที่ทางด้าน นายธนาธร ได้พูดถึงประเด็นเรื่องวัคซีน โดยมีข้อมูลที่บิดเบือน และพาดพิงสถาบันฯ อาจก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2564

ต่อมา วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 นายธนาธร ได้แชร์ข้อความจากเพจเฟซบุ๊ก คณะก้าวหน้า – Progressive Movement ที่โพสต์ถึงการไต่สวนในคดีดังกล่าว โดยนำเนื้อหาของสองฝ่ายในศาลมาเผยแพร่ไว้ ซึ่งมีบางช่วงกล่าวถึงนายธนาธรที่น่าสนใจดังนี้

“วันนี้ผมแนบหนังสือพิมพ์ The Economist มาอ่านให้ฟังว่าขณะนี้ที่ยุโรป บริษัท AstraZeneca ไม่สามารถจัดส่งวัคซีนได้ตามสัญญา ประชาชนในยุโรปก็โกรธ
แล้วถ้าเหตุการณ์เช่นนี้เกิดกับประเทศไทย ใครจะสัญญาได้ว่าพระเกียรติของสถาบันจะไม่ได้รับผลกระทบ??? รัฐบาลกล้ารับผิดชอบหรือไม่??? ดังนั้นการปกป้องพระเกียรติ คือการไม่เอาสถาบันมาทำเช่นนี้”

หลังจากนั้นศาลจึงถามว่าทำไมถึงใช้คำว่า “วัคซีนพระราชทาน” ธนาธรตอบว่า:
“ผมไม่ได้ใช้คำนี้เป็นคนแรก แต่ทั้งคุณประยุทธ์และหน่วยงานรัฐเป็นคนใช้คำทำนองนี้เพื่อให้ประชาชนเข้าใจผิด ที่ผมเอาเรื่องนี้มาพูด เพราะเกรงว่าถ้าเป็นแบบนี้จะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติได้
และเนื่องจากรัฐบาลไทยใช้งบประมาณแผ่นดินซื้อวัคซีน และให้ทุนสนับสนุน Siam Bioscience ไปพัฒนา ดังนั้น การใช้คำว่า “วัคซีนพระราชทาน” จึงไม่ควรทำ
แต่ถ้าหากเราจะยืนยันใช้คำเช่นนี้ แล้วผิดพลาดขึ้นมาจะเกิดอะไรขึ้น? ในเมื่อเป็น “วัคซีนพระราชทาน”
ทางด้าน DE พยายามชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้เจาะจงและไม่ได้ว่าจ้างโดยตรงให้ Siam Bioscience แต่ AstraZeneca เป็นผู้เลือก Siam Bioscience เอง
และกล่าวหาธนาธรว่ามุ่งประเด็นให้คนเข้าใจว่าถ้าผลิตวัคซีนล่าช้าหรือไม่ได้คุณภาพก็ต้องไปโทษ Siam Bioscience ซึ่งผู้ถือหุ้นของบริษัท ก็คือในหลวง ร.10 นั่นเอง”

นั่นคือเนื้อหาบางส่วนที่สำคัญในการไต่สวนของศาล ที่เพจคณะก้าวหน้าได้นำมาเผยแพร่ไว้ในเฟซบุ๊ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำถามที่ศาลถามนายธนาธร เกี่ยวกับคำที่ใช้เรียกวัคซีน ซึ่งพบว่าเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564 นายธนาธร ได้เคยกล่าวไว้ช่วงหนึ่งของการแถลงชี้แจงว่า ไม่ได้เป็นผู้ริเริ่มคำว่า วัคซีนพระราชทาน โดยอ้างเป็นคำพูดของพล.อ.ประยุทธ์เอง ในพิธีลงนามสัญญาจัดหาวัคซีนโควิด เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2563 ที่ผ่านมา

แต่เมื่อได้ตรวจสอบในคลิปดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ ได้ชี้แจงรายละเอียดการนำเข้าวัคซีน รวมทั้งมีประโยคที่บอกว่า “ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานให้บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ เข้ามาช่วยผลิตวัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนกา” ซึ่งไม่ได้มีประโยคไหนที่บอกว่า นี่คือ “วัคซีนพระราชทาน” ตามที่นายธนาธรกล่าวอ้าง

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 64 ม.จ.จุลเจิม ยุคล หรือ ท่านใหม่ ก็ได้กล่าวถึงกรณีเหตุการณ์ที่ศาลในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ข้อความระบุว่า

“เนื่องมาจากวันที่ 4 ก.พ ที่ศาลอาญา …..ผมเองก็มีข้อสงสัย แต่ก็เคารพในศาล ผู้ทำงานในพระปรมาภิไธยเป็นอย่างยิ่ง ประชาชนและวิญญูชนจะมีสิทธิ สงสัยเช่นนี้หรือไม่? ผมเองก็ประชาชน ขอตั้งคำถามนี้ไว้ให้ช่วยกันคิดหาคำตอบหกคำถาม ให้ผมหน่อย
หนึ่ง การที่ธนาธรกล่าวถ้อยคำหมิ่นพระบรมเดชานุภาพซึ่งหน้าบัลลังก์ศาล ถือว่าความผิดสำเร็จแล้วหรือไม่?
สอง การที่ความผิดสำเร็จในการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต่อหน้าบัลลังก์ ท่านตุลาการต้องทำหน้าที่มากกว่าแค่ตักเตือนห้ามปรามหรือไม่? หรือทำหน้าที่แค่นั้นก็พอแล้ว?
สาม เหตุใดธนาธรจึงเหิมเกริมถึงเพียงนั้น? พระเจ้าแผ่นดินทรงไปทำอะไรให้ธนาธรโกรธ แค้นอาฆาตไม่หยุดหย่อนได้ขนาดนั้น?
สี่ การที่ธนาธรแก้ตัวในศาลว่าเจตนาตำหนิรัฐบาลเพื่อปกป้องสถาบัน แต่กลับหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต่อหน้าบัลลังก์อีกครั้ง จะเป็นเครื่องชี้เจตนาของธนาธรว่าเป็นไปในทางใดได้หรือไม่?
ห้า การที่ธนาธรอ้างประชาชน ผมก็ประชาชน ไม่อาจจะเห็นด้วยกับธนาธร และผมก็เชื่อว่าประชาชนชาวไทยจำนวนมาก ก็ไม่ได้เห็นด้วยเลยกับธนาธร ประชาชนมีสิทธิ์คิดต่างจากธนาธรหรือไม่?
“และการที่ธนาธรแอบอ้างประชาชนนี้เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วหรือไม่” ?
หก การปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้หน้าบัลลังก์ ทำให้ประชาชนอาจจะสงสัยได้ เพราะมีข่าวแว่วมาว่า คนตัดสิน (??) เป็นคนเดิมที่เคยยกคำสั่งปิดกั้นวอยซ์ทีวี และทราบมาว่าใช้ทนายความชุดเดียวกันกับวอยซ์ทีวีในคดีนี้ด้วย ?
อย่าเพิ่งลุกจากที่นั่งกันครับ ดูหนังตอนจบ เพราะอาจจะเป็นผู้กำกับคนเดียวกัน กับเรื่องวอย์ ทีวี ไหมเอ่ย ? ถึงปากกล้ากล่าวถ้อยคำหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหน้าบัลลังก์ศาล ถ้าใช่ สวัสดีประเทศไทย และคนไทย
ขอบพระคุณมากครับ
ม.จ. จุลเจิม ยุคล”

ทั้งนี้ ศาลกำหนดนัดฟังคำสั่งคดีนี้ต่อไปในวันที่ 8 ก.พ.นี้ เวลา 10.00 น.

ล่าสุด วันนี้ ที่ห้องพิจารณา 906 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำสั่งคดีหมายเลขดำ พศ.76/2546 ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการเผยแพร่คลิปไลฟ์สดของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กรณีการไลฟ์สดเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของรัฐบาล โดยมีเนื้อหาพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ ซึ่งก่อนหน้านี้ ศาลได้มีคำสั่งให้ระงับคลิปตามที่ดีอีเอสยื่นร้องขอ ต่อมานายธนาธรได้ยื่นคัดค้าน โดยศาลได้ไต่สวนคู่ความทั้งสองฝ่ายเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ในวันนี้มีผู้แทนดีอีเอสและทนายความผู้รับมอบอำนาจจากนายธนาธรเดินทางมาศาล ส่วนนายธนาธรไม่ได้เดินทางมา

โดยศาลได้อ่านคำสั่ง ซึ่งมีเนื้อหาพิเคราะห์ทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงโดยละเอียด เนื้อหาที่นายธนาธร ผู้คัดค้านกล่าว มุ่งเน้นการกล่าวหารัฐบาลบกพร่อง ข้อมูลเรื่องผู้ถือหุ้นเป็นเพียงส่วนน้อย ไม่เป็นประเด็นหลักในการนำเสนอ ไม่สามารถเห็นได้ชัดเจนถึงกับกระทบความมั่นคง จึงให้คำสั่งศาลที่ให้ระงับการเผยแพร่คลิปเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2564 เป็นอันสิ้นผล ยกคำร้อง