Truthforyou

เปิดคำไต่สวนคดีลบคลิป!ศาลถามทำไมใช้วัคซีนพระราชทาน ขณะธนาธรโบ้ยนายกฯคนพูด

จากที่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ขึ้นศาลอาญาเพื่อร่วมไต่สวนคำร้องคัดค้านของคณะก้าวหน้าที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลสั่งลบลิงก์ตามคำขอกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เผยแพร่ภาพ-คลิปเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิดพาดพิงสถาบันฯนั้น

ล่าสุดวันนี้ 5 กุมภาพันธ์ 2564 นายธนาธร ได้แชร์ข้อความจากเพจเฟซบุ๊ก คณะก้าวหน้า – Progressive Movement ที่โพสต์ถึงการไต่สวนในคดีดังกล่าว โดยนำเนื้อหาของสองฝ่ายในศาลมาเผยแพร่ไว้ ซึ่งมีบางช่วงที่น่าสนใจดังนี้

“เราขอนำเนื้อหาบางส่วนจากห้องไต่สวนมาเล่าให้ทุกคนได้รับฟังถึงแนวทางและเหตุผลของทั้งฝั่ง DE และธนาธรในการต่อสู้กันว่าจะแบนหรือไม่แบนคลิปดังกล่าว – ก่อนที่จะมีการนัดอ่านคำสั่งศาลในวันที่ 8 กุมภาพันธ์นี้

ฝั่งหนึ่งมีทนาย “กฤษฎางค์ นุตจรัส” และ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ผู้ขอให้เพิกถอนคำสั่งแบนคลิป ส่วนอีกฝั่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการของ DE ซึ่งมีพยานเป็น “ทศพล เพ็งส้ม” กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทนายความหัวหน้าทีมต่อสู้คดีหุ้นสื่อของพรรคพลังประชารัฐ

โดยในการพิจารณา ศาลเริ่มจากการสอบถามทั้งสองฝ่ายว่ามีประเด็นใดจะต้องพิจารณาลับหรือไม่ โดยทางฝั่งธนาธรเห็นว่าไม่มี ส่วนทางฝั่ง DE เห็นว่ามีประเด็นเรื่องสถาบันฯ ที่จะต้องพิจารณาลับ

อย่างไรก็ตาม ศาลเห็นว่ามีข้อพิจารณา 2 ประเด็นคือ 1.กระทบความมั่นคงในราชอาณาจักร 2.เป็นความลับราชการ ซึ่งก็เห็นว่าข้อเท็จจริงก็ปรากฏทั่วไปในสื่อสาธารณะอยู่แล้ว และเรื่องความลับของทางราชการก็ไม่มีชุดข้อมูลใดเข้าข่ายให้ต้องพิจารณาลับหลังจากนั้นศาลเปิดคลิปไลฟ์ความยาวเต็มประมาณ 30 นาที เพื่อฟังตั้งแต่ต้นจนจบในห้องพิจารณาคดี

หลังจากที่ดูคลิปจบ ทางฝั่ง DE ก็ยืนยันหลักฐานตามคำร้องเดิม ในการไลฟ์ของธนาธรในช่วงนาทีที่ 15 และ 28 “ทั้งหมดนำมาสู้คำถามสุดท้ายว่า ในหลวง ร.10 เป็นผู้ถือหุ้นของ Siam Bioscience คุณประยุทธ์ในฐานะนายกรัฐมนตรี อนุมัติดีลอย่างนี้ขึ้น และถ้าหากเกิดอะไรผิดพลาด คุณประยุทธ์จะรับผิดชอบได้หรือไม่ ถ้าเกิดว่าผลิตวัคซีนช้ากว่าเวลา มีปัญญา แจกจ่ายกับประชาชนไม่เป็นธรรม ถ้าเกิดว่าประชาชนแพ้วัคซีน หรือวัคซีนมีประสิทธิภาพไม่ได้ตามเป้าหมาย คุณประยุทธ์จะรับผิดชอบไหวหรือไม่? เพราะประชาชนย่อมตั้งคำถามกับ Siam Bioscience ซึ่งมีผู้ถือหุ้นคือในหลวง ร. 10”

ส่วนทางด้านธนาธรใช้เวลาในการอธิบายยาวๆ ดังนี้ : “เหตุผลที่ผมออกมาไลฟ์เพราะเป็นห่วงเรื่องการจัดการวัคซีนในสถานการณ์โควิด ผมเห็นว่ายุทธศาสตร์วัคซีนที่รัฐบาลทำอยู่นั้นไม่เหมาะสม เพราะน้อยเกินไปและช้าเกินไป

ถ้ายังใช้แผนนี้อยู่ ก็มีตัวเลขของทางราชการมาให้ดู เป็นเอกสารแนบท้ายในการประชุม ครม. ว่าจะเกิดความเสียหายเดือนละกว่า 2.5 แสนล้านบาท อย่าลืมว่าคนที่แบกรับต้นทุนเหล่านี้คือคนที่หาเช้ากินค่ำ คือแรงงานนอกระบบ คือคนที่อ่อนแอ

ถ้าย้อนกลับไปดูเอกสารการประชุม กมธ. ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขเข้าชี้แจงเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 แผนการจัดหาวัคซีนของรัฐบาลภายในปี 2566 ได้เพียง 50% ของทั้งประเทศเท่านั้น ถ้าเดินตามแผนที่เราจะเปิดๆ ปิดๆ แบบนี้ไปอีก 3 ปี ซึ่งไม่มีประเทศไหนทำเช่นนี้

ยกตัวอย่างเช่นอิสราเอล ประกาศว่าจะฉีดวัคซีนให้ครบ 100% ภายในไตรมาสแรกของปีนี้ ส่วนสหรัฐฯ ประธานาธิบดีไบเดนก็ประกาศจะฉีดให้ได้ 100 ล้านโดสภายใน 100 วันแรกของการเข้ารับตำแหน่ง

ตอนนี้เราอยู่ในอุโมงค์มืดมิด และวัคซีนคือแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

ส่วนเหตุผลที่กล่าวถึงในนาทีที่ 15 และ 28 นั้น ขอเล่าว่าบริษัท Siam Bioscience ถือหุ้นโดยในหลวง ร.10 สัดส่วน 100% ตามเอกสาร บอจ. ที่ส่งให้ศาลดู ซึ่งข้อมูลนี้เป็นจริงตามที่กล่าวในไลฟ์

มี 3 สัญญาที่สำคัญในดีลวัคซีนนี้ คือ 1.รัฐบาลซื้อจาก AstraZeneca 2. AstraZeneca ที่จ้าง Siam Bioscience ผลิต 3.สัญญาที่รัฐบาลให้งบประมาณสนับสนุน Siam Bioscience

ประเด็นที่พูดเรื่องนี้ เพราะวัคซีน 26 ล้านโดส หรือคิดเป็น 20% ของประชากรนั้น มาจาก AstraZeneca ที่เดียว ซึ่งข้อมูลที่กล่าวมานี้เป็นข้อมูลที่พบได้ตามอินเตอร์เน็ตและสาธารณะทั่วไป

และภายหลังมีการจัดหาเพิ่มเติมอีก 35 ล้านโดส ซึ่งก็มาจาก AstraZeneca เช่นกัน เท่ากับว่าไม่มีการกระจายความเสี่ยง

และในประเด็นรัฐบาลสนับสนุนงบหลายร้อยล้านบาทให้กับ Siam Bioscience โดยปกติก็ต้องมีเอกสารการจัดหา การประกวดเปรียบเทียบคุณสมบัติ หรือการแสดงการคัดเลือกโดยละเอียดโปร่งใส

ไม่นับว่าในที่ประชุมคณะกรรมการวัคซีน ก็มีการพูดเรื่อง conflict of interest ที่เน้นย้ำว่าจะต้องทำอย่างโปร่งใส หากมีกรณีเกิดขึ้นจะต้องชี้แจงให้สาธารณชนได้รับทราบ

วันนี้ผมแนบหนังสือพิมพ์ The Economist มาอ่านให้ฟังว่าขณะนี้ที่ยุโรป บริษัท AstraZeneca ไม่สามารถจัดส่งวัคซีนได้ตามสัญญา ประชาชนในยุโรปก็โกรธ

แล้วถ้าเหตการณ์เช่นนี้เกิดกับประเทศไทย ใครจะสัญญาได้ว่าพระเกียรติของสถาบันจะไม่ได้รับผลกระทบ??? รัฐบาลกล้ารับผิดชอบหรือไม่??? ดังนั้นการปกป้องพระเกียรติ คือการไม่เอาสถาบันมาทำเช่นนี้”

หลังจากนั้นศาลจึงถามว่าทำไมถึงใช้คำว่า “วัคซีนพระราชทาน” ธนาธรตอบว่า:

“ผมไม่ได้ใช้คำนี้เป็นคนแรก แต่ทั้งคุณประยุทธ์และหน่วยงานรัฐเป็นคนใช้คำทำนองนี้เพื่อให้ประชาชนเข้าใจผิด ที่ผมเอาเรื่องนี้มาพูด เพราะเกรงว่าถ้าเป็นแบบนี้จะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติได้

และเนื่องจากรัฐบาลไทยใช้งบประมาณแผ่นดินซื้อวัคซีน และให้ทุนสนับสนุน Siam Bioscience ไปพัฒนา ดังนั้น การใช้คำว่า “วัคซีนพระราชทาน” จึงไม่ควรทำ

แต่ถ้าหากเราจะยืนยันใช้คำเช่นนี้ แล้วผิดพลาดขึ้นมาจะเกิดอะไรขึ้น? ในเมื่อเป็น “วัคซีนพระราชทาน”

ทางด้าน DE พยายามชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้เจาะจงและไม่ได้ว่าจ้างโดยตรงให้ Siam Bioscience แต่ AstraZeneca เป็นผู้เลือก Siam Bioscience เอง

และกล่าวหาธนาธรว่ามุ่งประเด็นให้คนเข้าใจว่าถ้าผลิตวัคซีนล่าช้าหรือไม่ได้คุณภาพก็ต้องไปโทษ Siam Bioscience ซึ่งผู้ถือหุ้นของบริษัท ก็คือในหลวง ร.10 นั่นเอง

“จากคลิปเป็นการชี้นำประชาชนให้ตั้งคำถามต่อในหลวง ร.10 ให้เกิดข้อสงสัยเรื่องการถือหุ้น ซึ่งไม่จำเป็น เพราะผู้รับผิดชอบคือกรรมการผู้จัดการ ไม่ใช่ผู้ถือหุ้น แต่ธนาธรกลับไม่เน้นความรับผิดของนิติบุคคล”

อย่างไรก็ตาม เมื่อทนายความฝั่งธนาธรถามซัก ทาง DE ก็ยอมรับว่าไม่ได้ตรวจสอบรายชื่อผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัท Siam Bioscience  แต่อย่างใด

…อย่างไรก็ตาม ในคดีเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 “แม้ว่าพูดจริงก็มีความผิดได้” … นี่คือคำกล่าวของฝั่ง DE

(หรือที่แวดวงกฎหมายมักพูดคิดปากกันว่า “ยิ่งจริงยิ่งผิด”)

นั่นคือเนื้อหาบางส่วนที่สำคัญในการไต่สวนของศาล ที่เพจคณะก้าวหน้าได้นำมาเผยแพร่ไว้ในเฟซบุ๊ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำถามที่ศาลถามนายธนาธร เกี่ยวกับคำที่ใช้เรียกวัคซีน ซึ่งพบว่าเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564 นายธนาธร ได้เคยกล่าวไว้ช่วงหนึ่งของการแถลงชี้แจงว่า ไม่ได้เป็นผู้ริเริ่มคำว่า วัคซีนพระราชทาน โดยอ้างเป็นคำพูดของพล.อ.ประยุทธ์เอง ในพิธีลงนามสัญญาจัดหาวัคซีนโควิด เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2563 ที่ผ่านมา

แต่เมื่อได้ตรวจสอบในคลิปดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ ได้ชี้แจงรายละเอียดการนำเข้าวัคซีน รวมทั้งมีประโยคที่บอกว่า “ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานให้บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ เข้ามาช่วยผลิตวัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนกา” ซึ่งไม่ได้มีประโยคไหนที่บอกว่า นี่คือ “วัคซีนพระราชทาน” ตามที่นายธนาธรกล่าวอ้าง

Exit mobile version