บลูมเบิร์กให้ดัชนีนวัตกรรมไทย ปี 64 ปรับขึ้น 4 อันดับจากปีก่อน!?! คาดผลงานจากการใช้แอปฯไทยฝ่าวิกฤตโควิด-19 ระบาดได้ผล

2326

ประเทศไทยทำผลงานดีด้านนวัตกรรม ไม่น้อยหน้าในอาเซียน ปี 64 ดัชนีนวัตกรรมบูมเบริ์ก(Bloomberg 2021:Innovation Index) ของประเทศไทย  ปรับตัวสูงขึ้น 4 อันดับจากปีก่อน ได้อยู่ในอันดับ 36  ตอกย้ำแนวทางพัฒนาประเทศด้านนวัตกรรมมาถูกทาง พร้อมเร่งขับเคลื่อน Thailand 4.0 สู่ เศรษฐกิจ BCG ขณะที่เกาหลีใต้กลับมาทวงแชมป์ และสหรัฐถูกยุโรปเบียดหลุดจากท็อปเท็น

นายอนุชา บูรพชัยศรี  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยไทยดัชนีนวัตกรรมไทยขยับดีขึ้น โดยดัชนีนวัตกรรมบลูมเบิร์กประจำปี 2021 จัดอันดับไทยอยู่ที่ 36 จาก 60 เขตเศรษฐกิจที่มีนวัตกรรมมากที่สุด เป็นการปรับดีขึ้น 4 อันดับจากปีทีผ่านมา  สะท้อนถึงความสามารถของไทยในการใช้นวัตกรรมฝ่าฝันวิกฤตต่างๆ โดยเฉพาะการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19  อาทิ  การตรวจคัดกรองโรค  หุ่นยนต์  แอปพลิเคชันต่างๆ  รวมถึงการกำหนดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวตกรรม และเศรษฐกิจ BCG  หลังยุคโควิด-19

ทั้งนี้ ดัชนีนวัตกรรมบลูมเบิร์กประจำปี 2021  ประเมินจากปัจจัย 7 ด้าน ดังนี้คือ  

ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (R&D Intensity)  36 คะแนน 

มูลค่าเพิ่มจากอุตสาหกรรมการผลิต  (Manufacturing value-added) 18 คะแนน สัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อประชากรผู้มีงานทำ (Productivity)  52 คะแนน 

สัดส่วนจำนวนบริษัท (high-tech)  33 คะแนน 

สัดส่วนผู้ที่เข้าศึกษา ผู้จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาและสัดส่วนบัณฑิตที่จบสายวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม (Tertiary  efficiency) 30 คะแนน 

จำนวนนักวิจัย (Researcher concentration)45 คะแนนและ

จำนวนการยื่นขอสิทธิบัตร และสัดส่วนจำนวนสิทธิบัตรที่ได้รับ (Patent activity)  35 คะแนน ไทยมีคะแนนรวมอยู่ที่  65.42 คะแนน

โฆษกรัฐบาลกล่าวเพิ่มเติมว่า “ตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ใช้โมเดลการพัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรม จากนโยบาย “Thailand 4.0” ถึงการประกาศให้ “BCG เป็นวาระแห่งชาติ”  เพื่อเตรียมความพร้อมให้ไทยเป็นฐานการลงทุนและผลิตนวัตกรรม สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของโลก

ล่าสุด  Swedish Space Corporation (SSC) ซึ่งเป็นบริษัทอวกาศระดับโลก เข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้วโดยจัดตั้ง บริษัท SSC Space Thailand ตั้งอยู่ที่ Space Krenovation Park อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของ EECd หรือ Digital Park Thailand  เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจในประเทศไทย ”   

เป็นเรื่องน่ายินดีที่ประเทศในเอเซียอย่างเกาหลีใต้และสิงคโปร์ยังยืนหนึ่งล้ำหน้าแซงประเทศยุโรปและสหรัฐได้ นับตั้งแต่บลูมเบิร์กจัดทำดัชนีนวัตกรรมมา 9 ปี เกาหลีใต้ครองที่ 1 ถึง 7 ปี ปีนี้ทำคะแนนได้ถึง 90.49 เต็ม 100 เป็นประเทศเดียวที่ทำได้เกิน 90 คะแนน

การจัดอันดับในปี 64 สะท้อนถึงโลกที่ใช้นวัตกรรมเป็นธงนำในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ตั้งแต่ความพยายามสกัดการแพร่ระบาดของรัฐบาลไปจนถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่ใช้เพื่อให้ทุกประเทศเดินหน้าต่อไปได้  รวมถึงการแข่งขันพัฒนาวัคซีนเพื่อหยุดยั้งโควิด

แคทเธอรีน แมน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากซิตี้กรุ๊ป กล่าวว่า ในปีแห่งโควิด-19 และโลกต้องเผชิญกับปัญหาเร่งด่วนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความสำคัญของพื้นฐานนวัตกรรมมีแต่จะเพิ่มขึ้นอย่างเดียวเท่านั้น

ลี คยุง มุก อาจารย์ด้านบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซลกล่าวว่าการที่เกาหลีใต้กลับมาทวงแชมป์ได้ส่วนใหญ่เป็นเพราะการจดสิทธิบัตรเพิ่มขึ้น พร้อมๆ กับผลงานด้านการวิจัยและพัฒนา และการผลิตที่แข็งแกร่ง คนเกือบทั้งประเทศเห็นพ้องกันว่า ถ้าจะมีอนาคตการวิจัยและพัฒนาเป็นสิ่งจำเป็น “ประเทศถูกขนาบด้วยประเทศอื่นที่พัฒนามากกว่า และยังทำผลงานด้านเทคโนโลยีได้ดีกว่า ขณะท่ี่จีนอาศัยแรงงานราคาถูกไล่กวดเกาหลีใต้มาติดๆ” นักวิชาการให้ความเห็น

สิงคโปร์ที่ครองอันดับ 2 จัดสรรเงินงบประมาณช่วยเหลือพนักงานและบริษัทเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล การคะแนนการผลิตก็สูงด้วย สิงคโปร์ทำได้ดีเรื่องการผลิตมูลค่าเพิ่ม ที่ไม่ใช่แค่ผลิตสินค้าแต่ต้องเป็นสินค้านวัตกรรมโดยทั่วไป ประเทศที่เน้นการผลิตยา ระบบอัตโนมัติและคอมพิวเตอร์จะทำคะแนนได้ดีในด้านนี้ สิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการผลิตมากถึงขนาดมีโร้ดแม็ป“การผลิต 2030”ของกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม อีกทั้งขีดความสามารถของมหาวิทยาลัยในระดับโลกซึ่งเป็นมาตรวัดการศึกษา สิงคโปร์ก็ทำได้สูงในระดับต้นๆ