จากที่กองทัพเมียนมา สกัดการต่อต้านรัฐประหาร ตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ต ยกเทียบกับพวกม็อบสามนิ้ว ใช้โซเชียลมีเดียเคลื่อนไหวปลุกระดมม็อบ ขณะอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ, อู วินมิ่นท์ ประธานาธิบดีเมียนมา และผู้นำคนอื่น ๆ ยังถูกควบคุมตัวโดยกองทัพเมียนมานั้น
ทั้งนี้ในการจับกุม อองซาน ซูจี เกิดขึ้นในช่วงที่กำลังเกิดความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลพลเรือนกับกองทัพเมียนมา จนเกิดการรัฐประหารโดยกองทัพเพื่อล้มรัฐบาล โดยอ้างข้อกล่าวหาว่ามีการทุจริตเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2563 ซึ่งพรรคของนางซู จี ได้รับชัยชนะถล่มทลาย ต่อมาทางกองทัพเมียนมา ประกาศ สถานการณ์ฉุกเฉิน ยึดอำนาจ แล้วตั้ง “รองปธน. Myint Swe” เป็น ประธานาธิบดี คุมอำนาจ 1 ปี
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติของเมียนมา (เอ็มอาร์ทีวี) ระงับออกอากาศชั่วคราว สัญญาณอินเทอร์เน็ตและสัญญาณข่ายโทรศัพท์ถูกตัด นักข่าวจำนวนมากถูกเรียกเข้าค่ายทหาร ทหารในเครื่องแบบเริ่มเคลื่อนกำลังเข้าควบคุมสถานที่ราชการหลายแห่งในเมืองย่างกุ้ง รวมถึงศาลว่าการเมือง รวมถึงมีเจ้าหน้าที่ทหารบนท้องถนนในกรุงเนปิดอว์และนครย่างกุ้ง
โดยในการรัฐประหารครั้งนี้ มีการสกัดไม่ให้เกิดการชุมนุมเพื่อต่อต้านการรัฐประหาร โดยทางกองทัพพม่าเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วเพื่อสกัดกั้นไม่ให้เกิดการรวมตัวต่อต้านรัฐประหาร ด้วยการตัดการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือในกรุงเนปิดอและนครย่างกุ้งที่เป็นเมืองหลวงเก่า ซึ่งปัจจุบันยังคงเป็นศูนย์กลางด้านธุรกิจการค้า ทหารได้เข้ายึดศาลาว่าการเมืองก่อนที่กองทัพจะออกแถลงการณ์ทางทีวี นอกจากนั้นยังมีรถบรรทุกหลายคันที่ขนเหล่าผู้สนับสนุนกองทัพวิ่งทั่วย่างกุ้งเพื่อฉลองการยึดอำนาจ ขณะที่สมาชิกเอ็นแอลดีได้รับคำสั่งจากกองกำลังความมั่นคงให้เก็บตัวอยู่บ้าน
นอกจากนี้ ในนครย่างกุ้งมีทหารและตำรวจปราบจลาจลรักษาการณ์ ท่ามกลางสถานการณ์โกลาหลที่ประชาชนรีบออกไปซื้อข้าวของจำเป็นตุนไว้ และอีกหลายคนเข้าคิวรอถอนเงินจากตู้เอทีเอ็ม และต่อมาไม่นานธนาคารก็พากันระงับการให้บริการเนื่องจากการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมีปัญหา
หากเปรียบเทียบกับประเทศไทย ที่มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มคณะราษฎรที่มีการออกมาเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และให้แก้รัฐธรรมนูญใหม่ รวมถึงปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมีการปลุกระดมกลุ่มแนวร่วมให้ออกมาชุมนุม รวมไปถึงนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ก็ได้มีการสร้างวาทกรรม สู้เป็นไท ถอยเป็นทาส โดยวาทกรรมดังกล่าวก็ได้มีการพูดถึงจำนวนมากในโลกโซเชียล หลายคนมองว่า เหมือนเป็นการปลุกระดมให้เยาวชนและประชาชนออกมาชุมนุม
และเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 มีความเคลื่อนไหวสำหรับชาวเมียนมาในประเทศไทยล่าสุดที่บริเวณด้านหน้าองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย ชาวเมียนมาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยจำนวนหนึ่ง นัดรวมตัวกันเพื่อร่วมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ จากกรณีที่กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหาร ด้วยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี และควบคุมตัว นางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ประธานาธิบดี รวมทั้งนักการเมืองคนสำคัญหลายคนในพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD)
ซึ่งมีการจัดกิจกรรมร้องเพลงชาติเมียนมา และการชูป้ายข้อความคัดค้านการกระทำของกองทัพเมียนมา รวมทั้งชูรูปของ นางอองซาน ซูจี โดยกิจกรรมใช้ระยะเวลาประมาณ 20 นาที โดยก่อนเริ่มกิจกรรม นายไซ เหลา ใหม่ นักธุรกิจย่านประตูน้ำชาวเมียนมา ได้เดินทางมาร่วมพูดคุยกับตัวแทนชาวเมียนมา เพื่อเจรจาเกี่ยวกับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้น
ทั้งนี้ นายไซ กล่าวว่า ที่เมียนมาประชาชนไม่สามารถออกมาเคลื่อนไหวได้ แต่ทุกคนก็ไม่ได้นิ่งเฉย มีการเคลื่อนไหวรูปแบบออนไลน์ ผ่าน #savemyanmar วันนี้ เมื่อทราบว่าจะมีชาวเมียนมามารวมตัวกัน รู้สึกวิตกกังวล และกลัวจะซ้ำรอยเหตุการณ์วันที่ 1 กุมภาพันธ์ จึงเดินทางมาสื่อสาร เพราะไม่อยากให้ปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นอีก เนื่องจากหากชาวเมียนมาถูกดำเนินคดีจะไม่มีใครสามารถช่วยเหลือได้ จึงมาบอกให้ทุกคนดำเนินกิจกรรมด้วยความสงบเรียบร้อย และให้แยกย้ายหลังสิ้นสุดกิจกรรม
ล่าสุดวันนี้ 4 กุมภาพันธ์ 2564 มีรายงานข่าวว่า กองทัพเมียนมา ได้บล็อกเฟซบุ๊ก ไปจนถึงวันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์นี้ ด้วยเหตุผล “เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านความมั่นคงภายใน” เนื่องจากตรวจสอบพบว่า “บุคคลบางกลุ่ม” กำลังบ่อนทำลายเสถียรภาพด้านความมั่นคงภายในเมียนมา ด้วยการเผยแพร่ข่าวเท็จ และข้อมูลอันบิดเบือน
ขณะที่รายงานยังระบุอีกว่า เน็ตบล็อกส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรอิสระสังเกตการณ์ด้านการใช้อินเทอร์เน็ต ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เอ็มพีที ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้านการสื่อสารโทรคมนาคมของเมียนมา ไม่ได้เพียงปิดกั้้นการเข้าถึงเฟซบุ๊ก แต่ยังรวมถึงอินสตาแกรม เมสเซนเจอร์ เซอร์วิส และวอตต์สแอปป์ ซึ่งเป็นบริการในเครือของเฟซบุ๊กด้วย
อย่างไรก็ตามในเวลาเดียวกัน บริษัทเทเลนอร์ของนอร์เวย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมเพียงไม่กี่แห่งของเมียนมา ที่เป็นผู้ประกอบการจากต่างประเทศ มีแถลงการณ์ “วิตกกังวล” และไม่เชื่อว่ามาตรการของทางการเมียนมา ดำเนินการตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระดับสากล
ต่อมาที่สำนักงานใหญ่ของเฟซบุ๊ก ที่เมืองเมนโล ปาร์ค ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้ออกแถลงการณ์ว่า รับทราบและกำลังติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งขอเรียกร้องให้รัฐบาลทหารเมียนมาฟื้นคืนการเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มของบริษัทโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่สำคัญ