Truthforyou

ยอดป่วยโควิดยังสูงต่อเนื่อง กทม.ตรวจพื้นที่เสี่ยง เจอต่างด้าวติดเชื้อ ต้องสั่งปิดรร.วุ่น สธ.ย้ำชัดเกณฑ์ฉีดวัคซีน ต้องใช้เวลา 7 วันทดสอบก่อนใช้

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก (ศบค.) แถลงสถานการณ์ “โควิด” ประจำวันที่ 3 ก.พ. 2564 ระบุว่า ผู้ป่วยใหม่วันนี้ 795 ราย แบ่งเป็นติดเชื้อในประเทศ 795 ราย

(ตรวจพบในโรงพยาบาล 24 ราย จากตรวจค้นหาเชิงรุก 759 ราย) เดินทางจากต่างประเทศเข้าสถานกักกันที่รัฐจัดให้ 12 ราย รวมผู้ป่วยยืนยันสะสม 21,249 ราย หายป่วยแล้ว 14,001 ราย เสียชีวิตสะสม 79 ราย

สำหรับผู้ติดเชื้อระลอกใหม่ มาจาก จ.สมุทรสาคร 99.23% วันนี้พบเพิ่มอีก 777 คน จากคัดกรองเชิงรุก 759 คน รองลงมาคือ กรุงเทพฯ 0.51 % ผู้ติดเชื้อใหม่วันนี้ 4 คน ส่วนในจังหวัดอื่น ๆ 0.26% ผู้ติดเชื้อใหม่วันนี้ 2 คน

ขณะที่ในกรุงเทพมหานคร มีผู้ที่เข้ารับการตรวจในโรงพยาบาล มากกว่าการตรวจคัดกรองเชิงรุก 89.74% ส่วนจังหวัดอื่น ๆ อีก 70 จังหวัด คิดเป็น 0.26 % สถานการณ์การแพร่ระบาดยังพบมีจำนวนมาก เพราะยังคงมีการค้นหาเชิงรุกต่อเนื่อง ฉะนั้นโอกาสที่จะเจอเคสจำนวนมากก็ยังมีอยู่ในขณะนี้


ขณะที่ 5 อันดับที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดของการระบาดระลอกใหม่ คือ จ. สมุทรสาคร กทม. ชลบุรี ระยอง และสมุทรปราการ โดยสมุทรสาครยังคงตรวจคัดกรองเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง จังหวัดที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อยังอยู่ที่ 14 จังหวัด ส่วนพื้นที่สีแดงที่พบผู้ติดเชื้อในช่วง 1-2 วันนั้นอยู่ที่ 7 จังหวัด ลดลงมา 5 จังหวัด อยากให้ 50-60 จังหวัด พื้นที่สีเขียวและขาว ขอให้ทุกคนดูแลสุขอนามัยเพื่อจะได้มีการผ่อนปรนผ่อนมาตรการต่าง ๆ ได้ยาวนานที่สุด โดยในเดือนนี้จะดูว่าผลของการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ แล้ว ตัวเลขควรจะต้องลดลง

ขณะที่วันนี้ พบอีก 2 คน ที่ จ.ตาก เป็นการเดินทางข้ามประเทศผ่านมาทางชายแดน และที่ จ.มหาสารคาม พบเชื่อมโยงโต๊ะแชร์ โดยวันนี้ได้มีการหารือกันถึงการคุม จ.ตาก ให้เป็นพื้นที่เฉพาะ ซึ่งอาจจะมีการใช้มาตรการที่เข้มขึ้น

 

ส่วนทางด้าน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร โดยร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกของกรุงเทพมหานคร แถลงผลการประชุมว่า สำนักอนามัยได้ค้นหาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่เสี่ยง ของโรงงานแห่งหนึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เขตภาษีเจริญ มีพนักงานทั้งหมด 887 คน เป็นคนไทย 300 คน และเป็นแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า 587 คน เบื้องต้นพบผู้ติดเชื้อรวม 27 ราย มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 130 ราย

นอกจากนี้โรงงานดังกล่าวยังมีโรงงานในเครืออีก 1 แห่ง มีพนักงานทั้งสิ้น 1,300 คน สำนักอนามัยได้จัดเก็บตัวอย่างน้ำลายพนักงานโรงงานในเครือเพื่อตรวจหาเชื้อโควิดแล้ว จำนวน 800 คน อยู่ระหว่างรอผลส่งตรวจหาเชื้อโควิด-19 และจะเร่งเก็บตัวอย่างน้ำลายพนักงานอีก 500 คน ให้แล้วเสร็จภายในวันพรุ่งนี้(3 ก.พ. 64)

ขณะที่บริเวณใกล้เคียงโรงงาน เป็นที่ตั้งของโรงเรียนวัดจันทร์ประดิษฐาราม สังกัดกรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานครจึงได้สั่งปิดโรงเรียนดังกล่าวชั่วคราว ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 5 ก.พ. 64

ส่วนโรงเรียนจันทร์ประดิษฐารามวิทยาคม สังกัดสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน ได้ประสานไปยังผู้บริหารโรงเรียนเพื่อขอให้พิจารณาปิดการใช้สถานที่ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้กรุงเทพมหานคร ได้มีคำสั่งปิดศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนของกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตบางบอน เขตหนองแขม และเขตภาษีเจริญ ตั้งแต่บัดนี้จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง

เพื่อเป็นการควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 และเพื่อความปลอดภัยของเด็ก ๆ ด้วย

และในเฟซบุ๊กจากเรื่องเล่าหมอชายแดนของแพทย์ชื่อดัง ยังได้โพสต์ข้อความว่า โรงพยาบาลแม่สอด จ.ตาก พบผู้ป่วยโควิด-19 ที่บริเวณตลาดศรีมอย 8 คน และตลาดพาเจริญ 2 คน รวม 10 คน และอาจจะมีมากกว่านี้ โดยไม่เกี่ยวกับ 7 คนแรกที่ติดเชื้อโควิด-19 ก่อนหน้านี้ ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามที่ทางสาธารณสุขแนะนำโดยเคร่งครัด

 


อย่างไรก็ตาม ได้มีความคืบหน้าเรื่องวัคซีน ในแง่ของความปลอดภัยในการฉีด โดยนายแพทย์เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทน ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉินกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ผลการตรวจเชื้อผู้ใช้แรงงานในโรงงานจังหวัดสมุทรสาคร จำแนกตามขนาดโรงงาน โรงงานที่พนักงานน้อยกว่า 200คน ตรวจ 3,091 คน พบผู้ติดเชื้อ 12 คน คิดเป็นร้อยละ 0.39 ขณะที่โรงงานที่พนักงานน้อยกว่า 500 คน ตรวจไปแล้ว 21,142 คน พบผู้ติดเชื้อ2,971 คน คิดเป็นร้อยละ 13.67 ตัวเลขนี้สะท้อนว่ายิ่งในโรงงานที่มีคนมากก็ยิ่งใกล้ชิดมาก ทำให้อัตราการติดเชื้อสูงเช่นกัน

ส่วนเรื่องการขึ้นทะเบียนวัคซีนในไทย ที่ถือเป็นการขึ้นทะเบียนเพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน แต่ไม่ได้ลดทอนการตรวจสอบความปลอดภัยแต่อย่างใด

โดยเป้าหมายหลักของไทยคือต้องการลดอัตราการเจ็บป่วย ลดอัตราการตาย ลดติดเชื้อ หากไทยเริ่มฉีดวัคซีน อาจเห็นผลได้ช้า เนื่องจากมีมาตรการป้องกันอื่น แต่ยังมีความจำเป็นจะต้องฉีด ส่วนผลข้างเคียงนั้นเป็นเรื่องเฉพาะตัว ที่ส่วนใหญ่มักจะเกิดอาการปวด บวม แดง ร้อน แต่ผลข้างเคียงที่รุนแรงนั้นถือว่าพบได้น้อยว่า แต่ในกรณีที่ฉีดแล้วเกิดความสูญเสีย หรือเกิดผลข้างเคียงรุนแรง แล้วพิสูจน์ได้ว่ามาจากวัคซีน รัฐต้องจ่ายค่าชดเชย กว่าวัคซีนจะผ่านการขึ้นทะเบียนจาก อย. นั้นต้องผ่านนักวิชาการหลายคน

มีระบบในการตรวจสอบความปลอดภัย ซึ่งคาดว่าหากวัคซีนเข้าประเทศแล้ว จะใช้เวลาในการทดสอบตามกระบวนการเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น ทั้งนี้ข้อมูลทั้งหมดเป็นข้อมูลเพื่อใช้ในการตัดสินใจของประชาชน เนื่องจากการจะฉีควัคซีนต้องอาศัยความสมัครใจของแต่ละบุคคล

Exit mobile version