สหรัฐและพันธมิตรตะวันตกงง?!?ปชช.เมียนมาไม่ต้านกองทัพ!! จีนชี้แค่ปรับครม.ครั้งใหญ่ ขณะญี่ปุ่นเตือนอย่าผลักไสไปซบจีน

1532

ทั่วโลกจับตามองการรัฐประหารในเมียนมาที่กำลังถูกกดดันจากชาติตะวันตก จีนไม่เรียกการกระชับอำนาจของกองทัพเมียนมาว่ารัฐประหาร แต่เรียก “การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งใหญ่” ขณะที่รมช.กลาโหมญี่ปุ่นเตือนสหรัฐ-ยุโรปยิ่งกดดันเมียนมามากยิ่งผลักให้ใกล้ชิดจีน-รัสเซียมากยิ่งขึ้น ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร ล่าสุดกองทัพปล่อยนักการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งทุกคนแต่กักบริเวรในบ้านพัก ยกเว้นอองซาน ซูจีและอดีตปธน.วิน มยินต์

วันนี้ สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า สื่อของทางการจีนเรียกการรัฐประหารเมียนมาเป็นเพียง “การปรับคณะรัฐมนตรี” เพื่อหลีกเลี่ยงการเรียกรัฐประหารในประเทศเมียนมา โดยระบุว่าการยึดอำนาจทางทหารในเมียนมาและการควบคุมตัวอองซานซูจีถือเป็นการ “สับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีครั้งใหญ่”

ขณะที่ผู้นำฝ่ายประชาธิปไตยจ๋าทั่วโลกโจมตีกองทัพเมียนมา แต่ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ของจีนใช้แนวทางที่นุ่มนวลโดยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในเมียนมา “แก้ไขปัญหาความแตกต่าง ด้วยสันติ” และสำนักข่าวซินหัวของจีนระบุว่าการที่กองทัพเข้าแทนที่รัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งหลังการรัฐประหาร ถือเป็นการ “สับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีครั้งใหญ่”

ขณะเดียวกัน Global Times สื่อภาษาอังกฤษของทางการจีนเช่นกันอ้างคำกล่าวของผู้เชี่ยวชาญที่ไม่เปิดเผยชื่อว่าการยึดอำนาจของนายพลในเมียนมาอาจพิจารณาได้ว่าเป็น “การปรับโครงสร้างอำนาจที่ผิดปกติของประเทศ”

ที่ผ่านมารัฐบาลจีนปฏิเสธที่จะวิจารณ์เรื่องของประเทศใดประเทศหนึ่ง โดยชี้ว่าเป็นการแทรกแซง “กิจการภายใน” แม้ว่ากรณีนั้นๆ จะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ตาม และโดยทางการจีนประกาศจุดยืนที่เป็นกลางในแนวทางนโยบายการต่างประเทศที่ไม่แทรกแซงกิจการประเทศอื่น

ทั้งนี้ เมียนมายังเป็นส่วนสำคัญของการริเริ่มยุทธศาสตร์ One Belt and Road รัฐบาลจีน ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ได้เดินทางเยือนประเทศเมียนมาเมื่อเดือนม.ค.2563 และสัญญาว่าจะสนับสนุนรัฐบาลเมียนมาในเส้นทางการพัฒนาที่ “เหมาะสมกับเงื่อนไขของเมียนมาเอง” ซึ่งคำพูดนี้สะท้อนว่าจีนไม่แทรกแซงกิจการภายในเมียนมา โดยปล่อยให้เมียนมาทำตามที่พิจารณาว่าเหมาสมกับตนแบบไหน อย่างไร?

ขณะที่ปธน.โจ ไบเดนแห่งสหรัฐฯ เรียกร้องให้คืนประชาธิปไตยในเมียนมาแก่รัฐบาลพลเรือนโดยเร็ว ส่วนอันโตนิโอ กูเตร์เรสเลขาธิการสหประชาชาติ รวมถึงสหภาพยุโรปและออสเตรเลียต่างพากันรุมประณามการรัฐประหารอย่างดุเดือด ขู่คว่ำบาตร แบนบริษัทที่เกี่ยวข้องกับกองทัพเมียนมา

นายยาสึฮิเดะ นากายามะ รมช.กลาโหมญี่ปุ่นให้ความเห็นกับสื่อในกรุงโตเกียวเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เกี่ยวกับการรัฐประหารในเมียนมาว่า  การเคลื่อนไหวตอบสนองสถานการณ์การเมืองในพม่าครั้งนี้ ควรทำอย่างระมัดระวัง   มิเช่นนั้น จะกลายเป็นผลดีแก่จีน และรัสเซียที่ได้สร้างความสัมพันธ์เพิ่มขึ้นอย่าง มีนัย ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองและการทหาร

 

กองทัพเมียนมาแสดงความชอบธรรมในการยึดอำนาจโดยรัฐธรรมนูญ ว่ากฎหมายให้อำนาจกองทัพทำได้เมื่อพิจารณาเห็นประเด็นที่กระทบความมั่นคงแห่งชาติและชี้ว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งอย่างกว้างขวาง ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนพ.ย.2564 ซึ่งพรรค NLD ของอองซานซูจีชนะอย่างถล่มทลาย และเกิดข้อสงสัยเรื่อง การทุจรติเกี่ยวกับรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง  ทางรัฐบาลและคณะกรรมการเลือกตั้งเมินเฉยต่อคำเรียกร้องของกองทัพให้ชี้แจงรายละเอียด เร่งเปิดสภาเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญในวาระลดอำนาจทหาร มุ่งสู่เป้าหมายเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง  ทำให้ในที่สุดแตกหัก กองทัพยึดอำนาจ กักบริเวณอองซาน ซูจีและพวก  หลังจากนั้นได้ประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นเวลา1ปีจึงจะคืนการเลือกตั้งใหม่

กองทัพเมียนมาเดินหน้ารวบอำนาจ ด้วยการประกาศปลดคณะรัฐมนตรีเดิมทั้งชุด และแต่งตั้งรัฐมนตรีใหม่ 11 คน ประกาศปิดสนามบินย่างกุ้งถึง พ.ค.2564 

ไม่ปรากฏสัญญาณว่า มีการเพิ่มกำลังรักษาความปลอดภัยบนท้องถนนในย่างกุ้ง ซึ่งเป็นอดีตเมืองหลวงและปัจจุบันยังคงเป็นเมืองใหญ่ที่สุดและเป็นศูนย์กลางธุรกิจการค้าของประเทศ นอกจากนั้นยังไม่เห็นร่องรอยว่าจะเกิดการประท้วงขนาดใหญ่จากประชาชนเมียนมา บ่งชี้ว่า กองทัพสามารถกุมอำนาจเบ็ดเสร็จและควบคุมสถานการณ์ไว้ได้เป็นอย่างดี