อีคอมเมิร์ซไทยมูลค่า 2.2 แสนล้านบาท สินค้าจีนล้นทะลัก ครองส่วนแบ่งตลาดเกิน 80% ชี้นโยบายรัฐเอื้อ เปิดทางจีนตั้งฐานโลจิสติกส์ทำให้กำหนดราคาต่ำได้ ขณะเอสเอ็มอีไทยยังไม่แข็งแรงสู้สงครามราคาไม่ไหว นักวิเคราะห์เตือนไทยสูญรายได้ “หลายหมื่นล้าน” ด้านสมาคมอีคอมเมิร์ซเร่งผู้ประกอบการไทยปรับตัว ไม่เฉพาะสินค้าจีน ช่องทางออนไลน์ของทุนข้ามชาติ รัฐต้องออกมาตรการคุมเข้ม เก็บภาษีสะกัดกั้นสงครามราคาและคุณภาพสินค้า หากไม่ทำด่วนไม่นานไทยขาดดุลการค้าต่างประเทศและเอสเอ็มอีไทยสูญพันธ์
ความเชื่อมั่นการค้าไทย-จีนส่งผลบวกโอกาสทางธุรกิจ ไม่เว้นค้าออนไลน์
นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการ หอการค้าไทย-จีนได้เปิดเผยถึง ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย-จีน ที่ได้จากการสำรวจความเห็นจาก คณะกรรมการกิตติมศักดิ์ คณะกรรมการบริหาร สมาชิกหอการค้า และผู้นำของสมาพันธ์หอการค้าไทยจีน ซึ่งเป็นผู้ประกอบการทั้งขนาดเล็ก กลางและใหญ่ ในช่วงกลางไตรมาส 3 ของปี 2563 เพื่อประเมินผลทางเศรษฐกิจไตรมาส 4 พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองว่าเศรษฐกิจจีนทั้งการค้าและการลงทุนไตรมาส 4 ปี 2563 จะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2563 ส่งผลให้การนำเข้าและส่งออกระหว่างไทยกับจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ในรอบ 7 เดือนแรก ของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.2563) การส่งออกไทยไปตลาดจีนขยายตัว 4.5% หรือเป็นสัดส่วน 12.8% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย จึงมีส่วนที่จะเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนการส่งออกไทยได้ระดับหนึ่งและเมื่อเศรษฐกิจจีนมีทิศทางดีขึ้นก็ย่อมส่งผลต่อการค้าและส่งออกของไทยกับจีนจะเติบโตเช่นกัน แต่ในมุมมองเศรษฐกิจไทยไตรมาสสุดท้ายปีนี้ บางส่วนมองว่ามีโอกาสที่จะทรงตัวและดีขึ้น ส่วนที่มองว่ามีโอกาสจะลดลงนั้นมีไม่มากนัก
ความเชื่อมั่นในการลงทุนพบว่า ปัจจัยสำคัญสุดคือการ แก้ไขปัญหาสถานการณ์ทางการเมืองและการประท้วงหากคลี่คลายได้จะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน ซึ่งให้ความสำคัญมากกว่า ปัจจัยลำดับที่สองคือการทดลองวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในคนได้อย่างสมบูรณ์ โดยนักธุรกิจที่ตอบการสำรวจคาดว่าจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 9-12 เดือน ที่จะทำให้เกิดความมั่นใจในการลงทุนเพิ่มขึ้น
สำหรับผลสำรวจไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 นักธุรกิจหอการค้าไทย-จีนยังมีความเชื่อมั่นในธุรกิจออนไลน์ ธุรกิจพืชผลทางการเกษตร บริการสุขภาพ โลจิสติกส์ และธุรกิจสินค้า เกษตรแปรรูปที่ยังสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ในทางตรงกันข้าม ได้ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วนในธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง และภาคอุตสาหกรรมการผลิตต้องปรับตัวให้ทันกระแสแข่งจันที่เหมือนคลื่นลูกใหญ่ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงพ้น
เปรียบเทียบค้าออนไลน์ต่างชาติ-สหรัฐหรือจีนเป้าหมายกินรวบเหมือนกัน
กรณีบริษัท Amazon ธุรกิจอีคอมเมิร์ซอันดับหนึ่งของโลก ที่เริ่มต้นจากร้านขายหนังสือในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1995 สู่การเป็นธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่ขายทุกอย่างในปัจจุบัน
Amazon ตีโจทย์การค้าออนไลน์ในปัจจุบันว่ามีจุดอ่อนที่ค่าขนส่ง ผู้ซื้อไม่อยากจ่ายค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นจากค่าสินค้า เลยเปิดบริการ Amazon Prime คือให้ลูกค้าเหมาจ่ายค่าขนส่งแบบรายปีในราคา 99 เหรียญสหรัฐ บริการส่งสินค้าฟรีตลอดปีไม่จำกัดจำนวนครั้ง ทั้งขยายคลังสินค้าขนาดใหญ่กระจายตามรัฐต่างๆ เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการจัดส่ง
บทสรุปปัจจุบัน คือ Amazon แทบจะกินรวบค้าปลีกออนไลน์ในสหรัฐฯ ขยายไปในยุโรป และเจฟฟ์ เบซอส เจ้าของ Amazon ขยับขึ้นมาเป็นมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกในปี 2019
กรณีบริษัท Alibaba ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคอาเซียนซึ่งมีจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือ ในปี 2016เมื่ออาลีบาบาธุรกิจอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของจีนเข้าเทคโอเวอร์ลาซาด้า ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มให้บริการด้านอีคอมเมิร์ซใน 6 ประเทศอาเซียน คือ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
เหตุการณ์ดังกล่าว นับเป็นก้าวสำคัญที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของจีนทยอยรุกคืบตลาดในภูมิภาคอาเซียนอย่างเต็มตัว สิ่งสำคัญที่อาลีบาบาได้จากการเทคโอเวอร์ลาซาด้าคือ ‘ฐานข้อมูลลูกค้า’ นั่นเท่ากับว่าสามารถรู้ถึงพฤติกรรมการซื้อของคนใน 6 ชาติอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด
นับแต่นั้นมา ลาซาด้าภายใต้ปีกอาลีบาบาจึงเริ่มมีบทบาทสำคัญในตลาดอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย ลาซาด้าเป็นแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยอย่างมาก ด้วยบริการจัดส่งฟรีและสามารถเข้าถึงสินค้าราคาถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป ที่สำคัญภายในแพลตฟอร์มลาซาด้า มี ‘Section Global Collection’ ซึ่งเป็นหมวดสินค้าจากประเทศจีนและจัดส่งแบบ B2C คือจากโรงงานในประเทศจีนถึงผู้บริโภคคนไทยโดยตรง
ไม่เฉพาะแค่ ลาซาด้า กลุ่มอาลีบาบายังมีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่าง Aliexpress ที่สามารถรองรับการใช้งานได้นับร้อยภาษา รวมทั้งภาษาไทย ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าออนไลน์จากประเทศจีนได้โดยตรง และราคาถูกกว่าซื้อร้านค้าปลีกในประเทศไทย มีบริการจัดส่งฟรี ในกรณีที่สั่งสินค้าขั้นต่ำตามจำนวนหรือราคาที่กำหนด ยิ่งทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคคนไทยนิยมสั่งซื้อออนไลน์มากยิ่งขึ้น
สิ่งที่น่ากังวลคือ ทุกคนสามารถเข้าถึงสินค้าจากจีนได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น ที่สำคัญ ราคาถูกกว่าสินค้าที่จำหน่ายในประเทศไทย ส่งตรงจากโรงงานประเทศจีนถึงมือผู้บริโภคประเทศไทยโดยตรงในรูปแบบการค้าออนไลน์ข้ามแดน (Cross Border e–Commerce) โดย 80% ของสินค้าที่ขายในแพลตฟอร์มลาซาด้า คือ สินค้าจากประเทศจีน ที่สำคัญหากสินค้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท ไม่ต้องจ่ายภาษีนำเข้า นั่นหมายความว่า การค้าออนไลน์ในทุกวันนี้ ‘คู่แข่ง’ ของผู้ผลิตไทยเป็นต่างชาติและเงินกำลังไหลออกจากประเทศไทยโดยที่ไม่มีใครได้ทันสังเกตุ
สมรภูมิอีคอมเมิร์ซแย่งลูกค้ากันดุเดือดทุกค่าย-ใครชนะกินรวบ
สมาคมผู้ประกอบการอิเลคโทรนิกส์ไทย (Thai E-Commerce Association) ระบุว่า-ปี 2561- ลาซาด้า, ช้อปปี และ เจดี จำหน่ายสินค้า 75 ล้านชิ้น แบ่งเป็นจากจีน 60 ล้านชิ้น ในประเทศไทย 17 ล้านชิ้น-ปี 2562 จำหน่ายสินค้า 175 ล้านชิ้น แบ่งเป็นจากจีน 135 ล้านชิ้น ในประเทศไทย 40 ล้านชิ้น คิดเป็น 77% ต่อ 23% –ปี 2563 เฉพาะลาซาด้า จำหน่ายสินค้าจีน (ม.ค.-ก.ย.63) 26.2 ล้านชิ้น ในประเทศไทย 31.1 ล้านชิ้น
ใน 1 ปี(2561-2562)ปริมาณการขายเพิ่มขึ้นสูงกว่า 1 เท่าตัว สะท้อนความนิยมซื้อของออนไลน์ของไทยเติบโตมากไม่เฉพาะในเมืองหลัก แต่ขยายไปทั่วทุกภูมิภาคแล้ว เพราะเทคโนโลยีทันสมัยมีราคาเข้าถึงได้ สิ่งที่เกิดขึ้นกับเอสเอ็มอีไทยคือสู้ราคาและบริการกับสินค้าจีนไม่ได้เพราะมีต้นทุนสูงกว่า ตั้งแต่ต้นทางการผลิต การขายการจัดเก็บสินค้าและการบริการจัดส่ง ไม่นับเรื่องคุณภาพสินค้า ภาพลักษณ์ แบรนด์ และอื่นๆ ทั้งที่ผลิตในประเทศไทย
หนทางแก้ไข- รัฐบาลต้องเป็นหน่วยหลักคุมกฏ,เก็บภาษี
ห้ามความชอบคนซื้อยาก ถ้าสินค้าต้องตา ราคาถูกใจ บริการสะดวกรวดเร็ว แต่ปล่อยไว้แบบนี้ไม่ดีแน่ นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ที่ปรึกษาสมาคมผู้ค้าปลีกไทยแนะว่า “สิ่งที่ต้องเร่งด่วนคือ สะกัดไม่ให้สินค้าจีนทะลักเข้ามาในช่องทางออนไลน์มากเกินไป ต้องกำหนดมาตรการควบคุมด้านราคา และมาตรการเสียภาษี จึงจะทำให้เอสเอ็มอีไทยมีโอกาสแข่งขันทางธุรกิจได้” สมาคมค้าปลีกได้เสนอต่อนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาในการควบคุมอีคอมเมิร์ซดังนี้
- รัฐจัดเก็บภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่บาทแรก
- ห้ามอีคอมเมิร์ซ ขายราคาต่ำกว่าทุน เพราะส่งผลกระทบโดยตรงกับผู้ประกอบการทุกระดับโดยเฉพาะเอสเอ็มอีไทย
- ปราบปรามจริงจังสินค้าหนีภาษีที่มาจากค้าออนไลน์
ข้อตกลงทางสากลที่ยกเว้นอากรและภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาทนั้นเป็นเพียงไกด์ไลน์ไม่ได้บังคับ และหลายประเทศจัดการปัญหานี้โดยยกเลิกและจัดเก็บภาษีแล้วเนื่องจากเผชิญปัญหาเรื่องสงครามราคาเกิดความไม่เท่าเทียมกับสินค้าที่ผลิตภายในประเทศเหมือนกัน เช่นมาเลเซีย, อินโดนีเซีย เป็นต้นประเด็นนี้ฝั่งศุลกากรแจงว่า ภาษีศุลกากรอาจยกเว้นไม่ได้เพราะราคาไม่ถึง 1,500 บาทแต่ภาษีมูลค่าเพิ่มน่าจะทำได้ และอยู่ในระหว่างการพิจารณาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สินค้าจีนทีมียอดขายสูงสุด 5 อันดับได้แก่1.อุปกรณ์เสริมโทรศัพท์มือถือ จำนวน 3.3 ล้านชิ้น 2.เครื่องใช้ไฟฟ้า 3.02 ล้านชิ้น 3.เสื้อผ้ารองเท้าผู้หญิง 1.79 ล้านชิ้น 4. เกมส์และของเล่น 1.68 ล้านชิ้น 5. เสื้อผ้ารองเท้าผู้ชาย 1.59 ล้านชิ้น