หมอศิริราชเผยทั่วโลก ฉีดวัคซีนแล้ว 46 ล้านคน เห็นทางสว่าง แนวโน้มรอดโควิด ผู้ป่วยรายใหม่ลดลง

1995

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล แถลงสถานการณ์หลังทั่วโลกฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 โดยระบุว่า สถานการณ์การฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ล่าสุด ทั่วโลกฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 แล้ว 90 ล้านโดส

รวมประมาณ 45 ล้านคน ซึ่งเป็นข้อมูล ณ วันที่ 30 ม.ค. คาดว่าวันนี้ทั่วโลกจะฉีดวัคซีนไปแล้ว 100 ล้านโดส โดยมีประชากรได้รับวัคซีนแล้วประมาณ 46 ล้านคน

สำหรับประเทศที่มีการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 มากที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา ฉีดแล้ว 27.88 ล้านโดส ประชากรได้รับแล้ว 22.86 ล้านคน คิดเป็น 6.97% ของประชากรทั้งหมด จากประชากร 328 ล้านคน รองลงมาคือ ประเทศจีน ฉีดไปแล้ว 22.77 ล้านโดส และอังกฤษ ฉีดแล้ว 8.86 ล้านโดส รวม 8.38 ล้านคน คิดเป็น 12.57% จากประชากรทั้งหมด 66.65 ล้านคน

“อิสราเอล แม้จะเป็นประเทศที่ไม่ใหญ่มาก แต่ฉีดวัคซีนแล้ว 4.66 ล้านโดส ฉีดแล้ว 2.97 ล้านคน ประชากรทั้งหมด 8.88 ล้านคน คิดเป็น 33.44% เป็นประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่อประชากร 100 คนมากที่สุดในโลก”

นอกจากนี้ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ยังย้ำถึงผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ว่า ผลข้างเคียงนั้นไม่รุนแรง และมักหายเองได้ เช่น อาการปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีดวัคซีน ไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ หนาวสั่น และปวดข้อ แม้ในช่วงต้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา

มีรายงานผู้เสียชีวิตหลังจากฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 แต่บางกรณีไม่ได้มีความสัมพันธ์กับการฉีดวัคซีนโดยตรง ผลข้างเคียงที่รุนแรง จนถึงเสียชีวิตถือว่าพบน้อยมาก

ขณะนี้วัคซีนที่ฉีดมากที่สุด คือ วัคซีนเทคโนโลยี Messenger RNA (mRNA) ซึ่งต้องฉีด 2 เข็ม เมื่อฉีดเข็มแรก ร่างกายจะเริ่มมีภูมิคุ้มกัน 3 สัปดาห์ถัดมาฉีดเข็มที่ 2 แล้วต้องรออีก 1 สัปดาห์เพื่อให้ภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นเต็มที่ ขณะที่ปัจจุบันบางประเทศมีการใช้วัคซีนมากกว่า 1 ประเภทหรือแบรนด์ เช่น อังกฤษ ใช้ทั้งไฟเซอร์ โมเดอร์นา และแอสตราเซเนกา

“ข้อมูลเท่าที่ผ่านมา วัคซีนทั้ง 4 ชนิดที่ได้รับความนิยมในการฉีดทั่วโลก พบว่าการฉีดวัคซีนค่อนข้างปลอดภัย”

จุดประสงค์หลักในการฉีดวัคซีนเพื่อไม่ให้ติดเชื้อ ลดอัตราการระบาด ส่วนการประเมินผลภายหลังการฉีดวัคซีนว่าป้องกันโรคได้หรือไม่ ต้องใช้เวลา ดังนั้น การสวมหน้ากาก รักษาระยะห่าง หมั่นทำความสะอาดมือ หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ชุมชนยังสำคัญอยู่

“การเลือกวัคซีนไม่จำเป็นต้องเลือกวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงใกล้ 100% โดยทั่วไปไม่น้อยกว่า 50% ซึ่งวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ฉีดประจำปี ทั่วไปมีประสิทธิภาพประมาณ 50% ดังนั้น ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน ยังอาจเป็นไข้หวัดใหญ่ แต่ไม่รุนแรง และลดอัตราการเสียชีวิต”