เปิดไทม์ไลน์ ย้อนรอย “รัฐประหาร” 3 ครั้ง ที่เกิดขึ้นในเมียนมา เผยชะตากรรมล่าสุดของ “ซูจี” หลังถูกขังใน”บ้านพักกรุงเนปิดอว์”

2442

หลังจากเกิดเหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมา โดยมีการจับกุมตัวนาง “อองซาน ซูจี” ไว้นั้น ทั้งนี้เหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นระหว่างรัฐบาลพลเรือนกับกองทัพเมียนมา ท่ามกลางกระแสข่าวว่า อาจเกิดการรัฐประหารโดยกองทัพ เพื่อล้มรัฐบาล และอ้างข้อกล่าวหาว่ามีการทุจริตเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน ซึ่งพรรคของนางซู จี ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย

ขณะที่กองทัพเมียนมา ภายใต้การนำของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ก่อรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาล นางออง ซาน ซูจี ตามคาดนั้น สถานีโทรทัศน์แห่งชาติเมียนมาได้ถ่ายทอดสด เมื่อกองทัพเมียนมาออกแถลงการณ์แจ้งเหตุผลที่มีการบุกควบคุมตัว ออง ซาน ซูจี พร้อมกับประธานาธิบดีอู วิน มินต์ และแกนนำคนอื่น ๆ ของพรรครัฐบาล สันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD เมื่อช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมาว่า เพื่อเป็นการตอบโต้การโกงการเลือกตั้งเมื่อเดือน พ.ย. นอกจากนี้ กองทัพเมียนมายังได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศเป็นเวลา 1 ปีด้วย


สำหรับเส้นทางข่าวลือการรัฐประหารในเมียนมา

บีบีซีไทย ได้รายงานเส้นทางการทำรัฐประหารในเมียนมาตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ถึงสถานการณ์ทางการการเมืองในภาวะตึงเครียด ระบุไว้ดังนี้

– 26 มกราคม 2564

โฆษกกองทัพเมียนมาไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่กองทัพจะเข้ายึดอำนาจ เพื่อจัดการกับสิ่งที่เขาเรียกว่า “วิกฤตทางการเมือง”

– 27 มกราคม 2564

พล.อ. อาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา กล่าวในงานให้โอวาทนักเรียนเตรียมทหารแห่งวิทยาลัยป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหม ถึงความเป็นไปได้ในการยกเลิกรัฐธรรมนูญของประเทศ ซึ่งกล่าวว่ารัฐธรรมนูญคือกฎหมายแม่ของกฎหมายทั้งปวง แต่ “คงจำเป็นต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญ หากคนไม่ปฏิบัติตาม” ทั้งนี้ถ้อยแถลงของ พล.อ. อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ถูกเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์เมียวดีฉบับวันรุ่งขึ้นด้วย

– 28 มกราคม 2564

มีการประชุมร่วมกันระหว่างตัวแทนรัฐบาลกับคณะทหาร ที่กรุงเนปิดอว์ ก่อนที่โฆษกพรรคเอ็นแอลดีจะออกมาเปิดเผยกับรอยเตอร์สว่า “ไม่ประสบความสำเร็จ” ในการหาทางออกจากวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้น

– 29 มกราคม 2564

ประชาชนผู้สนับสนุนพรรคยูเอสดีพีหลายร้อยคนชุมนุมประท้วง กกต. ทั้งที่กรุงเนปิดอว์และกรุงย่างกุ้ง แต่ยังไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บและไม่มีรายงานการใช้ความรุนแรง

– 1 กุมภาพันธ์ 2564

โฆษกพรรคเอ็นแอลดีกล่าวว่า นาง ซู จี และ ผู้นำของพรรคหลายคนถูกพาตัวจากบ้านพักไปตั้งแต่ช่วงรุ่งสาง

 

เมื่อย้อนรอยไปดูเหตุกาณณ์รัฐประหารในเมียนมา จะพบว่าหลังจากที่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ ในพ.ศ. 2491 เมียนมามีชื่ออย่างเป็นทางการขณะนั้นว่า สหภาพพม่า โดยมีเจ้าฟ้ากัมโพชรัฐสิริปวรมหาวงศาสุธรรมราชา หรือ“เจ้าส่วยแต้ก” เป็นประธานาธิบดีคนแรก และ “อู นุ” เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก ต้องเผชิญกับสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อที่สุดท่ามกลางกลุ่ม ชาติพันธุ์ที่มีอยู่มากมายแต่สถานการณ์ในประเทศมีสถานการณ์ตึงเครียดทางการทหารและการลุกฮือของชนกลุ่มน้อย

“พล.อ. อาวุโส เนวีน”ผู้นำเผด็จการของรัฐบาลทหารของพม่า ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีพม่าอย่างยาวนานถึง 26 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2505 ถึง พ.ศ. 2531

 

รัฐประหารครั้งที่ 1

ในปี พ.ศ. 2491 “พล.อ. อาวุโส เนวีน” ขึ้นมามีอำนาจในกองทัพ ต่อมาช่วงต้นปี 2492 ได้ขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารและเข้าควบคุมทหารทั้งหมดและเนวินได้จัดระเบียบกองทัพใหม่ ต่อมา “อู นุ” ได้ร้องขอให้เนวินเป็นนายกรัฐมนตรีเฉพาะกาลเมื่อ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2501 หลังจากที่สันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์แตกออกเป็นสองส่วน และเกือบไม่ได้รับการไว้วางใจจากรัฐสภา

“พล.อ. อาวุโส เนวีน” ได้ฟื้นฟูกฎระเบียบใหม่ในระหว่างที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรีเฉพาะกาล การเลือกตั้งใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2503 “อู นุ” เป็นฝ่ายชนะ และได้จัดตั้งรัฐบาล

วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2505 “พล.อ. อาวุโส เนวีน” ขึ้นสู่อำนาจอีกครั้ง โดยการก่อ “รัฐประหารครั้งแรก” ตัวเองมีสถานะเป็นประมุขรัฐในฐานะประธานสภาปฏิวัติสหภาพ และเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย เขาได้จับกุม “อู นุ” และคนอื่น ๆ อีกหลายคน และประกาศจัดตั้งรัฐสังคมนิยม

หลังจากมีการลุกประท้วงที่มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ในเดือนกรกฎาคม ของปีเดียวกัน เขาได้มีการส่งทหารเข้าไปจัดระเบียบใหม่ มีการเผาผู้ประท้วงและทำลายอาคารสหภาพนักศึกษา หลังจากนั้น มหาวิทยาลัยทั่วประเทศถูกสั่งปิดเป็นเวลา 2 ปี จนถึงเดือนกันยายน ปี 2507

ภายหลังจากการรัฐประหาร พม่าถูกปกครองภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร นำโดยคณะปฏิวัติของ “พล.อ. อาวุโส เนวีน” สังคมทั้งหมดถูกควบคุมและอยู่ภายใต้อำนาจรัฐ ผ่านรูปแบบสังคมนิยม ซึ่งดัดแปลงมาจากแนวคิดของสหภาพโซเวียต และ การวางแผนจากส่วนกลาง

รัฐธรรมนูญใหม่แห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่า ได้ถูกประกาศใช้ปี 2517 ในช่วงเวลานั้น พม่าถูกปกครองโดยระบบพรรคการเมืองเดียว คือ พรรคโครงการสังคมนิยมพม่า ที่นำโดย”พล.อ. อาวุโส เนวีน” และ อดีตนายทหารหลายนาย จนถึงปี 2531

รัฐประหารครั้งที่ 2 ในปี 2531

การปกครองประเทศพม่าด้วยระบบเดียวของ “พล.อ. อาวุโส เนวีน” ทำให้ประเทศมีหนี้สิน 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มีเงินสดสำรองระหว่าง 20 – 35 ล้านเหรียญ อัตราหนี้สินภาคบริการเป็นครึ่งหนึ่งของงบประมาณของประเทศ

วันที่ 5 กันยายน 2530 “พล.อ. อาวุโส เนวีน” ได้ประกาศยกเลิกธนบัตรราคา 100, 75, 35 และ 25 จ๊าด ที่เพิ่งออกใช้ใหม่ และให้ใช้ธนบัตรเพียง 45 และ 90 จ๊าด เนื่องจากเป็นธนบัตรที่ตัวเลขหารด้วยเก้าลงตัว ซึ่งถือเป็นเลขนำโชคของเขา

ในเดือนพฤศจิกายน 2528 มีนักศึกษาออกมาประท้วงคว่ำบาตรรัฐบาลที่ประกาศยกเลิกธนบัตรที่ใช้ในตลาด ต่อมามีการประท้วงครั้งใหญ่อีกครั้งในมัณฑะเลย์ โดยพระสงฆ์และกรรมกร มีการเผาอาคารของรัฐและธุรกิจของรัฐ นักศึกษาในย่างกุ้งลุกฮือประท้วงการปกครองของรัฐบาล “พล.อ. อาวุโส เนวีน” อีกครั้ง

การประท้วงครั้งนี้ได้ดึงมวลชนจากหลากหลายอาชีพทั่วประเทศ มาร่วมด้วย ซึ่งมีการปะทะระหว่างประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ จนมีผู้บาดเจ็บ ล้มตายเป็นจำนวนมาก ทำให้ “พล.อ. อาวุโส เนวีน” ที่อยู่ในตำแหน่งมากว่า 26 ปี ประกาศลาออก เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2531

จากนั้นได้ ส่งมอบอำนาจให้ “พลจัตวา เซนวี่น” ขึ้นเป็นผู้นำคนใหม่แห่งพม่า แต่บรรดานักศึกษายังไม่ยอมรับ และยังมีการประท้วงอยู่ เรียกร้องให้ “นายพล เซนวี่น” และรัฐบาลทหารสลายตัวไป โดยการนัดหยุดงานในวันที่ 8 สิงหาคม 2531 หรือ ค.ศ. 1988 ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “การก่อการกำเริบ 8888”

การประท้วงครั้งนั้น เกิดขึ้นจากชาวพม่า มีทั้งชนกลุ่มน้อย ชาวพุทธและมุสลิม นักศึกษา คนงาน เยาวชน ที่มีการเรียกร้องให้ทหารออกมาร่วมกับการเรียกร้องของประชาชน

รัฐประหารครั้งที่ 3 พ.ศ. 2535

จากนั้นในปี 2535 เกิดการรัฐประหาร ครั้งที่ 3 นำโดย “พล.อ.อาวุโส ต้าน ชเว” ผู้นำสูงสุดของกองทัพ ได้ขึ้นมาล้มอำนาจของ “พล.อ. อาวุโส ซอมอง” ผู้นำเผด็จการของรัฐบาลพม่า ที่สามารถล้มอำนาจ “พล.อ. อาวุโส เนวีน” ได้โดยให้เหตุผลว่า “มีปัญหาด้านสุขภาพ”

ต่อมาเมื่อสภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจจากพุทธสังคมนิยมมาเป็นกึ่งเสรีตามแนวทุนนิยม เขาเปลี่ยนชื่อประเทศจากพม่า มาเป็น “เมียนมา” พร้อมเปลี่ยนชื่อคณะผู้ปกครองทหารพม่าจากสภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐมาเป็นสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐดังปัจจุบัน

“พล.อ.อาวุโส ต้าน ชเว” ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งสูงสุดของประเทศในทุกด้าน ตั้งแต่เป็นประธานสภาสันติภาพฯ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกลาโหม และผู้บัญชาการทหารสูงสุด

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ตอนนี้ ทางด้านโฆษกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี เปิดเผยว่านางออง ซาน ซูจี ประธานพรรคเอ็นแอลดี และดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาแห่งรัฐของเมียนมาว่า

ขณะนี้ถูกทหารควบคุมตัวไว้ในบ้านพักในกรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงของประเทศ เธอสบายดี และออกมาเดินรอบ ๆ บ้านอยู่บ่อยครั้ง นอกจากนี้นางซูจี ยังได้เรียกร้องให้ประชาชนชาวเมียนมา ร่วมกันต่อต้านการทำรัฐประหาร และการกระทำใด ๆ ในอันที่จะทำให้เมียนมากลับไปสู่ระบอบเผด็จการทหารด้วย

และปฏิเสธไม่ได้ว่า สายตาจากทุกมุมโลกตอนนี้ ได้จับจ้องมาที่การเคลื่อนไหวของพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ที่กำลังจะเกษียณจากกองทัพในปีนี้ ด้วยวัย 65 ปี และการกลับมากุมอำนาจได้ คือ ต้องเล่นการเมืองเท่านั้น ซึ่งเจ้าตัวอาจคำนวณดูแล้วว่า การเลือกตั้งไม่น่าจะเป็นหนทางให้เขาอยู่ในอำนาจได้ แม้กองทัพจะอ้างว่า จะรีบจัดการเลือกตั้งภายใน 1 ปี เพื่อส่งมอบอำนาจให้ใครก็ตามที่ชนะการเลือกตั้ง