ปริญญา โดดป้องกลุ่มการ์ดวีโว่ มีสิทธิชุมนุม ซัดตำรวจทำเกินกว่าเหตุ สลายชุมนุมไม่ขออำนาจศาล ทั้งๆที่หลักฐานชัด กลุ่มการ์ดปาก้อนหินใส่ตำรวจ!?!
จากกรณีเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 อองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ, อู วินมิ่นท์ ประธานาธิบดีเมียนมา และผู้นำคนอื่น ๆ ได้ถูกควบคุมตัวโดยกองทัพเมียนมา ต่อมาได้มีการจับกุม อองซาน ซูจี ในช่วงที่กำลังเกิดความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลพลเรือนกับกองทัพเมียนมา ท่ามกลางกระแสข่าวว่าอาจเกิดการรัฐประหารโดยกองทัพเพื่อล้มรัฐบาล โดยอ้างข้อกล่าวหาว่ามีการทุจริตเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2563 ซึ่งพรรคของนางซู จี ได้รับชัยชนะถล่มทลาย ต่อมาทางกองทัพเมียนมา ประกาศ สถานการณ์ฉุกเฉิน เสมือนเป็นการยึดอำนาจ แล้ว ตั้ง “รองปธน. Myint Swe” เป็น ประธานาธิบดี คุมอำนาจ 1 ปี
ต่อมาทางด้าน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และน.ส.พรรณิการ์ วานิช ได้เดินทางไปที่สถานทูตเมียนมา มาร่วสังเกตการณ์ เนื่องจากมีการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร และกลุ่มการ์ด Wevo และแรงงานชาวเมียนมา รวมตัวกันที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย ถนนสาทรเหนือ เพื่ออ่านแถลงการณ์แสดงความไม่เห็นด้วยต่อการทำรัฐประหารในเมียนมา และเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางอองซานซูจี ทั้งหมด 3 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ และเมียนมา ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 โดยทางรัฐบาลประกาศใช้มาตรการควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ควบคุมสูง (สีแดง) ที่ห้ามจัดการรวมตัวใดๆ ที่มีคนจำนวนมาก โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจสน.ยานนาวา ดูแลความสงบเรียบร้อย
อย่างไรก็ตามมวลชนชาวเมียนมาได้ย้ายไปรวมตัวที่หน้าอาคาร ข้างสถานทูตเมียนมา เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมชุมนุมบริเวณหน้าสถานทูต ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ประกาศขอให้ทางกลุ่มยุติ แต่การ์ด wevo ของม็อบราษฎรที่นำโดยนายปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ ไม่ยอมเลิกทั้งยืนกรานจะชุมนุมต่อ
จนเวลาประมาณ 17.00 น. กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน พร้อมโล่และกระบองจึงได้เข้าสลายการชุมนุมม็อบราษฎร โดยตั้งแถวเคลื่อนขบวนมาจาก ถ.ปั้น ทำให้เกิดการปะทะกันขึ้นระหว่างตำรวจ และกลุ่ม wevo ทางกลุ่มผู้ชุมนุมได้ใช้ข้าวของต่างๆ ขว้างปาใส่เจ้าหน้าที่ และขณะที่ตำรวจเคลื่อนขบวนบีบเข้ากระชับพื้นที่ ก็เกิดเสียงคล้ายระเบิดดังขึ้น มีเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน บาดเจ็บ 2 นาย ขณะเดียวกัน ตำรวจได้ควบคุมตัวผู้ชุมนุมได้ 3 คน พร้อมเดินหน้ากระชับพื้นที่ไปบนถนนสาทร ผลักดันผู้ชุมนุมไปจนถึงสถานีรถไฟฟ้าสุรศักดิ์จนเกิดการขว้างปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่และมีการขว้างระเบิดควันสีใส่ตำรวจด้วย
ล่าสุดทางด้าน นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมและสลายการชุมนุมกลุ่มประชาชนที่ออกมาต่อต้านรัฐประหารเมียนมาที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย โดยระบุข้อความว่า
เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมและจับกุมโดย #ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ที่ #ต้องขอศาลก่อน
แม้ว่าพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 จะกำหนดว่า การจัดชุมนุมจะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนอย่างน้อย 24 ชั่วโมง (มาตรา 10) โดยหากไม่แจ้งก่อนจะถือเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (มาตรา 14)
แต่การดำเนินการต่อการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย #เจ้าหน้าที่จะต้องมีการประกาศให้เลิกชุมนุมก่อน (มาตรา 21 วรรคหนึ่ง(1)) หากผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตาม #เจ้าหน้าที่ก็จะต้องไปร้องขอต่อศาลเพื่อมีคําสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม โดยศาลที่ต้องไปขอคือศาลแพ่งหรือศาลจังหวัด (มาตรา 22) ต่อเมื่อศาลมีคำสั่งให้เลิกชุมนุม แล้วผู้ชุมนุมยังไม่เลิกชุมนุม เจ้าหน้าที่จึงจะมีอำนาจ “ดำเนินการให้มีการเลิกชุมนุม” โดยประกาศพื้นที่ตรงนั้นให้เป็น “พื้นที่ควบคุม” และให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ในเวลาที่กำหนด (มาตรา 23) เมื่อเวลาครบกำหนดแล้วผู้ชุมนุมยังไม่ออกจากพื้นที่ถึงจะไปจับกุม และดำเนินการอื่นๆ ให้เลิกชุมนุมได้ (มาตรา 24)
แล้วสำหรับ #การชุมนุมที่หน้าสถานทูต จริงๆ แล้วพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะก็ไม่ได้ห้าม เพียงแต่กำหนดว่า “ต้องไม่กีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงาน หรือการใช้บริการสถานที่” (มาตรา 8(4)) และหากมีการกีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการปฏิบัติงาน เจ้าหน้าที่ก็ต้อง “ประกาศให้แก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด” ก่อน (มาตรา 21 วรรคหนึ่ง(2)) หากผู้ชุมนุมไม่แก้ไข ถ้าเจ้าหน้าที่จะดำเนินการต่อไปก็ต้องไปขออำนาจศาลก่อนเช่นกัน
ว่าง่ายๆ คืออยู่ดีๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะไปสลายการชุมนุมและจับกุมผู้ชุมนุมเลยไม่ได้ แม้จะเป็นการชุมนุมที่ไม่แจ้งก่อน หรือเป็นการชุมนุมที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอนตามกฎหมายคือ #1ต้องมีคำสั่งให้เลิกชุมนุมก่อน จากนั้น #2ต้องไปขอศาลให้มีคำสั่งให้เลิกชุมนุม ต่อเมื่อศาลสั่งให้เลิกชุมนุมแล้วไม่เลิก จึงจะ #3ดำเนินการให้มีการเลิกชุมนุม โดย #4ต้องประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมและกำหนดเวลาให้ออกจากพื้นที่ก่อน เมื่อเวลาครบกำหนดแล้วผู้ชุมนุมยังไม่ออกจากพื้นที่ ถึงจะไป #จับกุม ได้ครับ
เพราะตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 คือ ต้องแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่นก่อน #โดยการสลายการชุมนุมต้องเป็นวิธีท้ายที่สุด และดังนั้นจึงต้องยากที่สุด คือต้องไปขอศาลก่อน จนบางท่านสงสัยว่ามัวแต่ต้องไปขอศาลก่อนจะไปทันเวลาได้อย่างไร ก็สงสัยไม่ผิดหรอกครับ เพราะการชุมนุมแบบแฟลชม็อบ หรือไม่ค้างคืน ไม่ยืดเยื้อ พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะไม่ต้องการให้ไปสลายครับ เพราะเค้าไม่ได้ยืดเยื้อและเลิกกันเองอยู่แล้ว การสลายการชุมนุมจึงใช้เฉพาะการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ไม่ยอมเลิกเท่านั้นครับ
แล้วถ้าจะบอกว่าสถานการณ์ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็ต้องใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ไม่ต้องใช้พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 อันนี้ก็ไม่ถูกครับ เพราะการชุมนุมที่ฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็เป็นแค่ประเด็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่การควบคุมหรือสลายก็ต้องทำตามขั้นตอนตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะอยู่ดีครับ และถ้าหากจะอ้าง พรก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ผมก็ขอให้เจ้าหน้าที่ดูมาตรา 17 ของ พรก.สถานการณ์ฉุกเฉินด้วยครับ คือการปฏิบัติหน้าที่ก็ต้อง “ไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น” ครับ
เจ้าหน้าที่รัฐมักจะเรียกร้องให้ประชาชนทำตามกฎหมาย แต่เจ้าหน้าที่ก็ต้องทำตามกฎหมายด้วยเช่นกัน กรณีที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ และรวมถึงในวันนี้ที่มีการสลายการชุมนุมและจับกุมโดยไม่ไปผ่านศาลและทำตามขั้นตอนต่างๆ ตามกฎหมายก่อน ผมเห็นว่า #เจ้าหน้าที่ตำรวจทำผิดกฎหมาย และสำหรับตามภาพนี้ผมเห็นว่า #ทำเกินกว่าเหตุ ด้วยครับ
สำหรับความคืบหน้าล่าสุด ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถ.เจริญกรุง 63 พนักงานสอบสวน สน.ยานนาวา ได้นำตัวนายปัณณพัทธ์ จันทนางกูล อายุ 19 ปี และ นายเกียรติศักดิ์ พันธ์เรณู อายุ 20 ปี ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมจากกรณีเกิดเหตุชุลมุนกลางถนนสาทร หลังกลุ่มการ์ด wevo (วีโว่) ร่วมชุมนุมต้านการรัฐประหารในประเทศเมียนมา ที่หน้าสถานทูตเมียนมาในประเทศไทย จนมีตำรวจได้รับบาดเจ็บ 14 นาย มาฝากขังครั้งแรก เป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 2 – 13 ก.พ. นี้ เนื่องจากยังต้องสอบพยานอีก 5 ปาก และรอผลการตรวจสอบพิมพ์มือผู้ต้องหา
ส่วน นายวิชพรรษ ศรีกสิพันธุ์ พนักงานสอบสวนได้แยกดำเนินไปที่ศาลแขวงฯ โดยกล่าวหาว่า มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายในบ้านเมืองโดยผู้กระทำผิดคนใดคนหนึ่งมีอาวุธ, ร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีหรือใช้อาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป, ร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ, ร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ.2548 มาตรา 9 (2) ในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ท้ายคำร้องพนักงานสอบสวนขอค้านการประกันตัว เนื่องจากผู้ต้องหามีที่อยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง หากให้ประกันตัวเชื่อว่าผู้ต้องหาน่าจะหลบหนี ศาลได้พิจารณาคำร้องและสอบถามผู้ต้องหาไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้ฝากขังได้