ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยเมื่อวันอังคาร(15 ก.ย.2563)ว่า เขาพร้อมขายเครื่องบินรบเอฟ-35 เครื่องบินล่องหน ให้แก่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และจะขายให้ประเทศอื่นๆในตะวันออกกลางอย่างที่เขาขายให้อิสราเอล นักวิเคราะห์ชี้ชาติอาหรับใช้ดีลนี้เป็นเบี้ยต่อรองในการสถาปนาความสัมพันธ์กับอิสราเอล ซึ่งเป็นชาติเดียวในภูมิภาคที่มีเครื่องบินล่องหนรุ่นนี้ที่ซื้อมาจากสหรัฐ ผลดีตกแก่สหรัฐและอิสราเอลสร้างแรงกดดันอิหร่านและถ่างความแตกแยกในกลุ่มประเทศมุสลิม ทำให้เงื่อนไขสงครามระอุมากกว่าสร้างสันติภาพที่แท้จริง ทรัมป์อ้างได้ทั้งเงินได้ทั้งงานให้คนอเมริกัน
พ่อค้าความตายได้ขายอาวุธ-อ้างสร้างงานให้อเมริกันชน
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยกับสถานีข่าวฟ็อกซ์นิวส์เมื่อวันอังคารที่ 15 ก.ย.2563 ก่อนหน้าพิธีลงนามความตกลงสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับยูเออีและบาห์เรน ว่าเขาเต็มใจจะขายระบบอาวุธยุทโธปกรณ์ของสหรัฐแบบเดียวกับที่อิสราเอลมี ให้แก่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง เพราะประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่ร่ำรวยมาก และการขายอาวุธจะเป็นผลดีต่อสหรัฐและช่วยสร้างงานด้วย
ทรัมป์กล่าวว่า ยูเออี ซึ่งเพิ่งตกลงสถาปนาความสัมพันธ์กับอิสราเอลเมื่อเดือนที่แล้ว ต้องการซื้อเครื่องบินรบของสหรัฐ และโดยส่วนตัวแล้วเขาไม่มีปัญหากับการขายเครื่องบินขับไล่เอฟ-35 ให้แก่ยูเออี เพราะดีลนี้จะเท่ากับการสร้างงานมากมายในสหรัฐ
ยูเออีหมายตาเครื่องบินรบล่องหนรุ่นนี้ โดยเป็นส่วนประกอบของแผนอันทะเยอทะยานที่จะทำให้ประเทศขนาดเล็กแต่ร่ำรวยชาตินี้เป็นมหาอำนาจทางทหารในภูมิภาค แต่อิสราเอลซึ่งเป็นชาติเดียวในภูมิภาคนี้ที่มีเครื่องบินเอฟ-35 คัดค้าน โดยยืนกรานว่าต้องการคงความได้เปรียบทางเทคนิคเหนือชาติอาหรับไว้ แต่ทรัมป์บอกแล้วว่า จะขายให้ทั้งสองฝ่ายรับเงินไปเต็มๆ
นักวิเคราะห์หลายรายกล่าวว่า ยูเออีตั้งเงื่อนไขเรื่องการซื้อเอฟ-35 เป็นข้อต่อรองในการลงนามความตกลงสันติภาพกับอิสราเอลที่ทรัมป์เป็นคนกลางไกล่เกลี่ย สัปดาห์ที่ผ่านมา จาเร็ด คุชเนอร์ ลูกเขยของทรัมป์ซึ่งทำหน้าที่ที่ปรึกษาอาวุโสให้พ่อตา กล่าวว่า ทรัมป์เข้าใจเรื่องความมั่นคงของอิสราเอล บางทีอาจมากกว่าประธานาธิบดีอเมริกันทุกคนในรอบหลายสิบปี “แต่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นกองทัพที่ยิ่งใหญ่ เป็นหุ้นส่วนของอเมริกา เราทำงานร่วมกันมากมายหลายเรื่อง พวกเขามีพรมแดนติดอิหร่านและเผชิญภัยคุกคามของจริง และผมคิดว่ามีโอกาสมากมายที่จะได้จากการทำเรื่องนี้”
ยูเออีและบาห์เรน-แนวร่วมต้านอิหร่านเพิ่ม?
อิสราเอลและสหรัฐฯ มีอิหร่านเป็นศัตรูเช่นเดียวกับยูเออี ส่วนบาห์เรนเองก็มีความขัดแยงกับอิหร่านมาก่อนเช่นกัน อิหร่านเคยอ้างว่าบาห์เรนเป็นส่วนหนึ่งของอิหร่านจนถึงปี 1969 ขณะที่ผู้ปกครองบาห์เรนที่เป็นมุสลิมนิกายซุนนีก็เห็นว่าบางส่วนของชาวมุสลิมนิกายชีอะห์ที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ อาจจะเป็นฝ่ายเดียวกับอิหร่านที่ต้องการบ่อนทำลายประเทศ
นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล เชื่อมั่นในกลยุทธ์ที่ถูกเรียกในช่วงทศวรรษ 1920 ว่า “กำแพงเหล็ก” (Iron Wall) กั้นระหว่างอิสราเอลกับชาติอาหรับ แนวคิดนี้เชื่อว่า ท้ายที่สุดแล้ว ความแข็งแกร่งของอิสราเอลจะทำให้ชาติอาหรับตระหนักว่า ทางเลือกเดียวที่มีอยู่คือ การยอมรับการมีอยู่ของอิสราเอล ขณะที่เนทันยาฮูกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบาก ทั้งการเผชิญกับการไต่สวนข้อกล่าวหาทุจริตที่อาจจะทำให้เขาถูกจำคุก การรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มต้นด้วยดีและกลับเลวร้ายลง ผู้ต่อต้านเขาจัดการประท้วงรายสัปดาห์ด้านนอกที่พักของเขาในนครเยรูซาเลม
ทุกสิ่งที่ทรัมป์ทำที่เป็นผลดีต่ออิสราเอล อาจจะช่วยให้เขาได้คะแนนเสียงจากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่เป็นคริสเตียนอีวานเจลิคัล (Christian Evangelical) ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของเขาส่วนหนี่งในสหรัฐ
เหตุการณ์ที่สหรัฐอิสราเอลและพันธมิตรอาหรับ ยูเออีและบาห์เรน ป่าวประกาศเป็นชัยชนะแห่งสันติภาพก็แค่ข้ออ้างให้ดูดี ถึงขนาดตัวแทนปธน.ทรัมป์ในอีกซีกโลกเสนอชื่อเขา รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ แต่ความจริงที่พันธมิตรต่อต้านอิหร่านปฏิเสธไม่ได้คิอ หลังลงนามเปิดสัมพันธ์ปกติแล้วคือดีลซื้อขายอาวุธ ที่ทำให้พ่อค้าความตายอย่างสหรัฐรวยขึ้นอีกอักโข