Truthforyou

อัษฎางค์ ฉะ ธนาธร โหนรัฐประหารเมียนมา ปลุกระดม สร้างความวุ่นวายในบ้านตัวเอง!?!

อัษฎางค์ ฉะ ธนาธร จุ้น รัฐประหารเมียนมา เอาปัญหาบ้านเขามาปลุกระดม สร้างความวุ่นวายในบ้านตัวเอง ย้อนตอนหาเสียง ปี 2562 เคยเสนอแก้ปัญหาโรฮิงยา!?!

จากกรณีเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 เมียว ยุนต์ โฆษกพรรคพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ เอ็นแอลดี เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวของรอยเตอร์ทางโทรศัพท์ว่า อองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ, อู วินมิ่นท์ ประธานาธิบดีเมียนมา และผู้นำคนอื่น ๆ ได้ถูกควบคุมตัวโดยกองทัพเมียนมา ต่อมาได้มีการจับกุม อองซาน ซูจี ในช่วงที่กำลังเกิดความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลพลเรือนกับกองทัพเมียนมา ท่ามกลางกระแสข่าวว่าอาจเกิดการรัฐประหารโดยกองทัพเพื่อล้มรัฐบาล โดยอ้างข้อกล่าวหาว่ามีการทุจริตเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2563 ซึ่งพรรคของนางซู จี ได้รับชัยชนะถล่มทลาย ต่อมาทางกองทัพเมียนมา ประกาศ สถานการณ์ฉุกเฉิน เสมือนเป็นการยึดอำนาจ แล้ว ตั้ง “รองปธน. Myint Swe” เป็น ประธานาธิบดี คุมอำนาจ 1 ปี

โดยทางกองทัพเมียนมา ได้เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว โดยการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตและสัญญาณข่ายโทรศัพท์ เพื่อสกัดไม่ให้เกิดการชุมนุมเพื่อต่อต้านการรัฐประหาร และไม่นานธนาคารก็พากันระงับการให้บริการเนื่องจากการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมีปัญหา

ต่อมาทางด้านของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีการเกิดรัฐประหารในเมียนมาว่า ยืนหยัดเคียงข้างประชาชนเมียนมา ประชาธิปไตยต้องกลับคืนมาโดยเร็วที่สุด ผมทราบข่าวการรัฐประหารในเมียนมาด้วยความหนักใจและกังวลใจอย่างยิ่ง ทั้งในฐานะประชาชนคนไทย และในฐานะพลเมืองอาเซียน เป็นเวลา 10 ปีเต็มที่กองทัพเมียนมาปล่อยให้เกิดการเลือกตั้งและมีรัฐบาลพลเรือนบริหารประเทศ เนื่องจากแรงกดดันจากนานาชาติ 5 ปีแรก รัฐบาลของพลเอกเต็ง เส่ง ยังคงเป็นรัฐบาลใต้ร่มเงาของกองทัพแม้ผ่านการเลือกตั้ง แต่ 5 ปีหลัง รัฐบาลของพรรค NLD ภายใต้การนำของอองซาน ซูจี ได้บริหารประเทศสมกับที่ประชาชนรอคอยมาหลายสิบปี แม้รัฐสภาจะยังมีสมาชิกที่แต่งตั้งโดยกองทัพนั่งอยู่ถึง 1 ใน 4 แต่รัฐบาลพลเรือนก็พยายามบริหารประเทศจนเมียนมาพัฒนาขึ้นในหลายด้าน

แต่แล้วการพัฒนาประชาธิปไตยที่กำลังออกดอกออกผลลงไปสู่ประชาชนเมียนมา ก็มีอันต้องสะดุดลง กองทัพตัดสินใจรัฐประหารหลังจากพรรค NLD ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย และมุ่งมั่นจะเดินหน้าปฏิรูปกองทัพ แก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น รัฐประหารครั้งนี้ ชัดเจนว่ากองทัพทำเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง กลัวการถูกปฏิรูปจนต้องทำรัฐประหาร ทั้งที่รู้ว่าไม่สามารถหาข้ออ้างที่ชอบธรรมใดๆได้เลยในการปล้นอำนาจจากมือประชาชน
ในฐานะประชาชนคนไทย เพื่อนบ้านใกล้ชิดที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับเมียนมาตลอดมา ผมขอร่วมยืนหยัดเคียงข้างประชาชนชาวเมียนมาทุกคน เรียกร้องประชาธิปไตยกลับสู่ประเทศ และผมหวังว่ารัฐบาลไทยจะไม่ยอมรับการรัฐประหารครั้งนี้ ไม่ยอมรับรัฐบาลที่ขึ้นสู่อำนาจโดยการปล้นชิงสิทธิเสรีภาพของประชาชน แม้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย จะเคยขึ้นสู่อำนาจด้วยวิธีเดียวกันมาก่อนก็ตาม ในฐานะพลเมืองอาเซียน ผมกังวลว่าการรัฐประหารจะทำให้บรรยากาศประชาธิปไตยและการเคารพสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคนี้ยิ่งริบหรี่ลง และผมละอายใจอย่างยิ่งที่ประเทศไทยในตอนนี้ ไม่อาจทำหน้าที่ประทีปแห่งประชาธิปไตยของอาเซียนได้เหมือนกับที่เคยเป็น
เพื่ออนาคตที่ดีกว่านี้สำหรับคนรุ่นต่อไป เราทุกคนมีภารกิจที่จะต้องช่วยกันประณามการรัฐประหาร อย่าให้พื้นที่แก่เผด็จการ อย่ายอมให้ประชาชนถูกละเมิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยกองทัพที่กินเงินเดือนจากภาษีของพวกเรา ในนามของประชาธิปไตย เราขอยืนหยัดร่วมกับประชาชนเมียนมาต่อสู้กับเผด็จการ จนกว่าอำนาจสูงสุดจะเป็นของประชาชน In solidarity
และเมื่อวานนี้ (1 กุมภาพันธ์ 2564) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และน.ส.พรรณิการ์ วานิช ได้เดินทางไปที่สถานทูตเมียนมา มาร่วสังเกตการณ์ เนื่องจากมีการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร และกลุ่มการ์ด Wevo และแรงงานชาวเมียนมา รวมตัวกันที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย ถนนสาทรเหนือ เพื่ออ่านแถลงการณ์แสดงความไม่เห็นด้วยต่อการทำรัฐประหารในเมียนมา และเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางอองซานซูจี ทั้งหมด 3 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ และเมียนมา ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 โโยทางรัฐบาลประกาศใช้มาตรการควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ควบคุมสูง (สีแดง) ที่ห้ามจัดการรวมตัวใดๆ ที่มีคนจำนวนมาก โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจสน.ยานนาวา ดูแลความสงบเรียบร้อย
อย่างไรก็ตามมวลชนชาวเมียนมาได้ย้ายไปรวมตัวที่หน้าอาคาร ข้างสถานทูตเมียนมา เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมชุมนุมบริเวณหน้าสถานทูต ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ประกาศขอให้ทางกลุ่มยุติ แต่การ์ด wevo ของม็อบราษฎรที่นำโดยนายปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ ไม่ยอมเลิกทั้งยืนกรานจะชุมนุมต่อ

จนเวลาประมาณ 17.00 น. กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน พร้อมโล่และกระบองจึงได้เข้าสลายการชุมนุมม็อบราษฎร โดยตั้งแถวเคลื่อนขบวนมาจาก ถ.ปั้น ทำให้เกิดการปะทะกันขึ้นระหว่างตำรวจ และกลุ่ม wevo ทางกลุ่มผู้ชุมนุมได้ใช้ข้าวของต่างๆ ขว้างปาใส่เจ้าหน้าที่ และขณะที่ตำรวจเคลื่อนขบวนบีบเข้ากระชับพื้นที่ ก็เกิดเสียงคล้ายระเบิดดังขึ้น มีเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน บาดเจ็บ 2 นาย ขณะเดียวกัน ตำรวจได้ควบคุมตัวผู้ชุมนุมได้ 3 คน พร้อมเดินหน้ากระชับพื้นที่ไปบนถนนสาทร ผลักดันผู้ชุมนุมไปจนถึงสถานีรถไฟฟ้าสุรศักดิ์จนเกิดการขว้างปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่และมีการขว้างระเบิดควันสีใส่ตำรวจด้วย

ล่าสุดทางด้าน นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการประวัติศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีที่นายธนาธร ได้ออกมาเคลื่อนไหว จากเหตุการณ์รัฐประหารเมียนมา โดยระบุข้อความว่า

ตี๋หนึ่งเคยหน้าแหกเพราะไป จุ้นจ้าน จะช่วยพม่าจัดการปัญหาโรฮิงยา แต่พอรัฐบาลประชาธิปไตยของ อองซาน ชนะการเลือกตั้ง นางกับเมินเฉยต่อปัญหานั้น ตอนนี้ตี๋หนึ่งและพวกก็เล่นบทเดิม จุ้นจ้าน จะไปแก้ปัญหารัฐประหารในพม่า อีกแล้ว ตกลง แบบนี้เรียกว่า เผือก ใช่มั้ยละ
เรื่องของเราเองยังจะเอาตัวไม่รอด เสนอหน้าไป จุ้นจ้าน เรื่องช่วยชาวบ้านสะแล้ว กิจการระหว่างประเทศเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เด็กเมื่อวานซืนที่ไม่รู้จริง อย่าทำให้เสียเรื่องเลย ตำรวจโลกเขามี และเขามีพาวเวอร์จริง ไม่ใช่ประเทศเล็กๆ อย่างไทยเรา บ้านเขามีรัฐประหารก็เป็นความวุ่นวายในประเทศเขา เอาเหตุการณ์ความวุ่นวายในบ้านเมืองเขามาปลุกระดมสร้างความวุ่นวายในบ้านตัวเองทำไม
ซึ่งหากย้อนไปก่อนหน้านี้ นายธนาธร เคยพูดเมื่อครั้งที่หาเสียงเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2562 โดยเสนอว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาโรฮิงยา โดยระบุข้อความว่า
ผู้ลี้ภัยทางการเมือง – สิทธิมนุษยชน – และไทยในเวทีโลก

 

ผมมีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยทางการเมือง เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ผมมีโอกาสเยี่ยมค่ายผู้อพยพชาวภูฏานที่ประเทศเนปาล ชาวภูฏานกลุ่มนี้มีชาติพันธุ์และความเชื่อที่ต่างจากคนส่วนใหญ่ของภูฏาน เมื่อความหลากหลายไม่ได้ถูกยอมรับในกระบวนการสร้างชาติ ผลที่เกิดขึ้นคือการทำลายความแตกต่างอย่างเป็นระบบ ทั้งด้วยกฏหมายและด้วยความรุนแรง ผู้อพยพชาวภูฏานในประเทศเนปาลที่ผมพบคือผลของกระบวนการเหล่านี้

ในค่ายผู้อพยพชาวภูฏานที่ผมมีโอกาสสัมผัส มีผู้อพยพอยู่หลายหมื่นคน ครอบครัวแต่ละครอบครัวได้รับปันส่วนพื้นที่เล็กน้อยให้สร้างเป็นเพิงพักจากไม้ไผ่ พื้นที่ไม่เกิน 20 ตารางเมตร เป็น “บ้าน” สำหรับครอบครัวครอบครัวหนึ่ง ซึ่งใช้พื้นที่นั้นเป็นทั้งห้องนอน, ห้องครัว, ห้องนั่งเล่น อาหารการกินไม่เคยพอและถูกหลักสุขอนามัย การศึกษาทำผ่านอาคารเรียนขนาดเล็กซึ่งอัตคัดทั้งครูและอุปกรณ์การเรียนการสอน และที่สำคัญ ผู้อพยพเหล่านั้นไม่เคยมีสิทธิและเสรีภาพ จำนวนน้อยมากในพวกเขาเหล่านั้น ได้รับอนุญาตให้ไปหางานทำนอกค่ายผู้อพยพได้ ส่วนใหญ่จึงอยู่ได้ด้วยการบรรเทาทุกข์ขององค์กรระหว่างประเทศ พวกเขาไม่มีอนาคต โอกาสเดินทางกลับบ้านเป็นศูนย์ ลูกๆ ของพวกเขาเติบโตในค่ายผู้อพยพ หมดโอกาสได้เข้าถึงการเรียนรู้, เห็นโลกกว้าง และมีโอกาสไล่ตามความฝันอย่างที่เด็กๆ ควรจะได้รับ

สถานการณ์ของชาวโรฮิงญามีลักษณะคล้ายกัน องค์กรระดับโลกหลายองค์กรได้ยืนยันถึงการเกิดขึ้นจริงของการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาโดยกองทัพเมียนมา การใช้ความรุนแรงต่อโรฮิงญามีลักษณะตั้งแต่ข่มขู่คุกคาม, จำกัดสิทธิเสรีภาพ ไปจนถึงการข่มขืนและการทำลายชีวิต เมื่อตั้งพรรคการเมือง หลายคนถามผมว่า หากพรรคเราได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ประเทศไทยจะอยู่ตรงไหนในเวทีโลก? คำตอบของผมคือเราต้องเป็นผู้นำในกลุ่มประเทศอาเซียนทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ สร้างอาเซียนให้มีอำนาจต่อรองในเวทีโลกและเป็นต้นแบบการพัฒนาที่ยั่งยืน

ไทยสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างประชาธิปไตยในอาเซียน เพื่อนำคนอีกหลายล้านคนที่ขาดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น, สิทธิทางการเมือง, ที่ใช้ชีวิตอยู่อย่างหวาดกลัว และที่ตกอยู่ในวังวนแห่งความยากจน ให้มาสู่สังคมที่ดีกว่าได้หากผู้นำของประเทศกล้าที่จะทำ เรามีทั้งศักยภาพและพลังทางเศรษฐกิจเพียงพอที่จะสร้างให้ไทยเป็นแรงบันดาลใจให้กับประเทศที่กำลังพัฒนาอื่นๆ เราสามารถนำประเทศในอาเซียนได้ถ้าเราหันกลับมายึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนสากล เราสามารถแสดงให้ประเทศเพื่อนบ้านและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เห็นได้ว่าการพัฒนาประเทศด้วยประชาธิปไตยและการยอมรับในความหลากหลายเป็นไปได้และควรจะเป็น

การผลักไสผู้อพยพโรฮิงญาเป็นการหาทางออกที่ง่ายแต่ขัดต่อหลักมนุษยธรรม และเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืน การเผชิญหน้ากับปัญหาและกล้าที่จะพูดเรื่องที่อาจไม่เป็นที่นิยมแต่ถูกต้องตามหลักจริยธรรมทางการเมืองกับประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าพรรคเรามีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เราจะยื่นมือของคนไทยไปให้พวกเขา และจะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างกระฉับกระเฉงด้วยการเปิดการพูดคุยกับรัฐบาลเมียนมาอย่างมียุทธศาสตร์ ใช้เวทีอาเซียนเป็นตัวกลางแก้ปัญหานี้ร่วมกัน เหมือนที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย กำลังทำอยู่ และได้ช่วยรับผู้ลี้ภัยจำนวนหนึ่งไปแล้วด้วย โดยเฉพาะมาเลเซียที่อนุญาตให้ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาทำงานได้ กลายเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เลี้ยงตนเองและครอบครัว ไม่ใช่ภาระเรื้อรังของประเทศอื่นๆ อย่างที่หลายคนเข้าใจ เราจะไม่ปล่อยให้พวกเขาล่องลอยอย่างเดียวดายในทะเล ถูกผลักไสอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เราจะทำให้คนไทยภูมิใจที่ได้มีโอกาสช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในยามที่พวกเขาต้องการความช่วยเหลืออย่างที่สุด”

Exit mobile version