ปิยบุตรแช่งไทยแฝดนรก ยุส.ส.ต้องแก้ม.279 เอาผิดคสช. เพ้อไม่งั้นเป็นแบบพม่า

2523

จากที่กองทัพเมียนมาประกาศ ยืนยันว่ากองทัพก่อรัฐประหารยึดอำนาจปกครองจากรัฐบาลพลเรือน โดยโฆษกพรรคพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ เอ็นแอลดี (NLD) เปิดเผย อองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ, อู วินมิ่นท์ ประธานาธิบดีเมียนมา และผู้นำคนอื่นๆได้ถูกควบคุมตัว

ต่อมาวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้แสดงความคิดเห็นถึงสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นในเมียนมา ว่า ทราบข่าวการรัฐประหารในเมียนมาด้วยความหนักใจและกังวลใจอย่างยิ่ง ทั้งในฐานะประชาชนคนไทย และในฐานะพลเมืองอาเซียน รัฐประหารครั้งนี้ชัดเจนว่ากองทัพทำเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง กลัวการถูกปฏิรูปจนต้องทำรัฐประหาร ทั้งที่รู้ว่าไม่สามารถหาข้ออ้างที่ชอบธรรมใดๆ ได้เลยในการปล้นอำนาจจากมือประชาชน

ทั้งนี้นายธนาธร ยังระบุอีกว่า ในฐานะประชาชนคนไทย เพื่อนบ้านใกล้ชิดที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับเมียนมาตลอดมา ขอร่วมยืนหยัดเคียงข้างประชาชนชาวเมียนมาทุกคน เรียกร้องประชาธิปไตยกลับสู่ประเทศ และหวังว่ารัฐบาลไทยจะไม่ยอมรับการรัฐประหารครั้งนี้ ไม่ยอมรับรัฐบาลที่ขึ้นสู่อำนาจโดยการปล้นชิงสิทธิเสรีภาพของประชาชน ส่วนในฐานะพลเมืองอาเซียน ตนกังวลว่าการรัฐประหารจะทำให้บรรยากาศประชาธิปไตยและการเคารพสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคนี้ยิ่งริบหรี่ลง และละอายใจอย่างยิ่งที่ประเทศไทยในตอนนี้ไม่อาจทำหน้าที่ประทีปแห่งประชาธิปไตยของอาเซียนได้เหมือนกับที่เคยเป็น

“เพื่ออนาคตที่ดีกว่านี้สำหรับคนรุ่นต่อไป เราทุกคนมีภารกิจที่จะต้องช่วยกันประณามการรัฐประหาร อย่าให้พื้นที่แก่เผด็จการ อย่ายอมให้ประชาชนถูกละเมิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยกองทัพที่กินเงินเดือนจากภาษีของพวกเรา ในนามของประชาธิปไตย เราขอยืนหยัดร่วมกับประชาชนเมียนมาต่อสู้กับเผด็จการ จนกว่าอำนาจสูงสุดจะเป็นของประชาชน”  นายธนาธร กล่าว

ขณะที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ก็ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่องกรณีดังกล่าว โดยโพสต์ข้อความในทวิตเตอร์หลายข้อความด้วยกันว่า

“การรัฐประหารในพม่าเป็นสัญญานอันตรายของการขัดขวางกระแสลมแห่งประชาธิปไตยในภูมิภาค ตราบใดที่หลักการรัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้งอยู่เหนือกองทัพ ยังไม่อาจเกิดขึ้นได้ รัฐประหารโดยกองทัพย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ เสียดายความคืบหน้าสู่ประชาธิปไตยที่ประชาชนพม่าร่วมกันสร้างขึ้นมา

ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประชาชนชาวพม่าผู้เชื่อมั่นในหลักประชาธิปไตย นักการเมือง นักประชาธิปไตย นักเคลื่อนไหว ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน จะยืดหยัดต่อสู้กับเผด็จการ และนำพาประเทศกลับคืนสู่ประชาธิปไตยให้ได้ในที่สุด

หากนักการเมืองและผู้แทนราษฎรไทย ประณามรัฐประหารโดยรัฐธรรนูญ ในพม่าครั้งนี้ ก็จำเป็นอยู่เองที่ต้องเดินหน้าแก้ รัฐธรรมนูญ เพื่อยกเลิก ม. 279 ลบล้างผลพวงรัฐประหาร ประกาศให้รัฐประหาร 22 พ.ค. 57 เป็นโมฆะ นำตัวคณะรัฐประหารมาดำเนินคดี และปฏิรูปกองทัพ มิเช่นนั้น การเมืองไทยก็จะเดินไปแบบพม่าแน่นอน

รัฐประหารในพม่าครั้งนี้ คือ รัฐประหารโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องฉีกรัฐธรรมนูญ ใช้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 1 ปีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 417 และ 418 เทคนิคการรัฐประหารโดยรัฐธรรมนูญเป็นที่นิยมในระยะหลัง โดยเฉพาะในประเทศที่เผด็จการทหารยังสืบทอดอำนาจอยู่

รวมถึง รัฐธรรมนูญ 2557 มาตรา 44 ที่ให้อำนาจพิเศษอยู่เหนือ รัฐธรรมนูญ แก่หัวหน้า คสช. และรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 265 ที่ยังให้อำนาจพิเศษแก่หัวหน้า คสช. ต่อไป และมาตรา 279 ที่รับรองให้การใช้อำนาจ คสช. ถูกต้องตาม รัฐธรรมนูญตลอดกาล ตลอดจน การประกาศกฎอัยการศึกในยาม รัฐประหาร ที่ไม่เคยชอบด้วย กฎหมายเลย แต่กลับมีผลทุกครั้ง

จะเห็นได้ว่า แม้กองทัพจะมีปืน มีอาวุธ แต่กองทัพก็พยายาม instiutionalise (สร้างสถาบัน) อำนาจดิบเถื่อนของตนเอง ให้เข้ามาสู่ระบบรัฐธรรมนูญและเป็นสถาบันมากขึ้น สถาบันรัฐประหารไทยกับพม่าจึงเป็นคู่แฝดนรกประจำอาเซียน สมควรให้เผด็จการทั่วโลกมาศึกษาดูงาน

อย่างไรก็ตามพบว่ากฎหมายนิรโทษกรรมทางการเมืองของไทย มีมาตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 เช่น การนิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อการกบฏ/รัฐประหาร/ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร 11 ครั้ง เป็นกฎหมาย 13 ฉบับ รัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ เป็นระราชกำหนด (พรก.) 2 ฉบับ พระราชบัญญัติ (พรบ.) 11 ฉบับ อาทิ

พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจลาจล พุทธศักราช 2488

พระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจลาจล พุทธศักราช 2488 พุทธศักราช 2488

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำรัฐประหาร พ.ศ. 2490(การรัฐประหารกระทำโดยพลโทผิน ชุณหะวัณและพวก)

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ. 2499 (การปฏิวัติโดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม)

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ. 2499 (ฉบับที่ 2)

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 (การยึดอำนาจโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์)

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิวัติ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501  (การปฏิวัติโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์)

สำหรับการรัฐประหารครั้งล่าสุดในปี 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะผู้ก่อการรัฐประหารได้ตั้งตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ หรือผู้มีอำนาจสูงสุดของรัฐ และใช้อำนาจพิเศษผ่านการออกประกาศและคำสั่งต่างๆ แบ่งเป็นประกาศ คสช. 132 ฉบับ และคำสั่งคสช. อีก 213 ฉบับ

ขณะทั้งรัฐธรรมนูญ มาตรา 279 บัญญัติว่า “บรรดาประกาศ คําสั่ง และการกระทําของคสช. หรือของหัวหน้า คสช. ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ หรือที่จะออกใช้บังคับต่อไปตามมาตรา 265 วรรคสอง ไม่ว่าเป็นประกาศ คําสั่ง หรือการกระทําที่มีผลใช้บังคับ ในทางรัฐธรรมนูญ ทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร หรือทางตุลาการ ให้ประกาศ คําสั่ง การกระทําตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศ คําสั่ง หรือการกระทํานั้น เป็นประกาศ คําสั่ง การกระทํา หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย และมีผลใช้บังคับโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป”