จากการเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่าคณะราษฎร 2563 ซึ่งเกือบตลอดปีที่ผ่านมาได้ออกมาเคลื่อนไหวแทบทุกวัน จากข้อเรียกร้อง3ข้อ ก่อนที่จะเปลี่ยนหรือยกระดับนำประเด็นปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้เป็นเงื่อนไข โดยพฤติกรรมต่างๆที่ออกมาใช้คำรุนแรง หยาบคาย หลายคนถูกแจ้งข้อหาตามความผิดมาตรา 112 นั้น
ล่าสุดวันนี้ 2 กุมภาพันธ์ 2564 ม.จ.จุลเจิม ยุคล หรือ ท่านใหม่ ได้ออกมาโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก โดยตั้งเป็นประเด็นคำถามถึงผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ต่อเรื่องราวดังกล่าวจำนวน 8 ข้อดังนี้
คำถามถึงตุลาการ ในประเด็นที่มีการให้ประกันตัวผู้กระทำความผิดมาตรา 112 ออกมาทำความผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก ผมในฐานะประชาชนเกิดความสงสัยหลายๆประการ ดังนี้
ข้อหนึ่ง การที่ตุลาการปล่อยให้ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 112 ได้รับการประกันตัว แล้วออกมาทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก ถือว่าตุลาการบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงก่อให้เกิดความเสียหายต่อชาติบ้านเมืองเป็นภัยความมั่นคงแห่งรัฐและสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ อย่างไร
ข้อสอง หากตุลาการบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ ก่อให้เกิดความเสียหายตามข้อ 1 ประชาชนที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จะดำเนินการไปแจ้งความร้องทุกข์เพื่อให้มีการดำเนินการฟ้องร้องตุลาการผู้ปฏิบัติหน้าที่โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ที่มีการปล่อยให้มีการประกันตัวให้จำเลยออกมากระทำผิดในมูลฐานความผิดเดิมซ้ำแล้ว ซ้ำอีก หรือมีช่องทางทางกฎหมายใดๆ ที่จะดำเนินคดีกับตุลาการได้หรือไม่ ผมอยากรู้จริงๆ ครับ หากมีผู้รู้ทางกฎหมายท่านใดจะกรุณาอธิบายให้ผมและสังคมได้กระจ่างจะเป็นเรื่องที่สังคมอยากทราบมากครับ
ข้อสาม การปล่อยให้ผู้กระทำผิด ทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นปัญหากับชาติและความมั่นคงของชาติ ตุลาการต้องรับผิดชอบต่อประเทศชาติและสังคมหรือไม่ ประชาชนหรือสังคมมีสิทธิที่จะตั้งข้อสงสัยได้หรือไม่ว่าตุลาการมีส่วนต้องรับผิดชอบต่อความวุ่นวายในการยุยงปลุกปั่นให้เกิดการล้มล้างระบอบการเมืองการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วย
ข้อสี่ การที่ตุลาการได้ถวายสัตย์ปฎิญาณต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก่อนการปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธย แต่กลับปล่อยตัวผู้ต้องหาให้ได้รับการประกันตัว ออกมากระทำผิดในการทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติองค์พระประมุขของชาติ ซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นการสมควรหรือไม่ ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ แต่กลับไม่สามารถปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยการรักษาความยุติธรรม ตามหน้าที่ให้ดี เคร่งครัด และเป็นธรรม
ข้อห้า ตุลาการได้รักษาหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรมในการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 ได้อย่างเคร่งครัดและเป็นธรรมสักแค่ไหน การได้รับการประกันตัวเป็นส่วนมากหรือแทบทั้งหมด ประชาชนหรือสังคมอาจจะตั้งคำถามได้หรือไม่ว่า การกระทำของตุลาการดังกล่าวมีส่วนที่ทำให้เกิดการกระทำผิดซ้ำ เพราะไม่เกรงกลัวว่าจะต้องได้รับโทษคุมขัง จึงทำให้ผู้กระทำผิดและผู้ที่ตั้งใจกระทำความผิดซ้ำตามมาตรา 112 เกิดความย่ามใจ ไม่เกรงกลัวต่อการลงโทษ เลยทำผิดซ้ำได้อย่างสบายใจ
ข้อหก แม้จะมิได้คาดหวังว่าตุลาการจะคาดการณ์ หรือพยากรณ์ได้อย่างแม่นยำร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าหากปล่อยให้ผู้กระทำผิดได้รับการประกันตัวแล้วจะไม่กระทำผิดซ้ำเลย โดยเฉพาะในกรณีมาตรา 112 แต่สังคมก็คงอยากจะทราบสถิติว่าคดีมาตรา 112 รายที่ตุลาการให้ประกันตัว ออกมาก่อคดีซ้ำแล้วซ้ำอีกร้อยละเท่าใด และหากสถิติดังกล่าวมีค่าสูงมาก สังคมจะสามารถตั้งคำถามได้หรือไม่ว่า ตุลาการใช้วิจารณญาณหรือหลักเกณฑ์ใดในการให้ประกันตัวผู้ต้องหาในความผิดมาตรา 112
ข้อเจ็ด ตุลาการคิดอย่างไรที่ปล่อยให้ ส.ส. คนเดิมใช้ตำแหน่งในการประกันตัวซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยไม่มีการจำกัดจำนวน เพราะเท่าที่ทราบทางสำนักงานศาลยุติธรรมน่าจะมีระเบียบข้อห้ามเกี่ยวกับเรื่อง การใช้ตำแหน่งประกันตัวว่าจะให้วงเงินคนละเกินไม่เกินกี่บาท เท่าทีเห็น ส.ส. ท่านนี้ น่าจะใช้สิทธิเกินจำนวนเงินในระเบียบแล้ว ตุลาการท่านไม่ทราบหรือไม่ได้ดูระเบียบ หรือตั้งใจทำให้ผิดระเบียบ หากพบว่าเป็นการให้ประกันตัวโดยผิดระเบียบตุลาการก็จะเป็นผู้กระทำผิดเสียเอง
ข้อแปด ผมคิดว่าตุลาการทราบว่า ผู้ต้องหาที่ให้ประกันตัวไปแล้ว ไปกระทำผิดอีก แต่ก็งงๆ ว่า ทำไมตุลาการไม่เพิกถอนประกัน จะมาอ้างว่าพนักงานสอบสวนไม่มายื่นคำร้องขอถอนประกัน จึงเพิกถอนไม่ได้ ผมคิดว่าประชาชนทั่วไปยังทราบ สื่อสารมวลชนก็ทราบเพราะว่า ออกข่าวคึกโครม ตุลาการจะอ้างว่าไม่ทราบย่อมไม่ได้ เพราะว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องดูแลสอดส่องคนที่ให้ประกันตัว เพราะว่าหากมีการกระทำที่ผิดเงื่อนไขก็เพิกถอนได้ทันที
หรือว่ากรณีมาตรา 112 ตุลาการไม่มีการกำหนดเงื่อนไขในสัญญาประกันตัวว่าไม่ให้ผู้ต้องหาไปกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันอีก หากเป็นเช่นนี้ประชาชนหรือสังคมยิ่งมีความสงสัยว่าตุลาการที่มีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวคิดอะไรกันแน่ ระหว่างการปกป้องคุ้มครองสถานบันพระมหากษัตริย์กับคุ้มครองผู้ต้องหาที่มีเจตนาล้มล้างสถาบัน
ทั้งหมดนี้เป็นคำถามที่สังคมต้องการคำตอบและผมเองวิจารณ์กระบวนการทำงานของตุลาการโดยหลักวิชาการ และความสุจริตใจ เพื่อประโยชน์ของสาธารณะ ประเทศชาติ และต้องการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นหลักชัยของความมั่นคงของชาติไทยและอยากจะถามท่านผู้รู้ ช่วยกรุณาตอบด้วยครับ”
อย่างไรก็ตามสำหรับแกนนำม็อบที่ถูกดำเนินคดีและได้รับหมายเรียกตามความผิดมาตรา 112 เบื้องต้นรวมแล้ว 17 ราย ดังนี้
- พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน 2. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง 3. อานนท์ นำภา 4. ภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ 5. ปฏิวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือ หมอลำแบงค์ 6. จตุภัทร บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน 7. ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์
- จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ หรือ อั๋ว 9. ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี หรือฟอร์ต 10. เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ หรือบิ๊ก 11. ชนินทร์ วงษ์ศรี 12. วัชรากร ไชยแก้ว 13. เบนจา อะปัญ 14. รวิสรา เอกสกุล หรือ เดียร์ 15. ชลธิศ โชติสวัสดิ์ 16. ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา 17. ชินวัตร จันทร์กระจ่าง หรือ ไบรท์