จับตาสางทุจริตการบินไทย!?! ทำหนี้ท่วม 3.5 แสนล้าน แผนธุรกิจดีขนาดไหนยากสำเร็จถ้าไม่ทิ้งเครื่องหลัง ล้างบางทีมโกง

1844

‘การบินไทย’ได้ไฟเขียวศาล อนุมัติทีมบริหารเพื่อเดินหน้าทำแผนฟื้นฟูสางหนี้ 3.5 แสนล้านบาท ทางผู้บริหารแจง ทำแผนฟื้นฟูเสนอได้ภายในไตรมาส 4 ปีนี้ ทั้งเจ้าหนี้พร้อมหนุนให้ํธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ คาดแผนสำเร็จภายใน 5 ปี แต่ความจริงที่สาธารณชนจับตาคือ ปัญหาทุจริตที่เป็นเครื่องหลังทำการบินไทยทรุดหนักต่อเนื่องหลายปี  หากไม่แก้ไขจริงจัง ยากฟื้นความเชื่อมั่นและฟื้นธุรกิจให้แข็งแรงอย่างแท้จริงได้ ล่าสุดนายถาวร แสนเนียม รมช.กระทรวงคมนาคมได้ยื่นหลักฐานตรวจสอบทุจริตแก่ป.ป.ช.และกระทรวงการคลังเรียบร้อย รอฟังผลใครบ้างจ่อคุก

ศาลล้มละลายกลางนัดอ่านคำสั่งพิจารณาคดี บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ขอฟื้นฟูกิจการวันที่ 14 ก.ย.2563 เวลา 10.00 น.และมีคำสั่งให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการโดยให้มีผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการตามที่เสนอ คือบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด รวมทั้งมีกรรมการการบินไทย 6 คน คือ1.พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน2.นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล3.นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค4.นายบุญทักษ์ หวังเจริญ5.นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์6.นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร

หนี้ 3.54 แสนล้าน “การบินไทย-ท่านได้แต่ใดมา?”

-27 พฤศภาคม 2563 ข้อมูลจากศาลล้มละลายกลางเปิดเผยว่า บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) THAI ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ต้องฟื้นฟูกิจการ เนื่องจากบริษัทมีทุนจดทะเบียน 26,989 ล้านบาท แต่มีหนี้สินรวม 354,494 ล้านบาท มีสินทรัพย์รวม 349,636 ล้านบาท มีหนี้ถึงกำหนดชำระ ณ วันที่ 21 พฤษภาคม 2563 รวม 10,200 ล้านบาท จึงอยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้

-ศาลจึงมีคำสั่ง รับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของ บริษัท การบินไทย (THAI) และให้นัดไต่สวนคดีนัดแรกวันที่ 17 สิงหาคม 2563 เวลา 09.00 น. ซึ่งส่งผลให้ “การบินไทย” เข้าสู่สภาวะการพักชำระหนี้ทันทีกับบเจ้าหนี้ทุกรายตามกฎหมาย(Automatic Standstill) การรับคำร้องของศาลมีผลในทางปฏิบัติทันทีนั่นคือ เจ้าหนี้ที่ทรงสิทธ์จำนวน 3.54 แสนล้านบาท จะถูกพักชำระหนี้ทันที โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ที่เหลือรอการพิจารณาว่าจะโหวตคัดค้านแผน หรือ อนุมัติแผนฟื้นฟู

-หนี้การบินไทยและบริษัทย่อย ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน งวด 31 ธันวาคม 2562 พบว่า การบินไทยมีหนี้สิน 244,899 ล้านบาท โดยหนี้ส่วนใหญ่กว่า 2.12 แสนล้านบาท เป็นหนี้ค่าเช่า-ซื้อเครื่องบิน หนี้ค่าซ่อมบำรุงเครื่องบิน หนี้เงินกู้ระยะสั้น หนี้เงินกู้ระยะยาว เจ้าหนี้การค้า และผลประโยชน์ตอบแทนพนักงาน แต่เมื่อถึงเวลาชำระหนี้ และไม่สามารถชำระหนี้ได้ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ มูลหนี้ก้อนมหึมาสรุปเป็น 3.54 แสนล้านบาท เรื่องราวต่างๆ ไส้กี่ขดจึงได้เปิดเผยออกมาให้สาธารณชนได้รู้เห็น

ธุรกิจต้องเดินหน้า-ผ่าฝีคอรัปชั่นต้องเดินต่อไป

ความฮือฮาไม่สิ้นสุด เมื่อ นายถาวร แสนเนียม,รมช.กระทรวงการคมนาคม ได้เปิดเผยผลการตรวจสอบที่มาที่ไปของการขาดทุนมโหฬาร และการบริหารซับซ้อนที่ซ่อนปัญหาทับถมมานานของบริษัทแม่และบริษัทลูกว่า แกนกลางปัญหาขาดทุนซ้ำซากต่อเนื่องมาจากการทุจริตเป็นสาเหตุหลัก

่คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบริหารกิจการการบินไทย (THAI) ระบุว่า ในช่วงปี 2560-2562 การบินไทยมีผลประกอบการขาดทุนรวมไม่ต่ำกว่า 25,659 ล้านบาท

-จุดเริ่มต้นปัญหาเรื้อรังเกิดตั้งแต่ปี 2551 มีการจัดซื้อเครื่องบิน A340-500 และ A340-600 จำนวน 10 ลำ ทั้งๆที่กระทรวงการคลังและสศช. (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) มีความเห็นแย้งและทักท้วงแล้ว ยังไม่ปฏิบัติตามกลับนำมาทำการบิน และขาดทุนทุกเส้นทาง

-มีรายจ่ายมากกว่ารายได้ ตลอดปี 2560-2562 แม้มีรายได้จากการขายค่าตั๋วโดยสารมาก ยังขาดทุนมากอย่างต่อเนื่อง ปี 2560 ขาดทุน 2,072 ล้านบาท, ปี 2561 ขาดทุน 11,569 ล้านบาท และปี 2562

ขาดทุน 12,017 ล้านบาท ขณะที่จำนวนผู้โดยสารทั้ง 3 ใกล้เคียงกันคือประมาณ 24 ล้านคน อัตราบรรทุก (Cabin Factor) เฉลี่ย 79.2%, 77.6%, 79.1% ตามลำดับ พร้อมทั้งจำนวนเครื่องบินเท่าเดิม

102-103 ลำ จำนวนพนักงานใกล้เคียงกันประมาณ 2.2 หมื่นคน

-ปัญหาการจ่ายสินบนของบริษัทโรลส์-รอยซ์ ผ่านนายหน้าคนกลาง เจ้าหน้าที่ของรัฐและพนักงานการบินไทยวงเงิน 254 ล้านบาท เอื้อประโยชน์ให้ทำสัญญาจัดซื้อเครื่องยนต์อะไหล่  7 เครื่องยนต์ และการซ่อมบำรุงแบบเหมาจ่าย (Total Care Agreement)

-ปัญหาการจ่ายสินบนจำนวน 5% ประมาณา 2,652 ล้านบาทผ่านคนกลางให้นักการเมือง เจ้าหน้าที่และพนักงานการบินไทย แลกกับการจัดซื้อเครื่องบินรุ่น A340 จำนวน 10 ลำ

สรุปปัญหาโดยรวมคือ 1.ปัญหาทุจริต 2.บริหารผิดพลาด 3. ความไม่มีประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ

นายถาวรฯได้นำเอกสารหลักฐานจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงและการทุจริต นับ 10 ลังส่งให้กับป.ป.ช.(สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) วันที่ 1 กันยายน 2563 และส่งให้กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่การบินไทย และรายงานต่อนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า “ปัญหาการขาดทุนของการบินไทยมีต้นเหตุจากการทุจริต”

การบินไทยฟื้นได้เมื่อร่วมมือทุกฝ่ายและไม่เดินตามรอยทุจริต

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (THAI)เปิดเผยว่า กระบวนการจัดทำแผนฟื้นฟูจะแล้วเสร็จและพร้อมเสนอต่อศาลภายในไตรมาส 4 ของปีนี้ และหากศาลเห็นชอบก็จะเริ่มกระบวนการฟื้นฟูตามแผนภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2564

“หลังจากนี้จะเปิดให้เจ้าหนี้ยื่นขอรับการชำระหนี้ตั้งแต่วันนี้ (14 ก.ย.) เป็นต้นไป เป็นเวลา 1 เดือน เพื่อให้การบินไทยรวบรวมเจ้าหนี้ทั้งหมดว่ามีกี่รายและคิดเป็นมูลหนี้มากน้อยเพียงใด แต่ต้องเป็นเจ้าหนี้จริง ไม่ใช่เจ้าหนี้ปลอม หากปลอมถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย ส่วนเจ้าหนี้ที่เป็นลูกค้าถือบัตรโดยสาร ไม่ต้องมายื่นเอกสาร การบินไทยจะมีมาตรการดูแลแยกจากเจ้าหนี้ปกติ และยืนยันว่า ไทยสมายล์จะยังมีอยู่ เนื่องจากเป็นบริษัทลูกที่การบินไทยถือหุ้น 100%” ดีดีการบินไทยกล่าว

ปัจจุบัน “การบินไทย” ได้สูญเสียสถานะการเป็น “รัฐวิสาหกิจ” ไปแล้ว โดยเมื่อเดือนสิงหาคม กระทรวงการคลังถือครองหุ้นเพียง 48% เท่านั้น จากเดิมที่ถือครองมากกว่า 50% ส่งผลให้ “สหภาพการบินไทย” ต้องสลายไปแบบอัตโนมัติ

ในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าการบินไทยจะไม่สามารถทำการบินได้ตามปกติ แต่การบินไทยยังคงหารายได้เข้าองค์กรอย่างต่อเนื่อง ผ่านการเปิดเที่ยวบินพิเศษ เที่ยวบินเส้นทางภายในประเทศผ่านสายการบินไทยสมายล์ ซึ่งมีอัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 50-60% นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากคลังสินค้า ศูนย์ซ่อมอากาศยาน และครัวการบินที่ได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี

สำหรับแนวทางดำเนินธุรกิจการบินในอนาคต การบินไทยประเมินว่าความต้องการเดินทางของผู้โดยสารจะไม่ได้กลับมาสูงอย่างที่ผ่านมา เนื่องจากจะกลายเป็นการเดินทางเฉพาะที่จำเป็น เป็นการเดินทางในลักษณะของเที่ยวบินพิเศษ และเที่ยวบินที่รองรับผู้โดยสารกลุ่มรักษาสุขภาพ ส่วนการเดินทางท่องเที่ยวตามปกติด้วยเที่ยวบินพาณิชย์ คาดว่าผู้โดยสารจะทยอยเติบโตอย่างต่อเนื่อง และกลับมาเป็นปกติภายใน 4-5 ปี

คณะผู้จัดทำแผนศาลเห็นว่ามีความเหมาะสม-ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าโครงสร้างธุรกิจของลูกหนี้เป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้และมีความจำเป็นต่อระบบการคมนาคมและขนส่งทางอากาศ โดยลูกหนี้ได้เสนอรายชื่อผู้ทำแผนที่ศาลพิจารณาและเห็นว่ามีเป็นบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ รวมทั้งชื่อเสียงและประสบการณ์จากการประกอบกิจการมานาน ทำให้ปัจจุบันลูกหนี้ยังเป็นผู้มีศักยภาพในการสร้างรายได้ และผู้ทำแผนมีความเหมาะสม

เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ล้มละลายสร้างความเป็นธรรมทุกฝ่าย- ผู้ทำแผนต้องจัดทำแผนบนหลักการก่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อเจ้าหนี้ และเจ้าหนี้จะต้องได้รับชำระหนี้มากกว่าการล้มละลาย ด้วยหลักการดังกล่าว บุคคลซึ่งลูกหนี้เสนอเป็นผู้ทำแผนย่อมไม่สามารถจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการไปตามที่ตนเองต้องการโดยปราศจากความร่วมมือจากเจ้าหนี้อื่นได้ ทั้งเจ้าหนี้ผู้คัดค้านในคดีก็ไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานอื่น อีกทั้งลูกหนี้ได้แสดงหลักฐานถึงคุณสมบัติ และประสบการณ์ของผู้ทำแผนที่สามารถพิสูจน์ได้ ศาลจึงเห็นชอบคณะผู้จัดทำแผนที่ลูกหนี้เสนอ