ธกส.อุ้มเกษตรกรสู้โควิด!?! 3 ล้านครัวเรือน พักหนี้ 1 ปี พร้อมสินเชื่อฉุกเฉินและดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 30,000 ล้านบาท

1713

ธ.ก.ส.เงินฝากท่วมกว่า 1.7 ล้านล้านบาท เนื่องจากเกษตรกรออมมากขึ้น เพราะกังวลโควิด-19 ระบาดรอบใหม่ อีกทั้งได้รับเงินช่วยเหลือเรื่องค่าเก็บเกี่ยวและเงินประกันรายได้ของรัฐ จึงถอนเงินมาใช้อย่างระมัดระวังมากขึ้น ธนาคารจึงออกมาตรการช่วยเกษตรกร 3 ล้านครัวเรือนให้รับมือปัญหาและผลกระทบแพร่ระบาดโควิด-19 โดยพักชำระหนี้อัตโนมัติ 1 ปี ขยายเวลาเปิดรับคำขอสินเชื่อไปถึง 30 มิ.ย. 64 วงเงิน 30,000 ล้านบาท ส่วนSMEพักหนี้ให้ 6 เดือน

เมื่อวันที่ 28 ม.ค.2564 นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า  คณะกรรมการธนาคารฯ ได้อนุมัติมาตรการ ช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่ โดย

การพักชำระหนี้ต้นเงินทั้งระบบแบบอัตนโนมัติ เป็นเวลา 1 ปี ให้กับเกษตรกร กลุ่มบุคคล กองทุนหมู่บ้านหรือชุมชน ผู้ประกอบการ(นิติบุคคล) องค์กร กลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ (ไม่รวมสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ) ที่ได้รับผลกระทบและอยู่ในพื้นที่ที่ภาครัฐประกาศเป็นเขตควบคุมสูงสุด จากเดิมเป็นการพักชำระหนี้ให้เกษตรกร 3 ล้านครัวเรือน วงเวิน 1 ล้านล้านบาท จนถึงสิ้นบัญชี 2563 กำหนดสิ้นเดือน มี.ค.2564 ให้ขยายเป็น มี.ค.2565 ส่วนกลุ่มลูกค้า SME วงเงิน 6,000 ล้านบาท ขยายเวลาชำระหนี้ 6 เดือน ไปถึงสิ้นเดือน พ.ค.2564

และอีกหนึ่งมาตรการที่ได้รับความสนใจจากพี่น้องชาวเกษตรกรอย่างมาก นั่นคือ การขยายเวลาเปิดรับคำขอ “สินเชื่อฉุกเฉิน” รายละไม่เกิน 10,000 บาท และ “สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ” เพื่อฟื้นฟูและปรับโครงสร้างธุรกิจ 

โดยในส่วนของสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. นั้น มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้

  1. ธ.ก.ส. เตรียมวงเงิน “สินเชื่อฉุกเฉิน” 20,000 ล้านบาท

สำหรับมาตรการ “เงินกู้ฉุกเฉิน” เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา(COVID-19)  ระลอกใหม่  ธ.ก.ส. ได้เตรียมวงเงินสนับสนุนรวมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นในครัวเรือน ผ่านโครงการ “สินเชื่อฉุกเฉิน” วงเงิน 20,000 ล้านบาท ให้กับเกษตรกรและครอบครัวของเกษตรกร

ในอัตราดอกเบี้ยคงที่เพียงร้อยละ 0.1 ต่อเดือน วงเงินกู้รายละไม่เกิน 10,000 บาท กำหนดชำระคืนไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน นับจากวันกู้ มีระยะเวลาปลอดการชำระ 6 เดือน ไม่ต้องใช้หลักประกัน และสามารถ “แบ่งงวดชำระได้” ตามความสามารถในการชำระคืน โดยขยายเวลาในการขอสินเชื่อดังกล่าวได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564

  1. วงเงิน “สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ” 10,000 ล้านบาท

ถัดมา เป็นบริการสินเชื่อใหม่เพื่อนำไปลงทุนและฟื้นฟูการผลิต ผ่านโครงการ “สินเชื่อฉุกเฉินเสริมสภาพคล่องดอกเบี้ยต่ำ” สำหรับผู้ประกอบการและสถาบันเกษตรกร ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท 

  1. สินเชื่อและมาตรการช่วยเหลืออื่นๆนอกจากนี้ ธ.ก.ส. ได้เตรียมสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูและปรับโครงสร้างธุรกิจ ประกอบด้วย

– สินเชื่อระยะสั้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Jump Start Credit) อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี  – สินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ (Sufficient Loan) อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ในช่วง 3 เดือนแรก เดือนถัดไปร้อยละ 4 ต่อปี – สินเชื่อ New Gen Hug บ้านเกิด อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ในช่วง 3 เดือนแรก เดือนถัดไปดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี – สินเชื่อ SMEs (Soft Loan ของธนาคารแห่งประเทศไทย ระยะที่ 2) อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี– สินเชื่อแก้ไขหนี้นอกระบบ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือน– โครงการชำระดีมีคืน ช่วยลดภาระหนี้สำหรับลูกหนี้ที่มีสถานะหนี้ปกติ ที่มีหนี้คงเหลือ ณ 31 ต.ค. 63– โครงการลดภาระหนี้ สำหรับลูกค้าที่มีสถานะหนี้เป็นหนี้ค้างชำระเกินกว่า 15 เดือน มีหนี้คงเหลือ ณ 31 ต.ค. 63 

  1. การขอสินเชื่อผ่านออนไลน์ (LINE Official BAAC Family)

ธ.ก.ส. ได้จัดเตรียมช่องทางสำหรับผู้ที่ประสงค์จะใช้บริการขอ “สินเชื่อฉุกเฉิน” สามารถส่งคำขอได้ทาง LINE Official BAAC Family ซึ่งมีวิธีการ ดังนี้ 

– เปิดแอพฯ LINE จากนั้นให้ไปกดเพิ่มเพื่อน (Add friend) ค้นหาโดยพิมพ์คำว่า >> @BAACFamily แล้วกดเพิ่มเพื่อน

– จากนั้นกดเข้าไปใน BAAC Family แล้วดูที่หัวข้อ “มาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ระลอกใหม่” แล้วกดคลิก “ลงทะเบียน” ที่แถบเมนูด้านล่าง

– จากนั้นเลือก “ขอสินเชื่อ”

– จากนั้นกรอกรายละเอียดต่างๆ ให้ถูกต้อง ครบถ้วน และกดยืนยันขอสินเชื่อ 

*สำหรับใครจะขอเข้าร่วมโครงการ “พักชำระหนี้” ก็ทำได้ผ่าน LINE Official BAAC Family , เว็บไซต์ www.baac.or.th , Call Center 0 2555 0555 และ ธ.ก.ส. สาขาต่างๆ เฉพาะในพื้นที่ที่ภาครัฐประกาศให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด

*สำหรับ “สินเชื่อฉุกเฉินเสริมสภาพคล่องดอกเบี้ยต่ำ” สินเชื่อระยะสั้นฤดูการผลิตใหม่ สินเชื่อแก้ไขหนี้นอกระบบ และสินเชื่อ SMEs (Soft Loan ธปท. ระยะที่ 2) สามารถติดต่อ “ขอสินเชื่อ” ได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ

*สำหรับ “สินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ” และ “สินเชื่อ New Gen Hug บ้านเกิด” สามารถติดต่อได้ทั้งทาง LINE Official BAAC Family และ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป