จุรินทร์ดันแผนยุทธศาสตร์ข้าว?!? พลิกข้าวไทยนำทั้งคุณภาพและการตลาด ตั้งเป้าดันส่งออกปี 64 ได้ 6 ล้านตัน

1929

ในขณะที่ภาวะส่งออกโดยรวมมีแนวโน้มขยายตัว แต่ข้าวไทยกลับยังต้องฝ่ามรสุมการค้า สมาคมผู้ส่งออกไทยชี้ ภาวะขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ทำส่งมอบข้าวล่าช้าต้นทุนสูงขึ้นและ ค่าเงินบาทแข็งทำราคาแพงข้าวไทยแพงกว่าคู่แข่ง สูญเสียโอกาสขายรายใหญ่ คาดเดือนม.ค.ส่งออกได้ 5 แสนตัน ขณะก.พาณิชย์คาดหวังดำเนินยุทธศาสตร์ข้าวจะช่วยพลิกฟื้นสภาวะการผลิตการตลาดให้ข้าวไทยสมกับเป็นข้าวที่ดีที่สุดในโลกได้ทั้งในระยะสั้นระยะกลาง

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข่าวไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯคาดว่าการส่งออกในเดือนม.ค. 2564 ปริมาณส่งออกข้าวจะอยู่ที่ประมาณ 500,000 ตัน เนื่องจากในช่วงนี้ผู้นำเข้าในแถบแอฟริกาและเอเชียยังคงมีความต้องการนำเข้าข้าวทั้งข้าวขาวและข้าวนึ่งแต่ปริมาณไม่มากนัก ขณะที่ตลาดหลักที่นำเข้าข้าวหอมมะลิและข้าวหอมไทยยังคงมีการนำเข้าอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามการส่งออกข้าวในช่วงนี้อาจจะมีปริมาณไม่มากเหมือนช่วงเวลาปกติ เนื่องจากผู้ส่งออกยังคงประสบปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ประกอบกับค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้นมาก ทำให้การส่งมอบสินค้าต้องล่าช้ากว่ากำหนดและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ภาวะราคาข้าวของไทยในช่วงนี้มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นทั้งข้าวขาวและข้าวนึ่ง ท่ามกลางภาวะค่าเงินบาทที่อยู่ในทิศทางแข็งค่า -โดยข้าวขาว 5% ราคาปรับเพิ่มขึ้นจาก 529 ดอลลาร์ต่อตันเมื่อช่วงปลายเดือนที่แล้ว มาอยู่ที่ 550 ดอลลาร์ต่อตัน -ขณะที่ข้าวนึ่งปรับเพิ่มขึ้นจาก 535 ดอลลาร์ต่อตัน มาอยู่ที่ 558 ดอลลาร์ต่อตัน ส่งผลให้ราคาข้าวไทยสูงกว่าอินเดียประมาณ 160 ดอลลาร์ต่อตัน 

โดยเว็บไซต์ Oryza.com รายงานราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนามอยู่ที่523-527 ดอลลาร์ต่อตัน อินเดีย 388-392 ดอลลาร์ต่อตันและปากีสถาน 453-457 ดอลลาร์ต่อตัน

ร.ต.ท. เจริญ กล่าวว่า สำหรับการส่งออกข้าวในปี 2563 ( ม.ค.-ธ.ค.) มีปริมาณ 5,724,679 ตัน ลดลง 24.5% โดยมีมูลค่า 3,727.2 ล้านดอลลาร์ ลดลง 11.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีการส่งออกปริมาณ 7,583,662 ตัน มูลค่า 4,207.4 ล้านดอลลาร์

การส่งออกข้าวในเดือนธันวาคม 2563 มีปริมาณ 480,102 ตัน มูลค่า 9,257 ล้านบาทโดยปริมาณและมูลค่าส่งออกลดลง 33.5% และ 29.2% เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่ส่งออกปริมาณ 721,779 ตัน มูลค่า 13,072 ล้านบาท 

เนื่องจากเดือนธันวาคมที่ผ่านมาผู้ส่งออกประสบปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้นมากทำให้ไม่สามารถส่งมอบสินค้าได้ตามกำหนดและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูง ส่วนใหญ่ส่งไปยังประเทศแคเมอรูน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ จีน โมซัมบิก และ สปป.ลาว

ปัญหาการส่งออกข้าวของไทยยังคงดำรงอยู่ ด้วยปัจจัยทั้งภายในประเทศและปัจจัยภายนอกประเทศ ทั้งมาตรการกีดกันการค้าของมหาอำนาจ สงครามการค้าระหว่างมหาอำนาจจีนสหรัฐ ที่ยังไม่มีแนวโน้มที่ชัดเจนว่าจะผ่อนคลาย ขีดความสามารถในการผลิตและการขายของเพื่อนบ้านเช่นเวียดนาม กัมพูชา ฉุกรั้งยอดขายของข้าวไทยเป็นระยะ

26 ม.ค. 2564 นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้จัดการประชุมผ่านระบบ Zoom ร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเพื่อหารือเกี่ยวกับเป้าการส่งออกข้าวไทยในปี 2564 โดยเห็นชอบร่วมกันในการกำหนดเป้าการส่งออกข้าวไทยที่ปริมาณ 6 ล้านตัน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย เพราะยังมีผลกระทบต่อการส่งออกข้าว ทั้งเงินบาทแข็งค่า ทำให้ข้าวไทยมีราคาสูงกว่าคู่แข่งสำคัญ เช่น อินเดียและเวียดนาม มีปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ที่มีไม่เพียงพอกับความต้องการ และผู้นำเข้าหลายประเทศยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้กำลังซื้อลดลง

ความพยายามของภาครัฐในการแก้ไขปัญหารากฐานของ การผลิตและการค้าของข้าวไทย ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องล่าสุด เมื่อเร็วๆนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ได้เสนอ ยุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 2563-2567 ครอบคลุมทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเพื่อแก้ไขปัญหา และให้การบริหารจัดการข้าวสอดคล้องกันทั้งระบบและมีการพัฒนาต่อเนื่อง โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

  1. วิสัยทัศน์ คือ ไทยเป็นผู้นำการผลิต การตลาดข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวคุณภาพของโลก ภายใต้ยุทธศาสตร์ ตลาดนำการผลิต โดยแบ่งประเภทข้าวออกเป็น3 ประเภท  7 ชนิด ตามความต้องการของตลาด 1) ตลาดพรีเมียม ได้แก่ ข้าวหอมมะลิและข้าวหอมไทย 2) ตลาดทั่วไป ได้แก่ ข้าวขาวพื้นนุ่ม ข้าวขาวพื้นแข็ง และข้าวนึ่ง และ 3) ตลาดเฉพาะ ได้แก่ ข้าวเหนียวและข้าวสีหรือข้าวคุณลักษณะพิเศษ
  2. ยุทธศาสตร์ข้าวไทย มี 4 ด้าน คือ

1.ด้านการตลาดต่างประเทศ

1.1 ตลาดนำการผลิต ตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยมีชนิดข้าวที่หลากหลายสามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาด 

1.2 การยกระดับคุณภาพและมาตรฐานข้าวไทยเป้าหมาย คือ ข้าวไทยเป็นหนึ่งด้านคุณภาพและมาตรฐาน 

1.3 เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการโลจิสติกส์เพื่อการส่งออกข้าวไทย มีเป้าหมายลดต้นทุนการส่งออกเพื่อให้แข่งขันได้

1.4 การส่งเสริมการตลาดและการประชาสัมพันธ์ มีเป้าหมาย คือ เพิ่มโอกาสและช่องทางตลาดของข้าวไทยให้เข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้าง กลยุทธ์ เช่นการเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรข้าวไทย และการสร้าง Brand Loyalty? เป็นต้น

  1. ด้านการตลาดภายในประเทศ

2.1 ตลาดนำการผลิต เช่น-เกษตรกรมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจวางแผนการผลิตข้าวได้ตรงตามความต้องการของตลาด และ -มีการจัดชั้นคุณภาพข้าวเปลือก ข้าวสาร เพื่อเป็นเกณฑ์ในระบบการค้า เชื่อมโยงกับระบบฐานข้อมูลการส่งออกเป็น Single Demand Base 2.2 เพิ่มประสิทธิภาพระบบการค้าข้าวและยกระดับกลไก การซื้อขายสู่มาตรฐานสากล 2.3 บริหารสมดุลอุปสงค์อุปทานข้าวและสร้างกลไกป้องกันความเสี่ยงด้านราคา 2.4 พัฒนาระบบการเชื่อมโยงและรณรงค์การบริโภค

ความหวังในการยกระดับมาตรฐานการผลิต และช่วงชิงตลาดส่งออกเดิมให้กลับมานิยมข้าวไทยซื้อข้าวไทย  ตลอดจนแสวงหาตลาดใหม่ท่ามกลางการระบาดโควิด-19 กลายพันธ์ุ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่จะทำได้ต้องบูรณาการยุทธศาสตร์เรื่อง “ข้าว” ให้สามารถทำได้จริงในทางปฏิบัติ ลงสู่เกษตรกรผู้ผลิต ชาวนา ผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานข้าวทั้งระบบ ทั้งชาวนาไทย ผู้ประกอบการไทย และรัฐบาลไทยต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังจึงจะสามารถฝ่าข้ามกระแสแข่งขันที่ไม่หยุดนิ่งไปได้ในที่สุด!