ต่างชาติเปิดหน้าแทรกแซงอาเซียนกดดันไทยต่อเนื่อง เมียนมาบ้านใกล้ของไทย เกิดกระแสปลุกผีรัฐประหาร เมื่อผบ.สส.เมียนมาเปรยเรื่องฉีกรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องภายในที่ผู้บริหารบ้านเมืองเมียนมาต้องแก้ไขกัน แต่เหล่าสถานทูตต่างชาติกว่า 12 แห่งรวมทั้งสหรัฐและอียู ประสานเสียงUNเรียกร้องเมียนมา ให้ยึดมั่นประชาธิปไตย ประเด็นคุ้นๆที่ใช้ในทุกเวทีที่ต้องการยื่นมือเข้าไปเกี่ยวข้อง ขณะที่ประเทศไทยคณะเอกอัครราชทูตหลายประเทศเข้าพบปลัดกระทรวงการต่างประเทศแสดงความกังวลต่อการใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ฝ่ายไทยแจงต้องมีกฎหมายคุ้มครองสถาบันหลักของชาติ กระทบความมั่นคง จับตาบทบาทสหรัฐอียูแทรกแซงหนักยิ่งขึ้นทั้งการเมืองและการทหารในไทยและอาเซียน น่านน้ำทะเลจีนใต้
วันที่ 29 ม.ค.2564 สถานทูตสหรัฐประจำเมียนมา ร่วมกับสถานทูต 16 ประเทศรวมทั้งอังกฤษ อดีตเจ้าอาณานิคมและตัวแทนสหภาพยุโรป (อียู) ออกแถลงการณ์ร่วมเรียกร้องให้กองทัพเมียนมายึดมั่นในประชาธิปไตย แถลงการณ์ระบุ “เราเฝ้ารอการประชุมสภาเลือกประธานาธิบดีและประธานสภาอย่างสงบในวันที่ 1 ก.พ. เราคัดค้านความพยายามทุกอย่างที่จะบิดเบือนผลการเลือกตั้ง หรือขัดขวางการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของเมียนมา”
บรรยากาศใน กรุงเนปิดอว์ ตึงเครียดขึ้นอีกครั้งโดยมีตำรวจอารักขาความปลอดภัยเพิ่มขึ้นในพื้นที่สำคัญ รวมถึง บริเวณใกล้อาคารรัฐสภาท่ามกลางความวิตกของชาวเมียนมา ว่าอาจเกิดการรัฐประหารหลังกองทัพพยายามกดดันให้ตรวจสอบข้อสงสัยการทุจริตในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อช่วงเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว
ขณะที่เพจ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา ได้เผยแพร่ข้อความเตือนคนไทยให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
และในวันเดียวกันนั้นเอง คณะทูตานุทูตหลายหลายประเทศ ได้เดินทางเข้ามาที่กระทรวงการต่างประเทศ นายธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แจงว่า เอกอัครราชทูตจากสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยหลายคน พร้อมด้วยเอกอัครราชทูตจากประเทศอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง ขอเข้าพบนายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ โดยมีโฆษกกระทรวง และอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายเข้าร่วมด้วย
ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตขอรับทราบข้อมูลและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับพัฒนาการล่าสุดทางการเมืองของไทย รวมทั้งการใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งหลายฝ่ายมีความห่วงกังวล เพื่อทำความเข้าใจที่ถูกต้อง
ปลัดกระทรวงการต่างประเทศอธิบายให้ทราบถึงพัฒนาการทางการเมือง บริบทแวดล้อม รวมถึงหลักการความจำเป็นและขั้นตอนการบังคับใช้กฎหมาย และสิทธิของผู้ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญาต่างๆ รวมถึงมาตรา 112
ปลัดกระทรวงการต่างประเทศย้ำว่า สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหนึ่งในสามสถาบันหลักของชาติและเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทย จึงต้องมีกฎหมาย เช่น มาตรา 112 เพื่อคุ้มครองมิให้มีการล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการจาบจ้วงอย่างรุนแรงเกินกว่าที่คนทั่วไปจะรับได้ ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าทุกฝ่ายจะได้รับความเป็นธรรมตามกระบวนการยุติธรรมของไทย
ล่าสุดในวันนี้ (30 ม.ค.2564) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง มาตรา 112 กับ นักวิชาการ กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,677 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 25 – 29 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 99.7 ระบุ ทุกฝ่ายควรหยุด ทำอะไรที่กระทบต่อสถาบันหลักของชาติ และหยุดความพยายามแก้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.7 เชื่อว่ามีขบวนการ องค์กรต่างชาติ อยู่เบื้องหลัง การเคลื่อนไหวของนักวิชาการ นักการเมืองบางคน พยายามแก้ไข ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.4 รู้สึกสูญเสียความภูมิใจ เมื่อนักวิชาการ พยายามจะก้าวล่วงละเมิด คุกคามสถาบันหลักของชาติ