ก้าวไกลประกาศ จะพูดถึงสถาบันเท่าที่จำเป็น ขณะพท.เปิดทางนำซักฟอกในสภา

2461

จากวันที่ 28 มกราคม 2564  สิระ เจนจาคะ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ออกมาเปิดเผยถึงผลการร่วมประชุมวิปฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน โดยนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในที่ประชุมนั้น

ทั้งนี้นายสิระ กล่าวว่าได้มีหารือกันถึงความไม่สบายใจของหลายฝ่าย เกี่ยวกับญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่ยื่นมาก่อนหน้านี้ และมีข้อความ “ไม่ยึดมั่นและศรัทธาในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำลายและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย ทำลายความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชน นำสถาบันเป็นข้ออ้างเพื่อแบ่งแยกประชาชน แอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเกราะปิดบังความผิดพลาดล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของตนเอง”

“ในที่ประชุม ประธานสภาฯระบุว่าไม่ได้เป็นการบังคับ เพราะถึงแม้ว่าฝ่ายค้านจะไม่แก้ไขก็บรรจุญัตติตามขั้นตอนอยู่แล้ว แต่ทางนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้าน ขอรับไปแก้ไขญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจดังกล่าว

ส่วนของข้อมูลในการอภิปรายเปิดกว้างให้สามารถอภิปรายได้ แต่ขอให้อย่ามีข้อความที่เกี่ยวข้องกับสถาบันมาอ้างถึงในญัตติ เพราะมีความไม่เหมาะสม โดยส่วนว่าจะแก้ไขอย่างไรนั้น ถือเป็นดุลยพินิจของทางฝ่ายค้านที่จะไปแก้ไข ซึ่งในที่ประชุมก็มีตัวแทนของพรรคก้าวไกลรับทราบด้วย

ขอขอบคุณฝ่ายค้านที่ยอมแก้ไขญัตติ และขอบคุณทุกฝ่ายที่ให้ความร่วมมือ เพื่อทำให้ประชาชนและสังคมสบายใจกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้” นายสิระ กล่าว

ต่อมาวันที่ 29 มกราคม 2564  นายสิระ ได้ออกมาพูดถึงกรณีนายสมพงษ์ อีกครั้ง โดยระบุว่า หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ยืนยันจะไม่มีการแก้ไขญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า จากการที่มีการละเมิดและพาดพิงสถาบันในญัตติ ซึ่งก่อนหน้านั้นผู้นำฝ่ายค้าน บอกว่าเห็นญัตติแล้วก็มีความไม่สบายใจ และจะกลับไปแก้ไขญัตติ และยังมีการปรึกษาว่าจะแก้ไขได้ด้วยวิธีไหน แต่เมื่อออกนอกห้องประชุมกลับตระบัดสัตย์ ไม่แก้ถ้อยคำทุกตัวอักษรในญัตตินี้

“ตนถือว่าตระบัดสัตย์จากที่รับปากไว้กับนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และบอกไว้ในที่ประชุม อยากถามว่ายังเป็นผู้นำฝ่ายค้านที่มีความซื่อสัตย์อยู่หรือไม่ และคำพูดยังน่าเชื่อถืออยู่หรือไม่

หากมีการยื่นและบรรจุญัตติ ถือว่านายสมพงษ์สร้างประวัติศาสตร์ของสภาผู้แทนราษฎร ที่ปล่อยและเปิดโอกาสให้ส.ส.จาบจ้วงสถาบันในที่ประชุมรัฐสภา เป็นการดึงฟ้าลงมาต่ำให้เล่นการเมือง ซึ่งสถาบันต้องไม่ยุ่งกับการเมือง และมีเจตนาอะไร อยากถามว่าดึงมาทำไม

ถ้ามีการยื่นและบรรจุญัตติ ฝ่ายกฎหมายของผมจะดำเนินการฟ้องร้องมาตรา 112 กับนายสมพงษ์และส.ส.ที่ร่วมลงชื่อในญัตติ ซึ่งต้องรอให้มีการบรรจุระเบียบวาระก่อน เพื่อให้มีหลักฐานว่าการบรรจุระเบียบวาระได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว” นายสิระ กล่าว

นอกจากนี้ นายสิระ ยังกล่าวอีกว่า เรื่องข้อบังคับการประชุมก็มีความชัดเจนว่าผิดข้อบังคับ เพราะต้องไม่นำสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาอภิปราย รวมถึงบุคคลภายนอก บรรจุวาระต้องดูว่าหากประธานรัฐสภาบรรจุวาระ และดูข้อบังคับให้ละเอียดถี่ถ้วน ตนจะมีการยื่นอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ว่าจะในสภาหรือนอกสภา ซึ่งฝ่ายกฎหมายของตนได้พิจารณาแล้วว่าเรื่องนี้น่าจะผิดรัฐธรรมนูญ และจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความว่าญัตติขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

“อยากให้ประชาชนดูว่าฝ่ายค้านชุดนี้ดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาเล่นการเมือง ไม่นึกถึงความเสียหายของสถาบัน ถามว่าไม่จงรักภักดีกันแล้วใช่หรือไม่ ขอให้ประชาชนช่วยกันดู ส่วนผมจะทำหน้าที่ไม่ว่าทั้งใน และนอกสภา เพื่อคัดค้านญัตตินี้ ไม่ให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้เกิดขึ้นได้ อยากถามว่าฝ่ายค้านไม่มีเรื่องอื่นแล้วหรือที่จะตรวจสอบรัฐบาล ไม่ว่าเรื่องรัฐมนตรีคนใดทุจริตประพฤติมิชอบ เลยดึงฟ้าลงมาเล่น หมดมุขหมดปัญญาแล้วใช่หรือไม่ ผมได้ข่าวว่าฝ่ายค้านโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย มีเงินหรืออะไรบ้างตกลงมาบ้างในการอภิปรายครั้งนี้ ซึ่งผมจะทำหน้าที่เป็นองครักษ์พิทักษ์สถาบัน” นายสิระ กล่าว

และเมื่อถามว่า ฝ่ายกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาแล้วว่าสามารถบรรจุญัตตินี้ได้ นายสิระ กล่าวว่า ฝ่ายกฎหมายของตนพิจารณาแล้วว่าผิดข้อบังคับและขัดรัฐธรรมนูญ มีการจาบจ้วงสถาบันดึงฟ้าลงมาต่ำ ก็อยากถามว่าแบบนี้ผิดหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ชัดเจน ว่าพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมือง ถามว่าเป็นการอภิปรายบุคคลภายนอกหรือไม่ เมื่อญัตติมีเรื่องของสถาบัน แต่สถาบันไม่ได้อยู่ในสภา

จากนั้นเมื่อผู้สื่อข่าวถามอีกว่า ฝ่ายค้านยืนยันจะใช้ถ้อยคำกล่าวถึงสถาบันให้น้อยที่สุดและดีที่สุด ทำให้นายสิระ ตอบว่า ถ้ามีญัตติบรรจุเรื่องของสถาบันจะไม่กล่าวถึงก็คงเป็นไปไม่ได้ ถามว่าแล้วจะพูดถึงอย่างไร จะบูชา จะเคารพอย่างนั้นหรือ เชื่อว่าจะเป็นการพูดอีกมุมหนึ่ง ซึ่งนายสมพงษ์เปิดโอกาสให้มีคนมาจาบจ้วงสถาบันใช่หรือไม่ และมีอะไรแอบแฝงหรือไม่ เรื่องนี้ต้องมีคนรับผิดชอบ

อย่างไรก็ตามสำหรับความเคลื่อนไหวต่อกรณีดังกล่าวของพรรคก้าวไกล พบว่าเฟซบุ๊ก พรรคก้าวไกล – Move Forward Party ได้โพสต์ข้อความไว้เมื่อวันที่  27 มกราคม ว่า

หลัง วิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ได้ให้ข้อมูลต่อสื่อมวลชนว่า ญัตติของฝ่ายค้านที่เสนอต่อสภาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลมีเนื้อหาเกี่ยวกับการละเมิดสถาบัน และเรียกร้องให้ประธานรัฐสภาดำเนินการให้พรรคร่วมฝ่ายค้านเเก้ไขเเละนำเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันออกนั้น

ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ระบุว่า พฤติการณ์ของรัฐบาลที่ถูกกล่าวถึงในญัตติของพรรคฝ่ายค้านไม่ใช่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เป็นการอภิปรายรัฐบาลและยืนยันว่าไม่ได้เป็นการอภิปรายสถาบัน หรือจงใจพาดพิง ก้าวล่วง หรือวิจารณ์ที่ส่งผลเสียต่อสถาบัน เเต่เป็นหน้าที่ของฝ่ายค้านในการตรวจสอบรัฐบาลที่บริหารราชการเเผ่นดินล้มเหลว ละเมิดหลักนิติรัฐ นิตธรรม รวมถึงทำลายสถาบันอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ประการที่สอง ในการอภิปรายไม่มีเนื้อหาใดที่ขัดต่อข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร หากนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ยังคงจะให้ฝ่ายค้านแก้ไข ต้องชี้เเจงให้ชัดเจนว่า มีข้อความส่วนใดในญัตติดังกล่าว ขัดต่อข้อบังคับการประชุมรัฐสภาและประธานสภาควรปฏิบัติตัวเป็นกลางในฐานะประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติ พรรคก้าวไกลยืนยันว่าจะทำหน้าที่อภิปรายรัฐบาลอย่างดีที่สุดเเละมีวุฒิภาวะ

“ประการสุดท้าย รัฐบาลควรหยุดการนำเรื่องของสถาบันมาโจมตีฝ่ายค้าน เพื่อปิดบังการบริหารราชการเเผ่นดินของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ล้มเหลว การนำสถาบันมาโจมตีฝ่ายตรงข้าม ทำให้เกิดปัญหาในการทำให้พระมหากษัตริย์เป็นเงื่อนไขแบ่งเเยกประชาชน ละเมิดหลักนิติรัฐ นิติธรรม รวมทั้งทำลายความสัมพันธ์อันดีระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชน ขอให้รัฐบาลอย่าใช้เรื่องนี้มาตีรวนในสภา และขอให้รัฐบาลฟังเนื้อหาให้จบ เพราะจะได้รู้ว่าเราอภิปรายรัฐบาลโดยไม่มีประเด็นเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้อง”

อย่างไรก็ตาม นายชัยธวัช ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า ไม่กังวลหากเกิดกรณีพรรคร่วมรัฐบาลประท้วงจนไม่สามารถประชุมต่อไปได้ เนื่องจากการประท้วงของพรรคร่วมรัฐบาลเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้น โดยเราจะกล่าวถึงพระมหากษัตริย์เท่าที่จำเป็น และเกี่ยวข้องกับการบริหารงานของรัฐบาลเท่านั้น