เปิดตัวตน “คารม” จากทนายเสื้อแดงสู่ ขบถก้าวไกล? ผู้ซัดหน้าปิยบุตรปมเครื่องราชย์!จุดยืนจงรักภักดีสถาบันฯ

2689

จากที่ก่อนหน้านี้ มีการเปิดเผยรายชื่อ ส.ส.ก้าวไกล หลังมีการโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ โดยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย พ.ศ. 2536 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่สมาชิกรัฐสภาและผู้ที่เกี่ยวข้องในวงงานรัฐสภา โดยปรากฏชื่อของส.ส.พรรคก้าวไกล และอดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ หลายคน

ต่อมา นายศศิพัฒน์ พงษ์ประภาพันธ์ หรือ กาณฑ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง แนวร่วมคณะราษฎร 63 โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กถึงบกรณีดังกล่าว โดยเนื้อหาบางส่วนได้มีการเปิดเผยรายชื่อ ส.ส.พรรคก้าวไกล และอดีตพรรคอนาคตใหม่ที่ขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์

หนึ่งในนั้น คือ นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ซึ่งได้ขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้นทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย รวมถึงมีการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้กับภรรยาด้วย

ขณะที่ทางด้าน ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โพสต์เฟซบุ๊กถึงนายคารมด้วยว่า “คารม​ พลพรกลาง​ ออกมาแก้ตัวในรายการหมาแก่กับแมวสาว​ ช่อง​ 9​ อสมท​. ว่าที่ขอเครื่องราชให้ตนเองและภรรยา​ บอกว่าเป็นการได้รับพระราชทานเครื่องราชนั้นเป็นไปโดยปริยาย ที่ขอให้ภรรยาด้วยก็เป็นไปตามกฎหมาย​ เพราะเป็นภรรยาตามกฎหมาย จุดยืนของผมไม่ใช่ของ​ ปิยบุตร​ ก้าวไกล​ อนาคตใหม่ อ้าวถ้าไม่อยากรับพระราชทาน​ ก็อย่าลงนามสิยังจะแถ”

เรื่องนี้เอง นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กโดยมีรายละเอียดดังนี้ ส.ส. ต้องเป็น “ผู้แทน” ของราษฎร มิใช่ “พนักงานของรัฐ” สถาบันการเมือง พรรคการเมือง ส.ส. ส.ว. ที่มีอำนาจอยู่ ต้องมีความรับผิดชอบในการนำประเด็นไปทำต่อ จะช้าเร็ว-มากน้อย ก็ว่ากัน แต่ต้องไปขยับ

อย่างน้อยที่สุด คือถ้าคุณเห็นว่าคนมาชุมนุม เขาเสียสละโดนคดีกันมาก ติดคุกทั้งชีวิต นับห้วงชีวิตอายุของคนคนหนึ่งอาจจะติดคุกยังไม่พอกับจำนวนคดีที่โดน อย่างน้อยๆ 3 ประเด็นข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้นในปี 2563 ก็ต้องขยับไปในแนวทางนี้

ถ้า ส.ส. ไม่ขยับเลย จะตอบเยาวชนประชาชน-อนาคตของประเทศ จะเป็นความหวังให้เขาได้อย่างไร ในขณะที่คนจำนวนมากไปเรียกร้อง แต่ถ้าวันหนึ่งเขาสิ้นหวังกับพรรคการเมือง นักการเมือง ผู้แทนราษฎร คราวนี้ระบบการเมืองจะปั่นป่วนโกลาหล

ทุก ๆ วินาทีที่อยู่ในสภา ทุกจังหวะโอกาสที่มี ควรจะต้องขับเคลื่อนได้มากขึ้นเรื่อยๆ อาจจะไม่สำเร็จ แต่คือเมล็ดพันธุ์ ขอให้ได้ขยับ ภารกิจสำคัญของผู้แทนราษฎรคือเรื่องแบบนี้

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คือ “ผู้แทน” ของ “ราษฎร” ผู้ที่ได้เป็น ส.ส. ไม่ควรคิดว่า ส.ส. เป็น “อาขีพ” เมื่อเป็นแล้วก็ติดใจหลงใหลต้องเป็นอีก จนทำให้ไม่กล้าตัดสินใจทำอะไรเลยเพื่อ “ราษฎร” เพราะเกรงว่าจะถูกกลไกรัฐเข้าทำลายจนตนเองต้องถูกขับออกจากการเมือง

ถ้า ส.ส. คิดว่า ส.ส. เป็น “อาชีพ” ต้องเป็นต่อไปเรื่อยๆ เขาจะขาดความเป็นอิสระ ขาดความกล้าหาญ และสยบยอมต่อกลไกรัฐ ไม่กล้าท้าทายปฏิรูปเรื่องใหญ่ๆ ในท้ายที่สุด ส.ส. ก็จะกลายเป็น “พนักงานของรัฐ” ไป

หาก ส.ส. ไม่กล้าเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่ลิดรอนเสรีภาพและอำนาจประชาชน กฎหมายที่แปลง “ประชาชน” ผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศ ให้กลายเป็น “ไพร่” แล้ว ส.ส. ก็เป็นเพียงคนที่หายใจไปวัน ๆ เพื่อตำแหน่ง ยศถาบรรดาศักดิ์ เงินทอง อำนาจ ของตนเท่านั้น

เมื่อ ส.ส. ถูกทำให้เป็น “พนักงานของรัฐ” ไม่ใช่ “ผู้แทนประชาชน” แล้ว กลไกรัฐที่เป็นปฏิปักษ์ประชาธิปไตยก็ได้ครอบงำเบ็ดเสร็จ

เมื่อสถาบันทางการเมืองที่ถืออำนาจรัฐไม่อาจสนองตอบความต้องการประชาชนได้ เมื่อนั้น “ประชาชน” จักปรากฏกายขึ้นเพื่อเปลี่ยนแปลงกันเอง

อย่างไรก็ตาม สำหรับ นายคารม พลพรกลาง นั้น อดีตเป็นทนายความแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ซึ่งหากย้อนไปช่วงก่อนหน้านั้นหลังจากที่มีการยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยพรรคก้าวไกล ประกาศจุดยืนชัดเจนว่าพร้อมสานงานและอุดมการณ์ของพรรคอนาคตใหม่ แต่ปรากฏว่าระหว่างนั้นเกิดความขัดแย้งภายใน เรื่องการจัดโครงสร้างพรรคถึงขนาดที่ นายคารม ที่กำลังตัดสินใจเข้าพรรคก้าวไกล ต้องทบทวนจุดยืนตัวเอง เนื่องจากเห็นว่าพรรคไม่ได้เน้นการทำงานการเมืองในภาคอีสานมากนัก

ในตอนนั้น นายคารม เปิดเผยว่า “ผมต้องการให้พรรคการเมืองใหม่ตอบโจทย์จริง ๆ รองหัวหน้าพรรคที่กำหนดไว้ไม่มีภาคอีสานเลยนะครับ ผมพูดอย่างนี้แล้วไม่ต้องมาตั้งผมเป็นรองหัวหน้าพรรคนะ”

ขณะเดียวกันนายคารม ยืนยันจุดยืนชัดเจนว่าแม้จะมีความคิดเห็นไม่ตรงกันกับพรรคอนาคตใหม่หรือพรรคก้าวไกล แต่ก็ไม่เคยเป็นงูเห่า อีกทั้งยังเคารพในการทำงานของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ ปิยบุตร แสงกนกกุล