สำนักงานเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม มั่นใจว่า ปี64 เศรษฐกิจไทยฟื้น สัญญาณภาคอุตฯฟื้นตัว จีดีพีภาคอุตสาหกรรมโต 4-5% คุมโควิด-19 ได้ยิ่งเร็วยิ่งดี การนำเข้าวัตถุดิบ-สินค้าทุนโตต่อเนื่อง หนุนการผลิตขยายตัว ขณะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหรือ ส.อ.ท. ได้สำรวจความเชื่อมั่นผู้บริหารเอกชน 46.3% มั่นใจรัฐบาลคุมได้ ห่วงการขนส่ง การเดินทางของพนักงานและการใช้แรงงานต่างด้าว วอนรัฐเร่งมาตรการลดดอกเบี้ยและพักชำระหนี้
เมื่อวันที่ 27 ม.ค.2564 นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) เปิดเผยถึงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) และจีดีพีอุตสาหกรรม ปี 2564 ว่า คาดว่าดัชนีเอ็มพีไอ จะขยายตัวระดับ 4.5-5% จากปี 2563 ที่ติดลบสูงถึง 8.8% และจีดีพีอุตสาหกรรมขยายตัวระดับ 4-5% จากปี 2563 ซึ่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เตรียมประกาศเร็วๆนี้
โดยเอ็มพีไอและจีดีพีอุตสาหกรรมที่ขยายตัวปีนี้ เกิดจากแนวโน้มเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมไทยทยอยฟื้นตัวดีขึ้น และวัคซีนโควิด-19 จะเข้ามาฉีดคนไทยในช่วงต้นปีนี้เป็นต้นไป นอกจากนี้ ตัวเลขการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปไม่รวมทองคำ ในเดือน ธ.ค.ยังขยายตัว 13.61% ขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 26 เดือน และการนำเข้าสินค้าทุนประเภทเครื่องจักรก็ยังขยายตัว 8.89% สะท้อนถึงสัญญาณที่ดีต่อแนวโน้มการผลิตที่จะขยายตัวในอนาคต แม้ว่าสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐจะยังคงมีอยู่ แต่จะเห็นตัวเลขการส่งออกมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อย ๆ
นอกจากนี้ นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น โครงการคนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ล่าสุดรัฐบาลอนุมัติโครงการเราชนะ มาตรการทางภาษี จะส่งผลให้การบริโภคของภาคครัวเรือนและการผลิตของผู้ประกอบการดีขึ้น และเมื่อไทยเริ่มฉีดวัคซีนได้ผล คาดว่าการส่งออก รวมถึงการท่องเที่ยวจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ
นายทองชัยกล่าวว่า “สศอ. คาดว่าโควิด-19 รอบใหม่ จะใช้เวลาไม่นานในการควบคุมการระบาด จากระบบสาธารณสุขที่ควบคุมโรคได้ดี ผู้ประกอบการมีระบบการจัดการดีขึ้น และการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม ยังอยู่ในระดับสูง เพราะแรงงานต่างด้าวไม่สามารถเข้ามาในไทยได้ ทำให้แรงงานมีสภาพตึงตัว”
ในปีนี้ สศอ. จะเร่งจัดทำแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล โดยจะพิจารณาปรับปรุงแผนที่ได้ออกมาแล้ว เช่น ยุทธศาสตร์ส่งเสริมอุตสาหกรรมบีซีจี (อุตสาหกรรมชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และอุตสาหกรรมสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม) อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต เป็นต้น
เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเพิ่มจูงใจดึงดูดการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต เดือนก.พ.นี้ อาจจะมีประชุมคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ(บอร์ดอีวี) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เพื่อพิจารณามาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี)ทั้งระบบ
“สศอ.ยังพบว่า การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปไม่รวมทองคำ ในเดือนธันวาคมขยายตัว 13.61% ขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 26 เดือน สะท้อนถึงสัญญาณที่ดีต่อแนวโน้มการผลิต”นายทองชัยกล่าว
ในด้านมุมมองของผู้บริหารธุรกิจ (CEO Survey) นั้น ทางส.อ.ท.ได้ทำการสำรวจภาคเอกชนครอบคลุม 25 กลุ่มอุตสาหกรรม เกี่ยวกับมาตรการป้องกันและเยียวยาจากโควิดระลอกใหม่ของรัฐบาล
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ มุมมองของผู้บริหาร ส.อ.ท. ต่อมาตรการป้องกันโควิด-19 และการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยทำการสำรวจจำนวน 160 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 74 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นต่อมาตรการควบคุมการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ของภาครัฐ อยู่ในระดับมาก ที่ร้อยละ 46.3 สำหรับมาตรการควบคุมการระบาดโควิด-19 ของภาครัฐ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการประกอบการนั้น 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 มาตรการที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าข้ามจังหวัด ร้อยละ 60.6 อันดับ 2 การเดินทางของพนักงาน/ลูกจ้าง ร้อยละ 59.4 อันดับ 3 การใช้แรงงานต่างด้าวในภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 58.8
ส่วนในเรื่องของผลกระทบด้านต้นทุนในการประกอบการที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการระบาดโควิด-19 พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 33.1 มีต้นทุนเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 10 – 20 ของต้นทุนการประกอบการในช่วงปกติ นอกจากนี้ FTI Poll ยังได้เจาะลึกไปถึงเรื่องความพร้อมในการรับมือกรณีที่จะต้องปิดกิจการ 14 วัน รวมทั้ง การดูแลพนักงานที่ติดโควิด พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.6 ไม่สามารถปิดกิจการ 14 วัน และต้องให้ภาครัฐเข้ามาดูแลพนักงานที่ติดโควิด รองลงมา ร้อยละ 35 มีความพร้อมในการปิดกิจการ 14 วัน แต่ต้องให้ภาครัฐเข้ามาดูแลพนักงานที่ติดโควิด และมีเพียงร้อยละ 19.4 ที่มีความพร้อมในการปิดกิจการ 14 วัน และสามารถดูแลพนักงานที่ติดโควิดได้
ด้านความพึงพอใจของผู้บริหาร ส.อ.ท. ต่อมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด ระลอกใหม่ ที่ภาครัฐได้ออกมาตรการเยียวยาในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นโครงการมาตรการเราชนะ การขยายสิทธิ์โครงการคนละครึ่ง การลดค่าไฟฟ้า/ค่าน้ำประปา การขยายเวลาลดหย่อนส่งเงินสมทบประกันสังคม เป็นต้น พบว่า ส่วนใหญ่ ผู้บริหาร ส.อ.ท. มีความพึงพอใจอยู่ในระดับปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 58.1
และมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการที่ผู้บริหาร ส.อ.ท. อยากให้ภาครัฐพิจารณาดำเนินการเพิ่มเติม พบว่า สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
อันดับ 1 การลดดอกเบี้ยเงินกู้และพักชำระหนี้ ร้อยละ 73.8 อันดับ 2 การลดหย่อนทางภาษี/เลื่อนการชำระภาษี ร้อยละ 70.6 อันดับ 3 จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการ ร้อยละ 65.6 อันดับ 4 การกระตุ้นการบริโภคในกลุ่มผู้ที่เสียภาษี เท่ากันที่ ร้อยละ 64.4 และอันดับ 5 การปรับหลักเกณฑ์ พ.ร.ก. เงินกู้ฯ ให้เพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน ร้อยละ 57.5
ทั้งนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ ร้อยละ 39.4 มองว่า รัฐบาลจะสามารถกำกับดูแลและควบคุมให้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ กลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ ภายใน 2 – 4 เดือน โดยที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างเข้มงวดและจริงจัง รวมทั้ง ภาครัฐจะต้องเข้ามาดูแลในส่วนของผู้ประกอบการรายย่อย (SME) ให้สามารถประคับประคองธุรกิจให้ผ่านช่วงเวลานี้ไปให้ได้