รัฐบาลปักธงสางหนี้นอกระบบ!?! ตั้งบอร์ดพิเศษถาวรลุยแก้เจ้าหนี้-ลูกหนี้-คนกลางจบใน 1 สัปดาห์ ทุกฝ่ายร่วมมือเมืองไทยฉลุย!

2334

สถานการณ์ในปัจจุบันของประเทศไทย ที่มีแนวโน้มการเกิดหนี้นอกระบบเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสาเหตุของเศรษฐกิจไทยชะลอตัวด้วยผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ประชาชนมีแนวโน้มในการกู้เงินนอกระบบมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะหนี้นอกระบบคือ“หนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมกันระหว่างบุคคล ต่อบุคคล” ซึ่งเกิดขึ้นได้ง่ายเมื่อเกิดปัญหาทางการเงินขึ้น และส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารหลักฐานการกู้ยืม เกิดปัญหาตามมาทั้งด้านอาชญากรรม สังคมและเศรษฐกิจโดยรวม รัฐบาลเตรียมตั้งบอร์ดพิเศษถาวรแก้ปัญหาต่อเนื่องจริงจัง ตั้งเป้าสางทั้งเจ้าหนี้,ลูกหนี้ และคนกลางหาทางออกแบบวิน-วิน เพื่อปลดภาระกำดักแห่งความยากจน และเดินหน้าพัฒนาชีวิตของคนไทยต่อไปได้อย่างแท้จริง

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายก เปิดเผยว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ และได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน โดยมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุม 5 ด้านคือ

  1. การจัดการเจ้าหนี้นอกระบบ มี “พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560” ซึ่งเพิ่มโทษกับเจ้าหนี้นอกระบบ และเปิดช่องทางให้เจ้าหนี้นอกระบบสามารถจดทะเบียนเป็นผู้ให้สินเชื่อในระบบได้
  2. การไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ ลูกหนี้สามารถร้องทุกข์และขอคำปรึกษาปัญหาหนี้นอกระบบได้ที่ “จุดให้คำปรึกษาปัญหาหนี้นอกระบบ” ที่ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทุกสาขา ซึ่งจะช่วยประสาน “คณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบในทุกจังหวัด” เพื่อช่วยเจรจาระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้
  3. การจัดหาแหล่งเงินในระบบให้ เมื่อไกล่เกลี่ยจนมูลหนี้เป็นธรรมแล้ว ซึ่งลูกหนี้สามารถที่จะขอสินเชื่อในระบบได้ โดยรัฐบาลได้สนับสนุนให้มีสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ (PICO Finance) ซึ่งเป็นสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ ที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงการคลัง
  4. ฟื้นฟูศักยภาพลูกหนี้ สําหรับลูกหนี้ที่ยังมีความสามารถในการชําระหนี้ตํ่าเกินไป “คณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการหารายได้ของลูกหนี้นอกระบบในทุกจังหวัด” จะช่วยฟื้นฟูอาชีพ ปลูกฝังความรู้และวินัยทางการเงิน ฝคำอบรมอาชีพ หรือพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน
  5. สร้างภูมิคุ้มกัน ภาครัฐจะพัฒนาเครือข่ายองค์กรการเงินชุมชนให้ทําหน้าที่ทดแทนเจ้าหนี้นอกระบบ หน่วยงานต่าง ๆ ร่วมกันให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน รวมทั้งจัดทํา “ฐานข้อมูลหนี้นอกระบบ” เพื่อใช้กําหนดนโยบายที่เหมาะสมและตรงเป้าหมายต่อไป

แจงผลการดำเนินงานที่ผ่านมา

เดือนสิงหาคม 2561 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 มีการช่วยเหลือลูกหนี้ให้ได้รับทรัพย์สินคืนแล้ว 25,044 ราย คิดเป็นโฉนดจำนวน 21,304 ฉบับ จับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบและผู้ติดตามทวงถามหนี้โดยวิธีการผิดกฎหมายจำนวน 6,002 ราย และการให้แหล่งเงินในระบบพิโกไฟแนนซ์ มียอดสินเชื่ออนุมัติสะสมจำนวน 269,880 บัญชี รวมเป็นจำนวนเงิน 7,018.34 ล้านบาท

ตั้งบอร์ดพิเศษแก้หนี้นอกระบบจบในอาทิตย์เดียว

ในปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลจะตั้งคณะกรรมการพิเศษที่มีลักษณะเป็นการถาวร เพื่อรับผิดชอบการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับประชาชนทั่วประเทศ ตั้งเป้าไว้ว่า ข้อร้องเรียนต่าง ๆ จะใช้เวลาแก้ปัญหาไม่เกิน 1 สัปดาห์ และในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้จัดตั้งหน่วยงานเฉพาะ คือ ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ (ศปน.ตร.) มีภารกิจในการปราบปรามผู้มีอิทธิพลหรือบุคคที่ให้ประชาชนกู้ยืมเงินโดยผิดกฎหมาย หรือมีลักษณะเป็นการทำสัญญาเอารัดเอาเปรียบประชาชน

นับจากเริ่มดำเนินการเมื่อ 8 มิถุนายน 2563 จนถึงปัจจุบัน ได้รับแจ้งจำนวนทั้งสิ้น 1,947 เรื่อง ดำเนินการเสร็จสิ้น 1,548 เรื่อง อยู่ระหว่างดำเนินการ 399 เรื่อง เป็นผู้ต้องหา 1,090 ราย ของกลางรถยนต์ รถจักรยานยนต์ 245 คัน โฉนดที่ดิน 87 ฉบับ เงินสดกว่า 1,300 ล้านบาท บัญชีธนาคารที่เกี่ยวข้อง 1,373 คดี ไก่เกลียประนีประนอมจำนวน 105 เรื่อง สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนสามารถร้องทุกข์ได้ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอัชญากรรมทางเศรษฐกิจโทร 02-2341068 หรือแจ้งร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจทุกแห่ง โทรสายด่วน 191 และ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

“รัฐบาลตระหนักถึงความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาหนี้นอกระบบ โดยเฉพาะช่วงของการระบาดของโควิด19 การขูดรีดดอกเบี้ยจากเจ้าหนี้ถือเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนให้หนักหนาขึ้นไปอีก จึงได้วางแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างบูรณาการและครอบคลุมหลายด้าน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง และเน้นย้ำให้การรับเรื่องร้องเรียนต่างๆต้องมีคำตอบให้ประชาชนถึงความคืบหน้า โดยรัฐบาลกำหนดเป้าหมายระยะยาว ที่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้หลุดพ้นจากปัญหาของหนี้นอกระบบ ส่งเสริมการเข้าถึงหนี้ในระบบ และพัฒนาความสามารถในการบริการจัดการหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมได้อย่างยั่งยืน” รองโฆษกฯกล่าว