จากรณีที่เพจเฟซบุ๊ก ราษฎร ของกลุ่มคณะราษฎร 63 ได้โพสต์คลิปวิดีโอพร้อมข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า
“กระชากหน้ากากอภิมหาดีลลับลวงพราง อันมีชีวิตคนไทยเป็นเดิมพัน
“วัคซีนพระราชทาน” ที่กล่าวขานเคลมบุญคุณกันมาตั้งแต่ตุลาคมปีที่แล้ว แต่จนป่านนี้ก็ยังไม่ได้ฉีดสักที มีเบื้องลึกเบื้องหลังอะไรที่ทำให้ Siam Bioscience บริษัทผลิตยาของกษัตริย์วชิราลงกรณ์ ซึ่งขาดทุนมาตลอด 10 ปี และไม่มีประสบการณ์ผลิตวัคซีนมาก่อน กลายเป็นม้ามืดควบมาคว้าดีลนี้ไปได้ แล้วอะไรทำให้การจัดสรรวัคซีนให้คนไทยได้อย่างล่าช้า และไม่ครอบคลุมสักที
หรือนี่จะเป็นการใช้วิกฤติโควิดเป็นโอกาสกดหัวประชาชน เอื้อประโยชน์เอกชน แล้วสร้างความนิยมให้กษัตริย์กันแน่
#วัคซีนพระราชทาน #ภาษีกู #ราษฎร #TheRatsadon”
ล่าสุด ดร.กิตติธัช ชัยประสิทธิ์ นักวิชาการอิสระ และอาจารย์ด้านสถาปัตยกรรม สอนพิเศษด้าน ปรัชญาการเมือง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึง ระบุว่า
“เปิดข้อเท็จจริง กรณีคลิปกลุ่มราษฎร/ปลดแอก โจมตีสถาบันกษัตริย์ผ่านเรื่องการจัดหาวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19
ข้อกล่าวหา
1. Siam Bioscience เป็นบริษัทขาดทุนมาโดยตลอด ไม่มีความน่าเชื่อถือ
2. ไทยเพิ่งหาวัคซีนมารองรับประชากรได้แค่ 21% ในขณะที่บางประเทศหาได้ 40% ขึ้นไป
3. รัฐบาลจ่ายเงินซ้ำซ้อน จ่ายทั้งค่าซื้อวัคซีนและค่าผลิตวัคซีน เพื่อให้ได้วัคซีนมาแค่ 21% ของประชากร
4. วัคซีนส่วนต่างจาก 200-26 ล้าน จะเอาไปขายต่างประเทศ (เพื่อสร้างความร่ำรวยให้กับบริษัท)
ข้อเท็จจริง
1. ไทยได้ลิขสิทธิ์ในการเป็นฐานการผลิตวัคซีนของ Astra Zeneca ที่มาถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับ Siam Bioscience ทำให้ไทยมีเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีนได้ในประเทศ ไม่ต้องรอแต่การสั่งซื้อจากต่างประเทศเหมือนประเทศส่วนใหญ่ในโลกที่ไม่ได้เป็นผู้ผลิตวัคซีนเอง
2. ไทยมีสัญญาการผลิตภายใต้ลิขสิทธิ์ของ Astra Zeneca ที่ 200 ล้านโดสต่อปี (ฉีดได้ 100 ล้านคน)
3. การที่กลุ่มราษฎร เอา ‘ยอดสั่งซื้อในอนาคต’ ของมาเลเซีย, ไต้หวัน, ฟิลิปปินส์ มาเทียบกับตัวเลขล็อตแรกของไทยที่ 26 ล้านโดส เป็นการเทียบที่ ‘ตรรกะวิบัติ’ เพราะทุกประเทศไม่ได้วัคซีนเต็มจำนวนตั้งแต่แรกแต่ต้องทยอยสั่งซื้อมาเรื่อยๆ ที่ละ 6 ล้านบ้าง 10 ล้านบ้างไม่ต่างจากไทย
4. ปัจจุบันไทยได้ซื้อเพิ่มแล้วอีก 35 ล้านโดสจาก Astra Zeneca รวมเป็น 26+35 = 61 ล้านโดส รวมกับที่ SinoVac ส่งมาอีก 2 ล้านโดสรวมเป็น 63 ล้านโดสหรือครอบคุลมประชากรราว 31.5 ล้านคน หรือเกือบ 50% แล้ว
5. Siam Bioscience ได้รับการคัดเลือกจาก Oxford มหาวิทยาลัยอันดับ 1 ใน 5 ของโลกจากประเทศอังกฤษ ว่ามีความพร้อมและเทคโนโลยีที่เหมาะสม ประกอบกับการเป็นบริษัทไม่แสวงหากำไรแต่เน้นการช่วยเหลือสังคม
6. นอกจากนี้ Oxford มั่นใจใน SCG เนื่องจากมีงานวิจัยร่วมกันมาอยางยาวนาน จึงเลือกให้ไทยภายใต้การผลิตของ Siam Bioscience เป็นฐานการผลิตวัคซีนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
*** ใครที่คิดจะโจมตีดีลนี้ เหมือนกำลังดูถูกมหาวิทยาลัย Oxford และบริษัท Astra Zeneca ที่เป็นบริษัทระดับโลกว่าไม่มีมาตรฐานและร่วมกันทุจริตคอรัปชั่นกับรัฐบาลไทย
7. Astra Zeneca ได้เข้าถ่ายทอดเทคโนโลยีตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2563 และเริ่มผลิตวัคซีนแล้วตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2563 โดยจะมีรอบการผลิต 5 รอบเพื่อทดสอบความเสถียรของวัคซีน
8. การที่กลุ่มราษฎรอ้างว่า Siam Bioscience ที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อให้ผลิตเองได้ 200 ล้านโดส มาโยงกับการรับวัคซีนล็อตแรก 26+2 ล้านโดส แล้วนำเอาไป ‘กล่าวหา’ ว่าวัคซีนส่วนต่างจะนำไปขายต่างประเทศ เพื่อหาความร่ำรวยให้กับบริษัทของกษัตริย์นั้น เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงอย่างร้ายแรง (ผิดทั้ง พรบ.คอมพ์และอาจเข้าข่าย ม.112)”