“อ.สมชัย” โพสต์เคลียร์ชัด ​ 9​ ประเด็น หลัง “ธนาธร” วิจารณ์นำเข้าวัคซีน ไม่โปร่งใส ตอบคำถาม ทำไมไทยจองช้า แล้วยังต้องจ่ายราคาแพง

2498

จากกรณีที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้ออกมาแถลงเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดสัญญา จัดซื้อวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า เพื่อความโปร่งใส และเชื่อการแจ้งความดำเนินคดีเขาในข้อหาตามมาตรา 112 และพ.ร.บ. การกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มีแรงจูงใจทางการเมืองและเป็นไปเพื่อปิดปากผู้ตรวจสอบรัฐบาล

ต่อมาทางด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยถึงเรื่องนี้ ระบุว่า ที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เรียกร้องให้เปิดสัญญาการจัดซื้อวัคซีน ที่ทำกับบริษัทแอสตร้าเซนเนกา จำกัด กับสยามไบโอไซเอนซ์นั้น เห็นว่าไม่สามารถทำได้ เนื่องจากคู่สัญญาเป็นเอกชนทั้งคู่ และอยู่เหนือการควบคุมของรัฐยืนยันไม่ใช่วัคซีนผูกขาด เพราะมีการเจรจาซื้อหลายบริษัท ซึ่งเรื่องวัคซีนคนที่รู้ดีที่สุดคือหมอและ คณะกรรมการวิชาการที่ตั้งขึ้นมาศึกษาการใช้วัคซีนโดยเฉพาะ รัฐมนตรีมีหน้าที่เห็นชอบตามที่คณะกรรมการวิชาการเสนอเรื่องมา ซึ่งข้อมูลที่นายธนาธรนำมาเปิดเผยปราศจากข้อเท็จจริง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : “อนุทิน” เดือด อัด “ธนาธร” บิดเบือน โยงมั่วไปหมด ตอบชัด ทำไมถึงเปิดสัญญาวัคซีนจากแอสตร้าฯ ไม่ได้

ล่าสุดทางด้านนายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ “ทีดีอาร์ไอ” ซึ่งอาจารย์สมชัย เป็น 1 ในทีมงานที่ได้รวมคัดเลือกวัคซีน ได้เปิดเผยถึงขั้นตอนต่าง ๆ ในการติดต่อเจรจาซื้อวัคซีน รวมไปถึงการเลือกบริษัท การนำเข้า และศึกษาความปลอดภัยที่ครอบคลุมเพื่อประชาชน โดยระบุข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ดังนี้

ช่วงนี้มีการตั้งประเด็นมากมายเรื่องความเหมาะสม หรือความโปร่งใสในนโยบายการจัดหาวัคซีนของประเทศไทย ขออนุญาตให้ความเห็นในฐานะที่ใกล้ชิดระดับหนึ่งกับกระบวนการนี้ในช่วงเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา

1. มีความพยายามมาตั้งแต่แรกในการพิจารณาทางเลือกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นซื้อวัคซีนจากใคร ซื้อเมื่อไหร่ ซื้อเท่าไหร่ หรือกระทั่งทางเลือกในการผลิตวัคซีนเองในประเทศ แต่ละทางเลือกมีการพิจารณาข้อดีข้อเสียอย่างค่อนข้างถี่ถ้วน ระมัดระวัง โดยคำนึงถึงบริบทในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการผลิต ระดับการระบาดและรูปแบบการระบาด

2. นำไปสู่การกำหนดยุทธศาสตร์คู่ขนาน คือยุทธศาสตร์ส่งเสริมการพัฒนาวัคซีนและผลิตเองในประเทศ และยุทธศาสตร์การจัดหาวัคซีนจากต่างประเทศ

3. ในยุทธศาสตร์การจัดหาวัคซีนจากต่างประเทศ มีการติดต่อเจรจากับหลายราย หลายประเทศ ตั้งแต่ตอนที่บริษัทเหล่านั้นยังอยู่ในขั้นการทดลอง

4. หากเราจะตัดสินใจสั่งจองวัคซีนจากบริษัทที่อยู่ในระหว่างการทดลองก็สามารถทำได้ แม้จะต้องฝ่าด่านกฎระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐซึ่งทำให้ปวดหัวอยู่หลายเดือน แต่ถ้าจองเลยก็จะมีความเสี่ยงว่าเงินที่จองอาจจะสูญเปล่าถ้าวัคซีนนั้นไม่ประสบความสำเร็จ ในขณะที่การระบาดของประเทศไทยไม่ได้รุนแรงไม่ก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตอย่างขนานใหญ่ เช่นในหลายประเทศ ความจำเป็นที่จะต้องได้วัคซีนมาโดยเร็วและใช้อย่างฉุกเฉินจึงน้อยกว่าประเทศเหล่านั้นมาก ในขณะที่หากรอต่อไปก็จะสามารถติดตามพัฒนาการว่าวัคซีนว่ามีประสิทธิผล มีความปลอดภัยเท่าไหร่ โดยให้ประเทศที่สั่งซื้อมาฉีดก่อนตามความจำเป็นของเขาเป็นหนูทดลองให้ก่อน

5. ข้อเสียของการไม่จองเร็วคือทำให้เราต้องจ่ายค่าวัคซีนแพงขึ้น เพราะแน่นอนถ้าเราจองเร็วบริษัทที่ได้เงินจากเราก็พร้อมจะคิดราคาถูกกว่า เพราะเราไปช่วยรับความเสี่ยงที่การทดลองอาจจะล้มเหลวพร้อมกับเขาด้วย

6. อีกประการที่ราคาวัคซีนที่เราจ่ายในที่สุดแพงกว่าหลายประเทศที่เขาจองเร็ว เพราะราคาวัตถุดิบในระยะหลังแพงกว่าในตอนแรกมาก เพราะมีการกว้านซื้อจากบริษัทผลิตวัคซีนเพื่อนำไปผลิตจำนวนมากในระยะหลัง

7. แต่ยังโชคดีที่บริษัทที่เราตัดสินจองเป็นจำนวนมากที่สุดคือจาก astrazeneca มีราคาวัคซีนที่ถูกกว่าบริษัทก่อนหน้าหรือกระทั่งจากจีนหลายเท่าตัว ดังนั้นถึงแม้เราจะจ่ายค่าวัคซีนจากบริษัทนี้แพงกว่าประเทศที่จองก่อนหน้าเรา แต่ก็ไม่เป็นภาระงบประมาณมากนัก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับผลดีของความรอบคอบในการดำเนินการที่ผ่านมา ผู้วิจารณ์ประเด็นเรื่องเราจ่ายแพงกว่าจึงต้องคำนึงถึงเหตุผลเบื้องหลังเหล่านี้ให้ครบถ้วน

8. ส่วนเรื่องการคัดเลือกโรงงานผลิตให้กับบริษัท astrazeneca ผมไม่รู้มากนัก แต่เท่าที่สัมผัสได้ไม่มีหลักฐานใดที่บ่งชี้ว่าเป็นการตั้งใจให้อภิสิทธิ์กับเอกชนรายเดียว เพราะก็สามารถอธิบายจากหลากหลายแง่มุมว่าทำไมถึงเป็นบริษัทนี้

9. ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการพัฒนาและการผลิตในประเทศก็ยังคงดำเนินการต่อไป มีองค์กรภาครัฐและเอกชนในประเทศหลายแหล่งที่ได้รับการส่งเสริมงบประมาณ เรื่องนี้จะมีประโยชน์ทั้งในระยะกลางและระยะยาว ไม่ว่าเราจะผลิตวัคซีนโควิดได้ในที่สุดหรือไม่ก็ตาม เพราะอย่างน้อยก็เป็นการสร้างศักยภาพในการพัฒนาวัคซีนในอนาคตซึ่งยังไม่แน่นอนสูง

ที่มาเฟซบุ๊ก : Somchai Jitsuchon